ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272438อรรถกถาชาดก 272446
เล่มที่ 27 ข้อ 2446อ่านชาดก 272478อ่านชาดก 272519
อรรถกถา สรภังคชาดก
ว่าด้วย สรภังคดาบสเฉลยปัญหา

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการปรินิพพานของพระมหาโมคคัลลานะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า อลงฺกตา กุณฺฑลิโน สุวตฺถา ดังนี้.
ได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระกราบทูลให้พระตถาคตเจ้า ซึ่งประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงอนุญาตการปรินิพพานแล้ว เดินทางไปปรินิพพาน ณ ห้องที่ตนเกิดในนาลันทคาม.
พระศาสดาทรงสดับข่าวว่า พระสารีบุตรปรินิพพานแล้วจึงเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร.
คราวนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระอยู่ที่กาฬศิลาประเทศ ข้างภูเขาอิสิคิลิ.
ก็ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้นเที่ยวไปยังเทวโลกบ้าง อุสสทนรกบ้าง ด้วยความเป็นผู้ถึงที่สุดด้วยกำลังฤทธิ์. ท่านเห็นอิสริยยศใหญ่ของพุทธสาวกในเทวโลก เห็นทุกข์ใหญ่หลวงของติตถิยสาวกในอุสสทนรก แล้วกลับมายังมนุษยโลก แจ้งแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า อุบาสกคนโน้นและอุบาสิกาคนโน้นบังเกิดเสวยมหาสมบัติในเทวโลกชื่อโน้น สาวกของเดียรถีย์คนโน้นกับคนโน้นบังเกิดที่นรกเป็นต้น ในอบายชื่อโน้น.
มนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสในพระศาสนา ละเลยพวกเดียรถีย์เสีย ลาภสักการะใหญ่หลวงได้มีแก่สาวกของพระพุทธเจ้า ลาภสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมลง.
พวกเดียรถีย์เหล่านั้นจึงพากันผูกอาฆาตในพระเถระว่า
เมื่อพระเถระนี้ยังมีชีวิตอยู่ อุปัฏฐากของพวกเราก็แตกแยก ทั้งลาภสักการะก็เสื่อมลง พวกเราจักฆ่าพระเถระให้ตาย.
พวกเดียรถีย์ทั้งหลายจึงจ้างโจรชื่อสมณกุตต์ เป็นเงินพันหนึ่งเพื่อให้ฆ่าพระเถระ.
โจรสมณกุตต์คิดว่า เราจักฆ่าพระเถระให้ตายจึงไปยังถ้ำกาฬศิลา พร้อมด้วยสมุนโจรเป็นอันมาก. พระเถระเห็นโจรสมณกุตต์กำลังเดินมา จึงเหาะหลบหลีกไปเสียด้วยฤทธิ์. วันนั้นโจรเห็นพระเถระเหาะไปจึงกลับเสีย ได้มาติดๆ กัน ทุกๆ วันรุ่งขึ้น รวม ๖ วัน. ฝ่ายพระเถระก็หลบหลีกไปด้วยฤทธิ์ ดังที่เคยมา.
แต่ในวันที่เจ็ด อปราปรเวทนียกรรมที่พระเถระทำไว้ในปางก่อนได้โอกาส.
ได้ยินว่า ในชาติก่อน พระเถระเชื่อถ้อยคำของภรรยาประสงค์จะฆ่ามารดาบิดาให้ตาย จึงนำไปสู่ป่าด้วยยานน้อย ทำอาการดุจโจรตั้งขึ้น แล้วโบยตีมารดาบิดา. มารดาบิดาทั้งสองมองไม่เห็นอะไร เพราะมีจักษุพิการ จำบุตรของตนนั้นไม่ได้ โดยสำคัญว่า นั่นเป็นพวกโจร ต่างปริเทวนาการเพื่อประโยชน์ต่อบุตรอย่างเดียวว่า ลูกเอ๋ย ให้โจรพวกโน้นมันฆ่าพ่อฆ่าแม่เถิด เจ้าจงหลบเอาตัวรอดเถิด.
บุตรชายคิดว่า มารดาบิดาของเราทั้งสองท่านนี้ แม้จะถูกเราทุบตีก็ยังร่ำไรรำพัน เพื่อประโยชน์แก่เราผู้เดียว เราทำกรรมอันไม่สมควรเลย. ลำดับนั้น เขาจึงปลอบโยนมารดาบิดา แสดงอาการดุจพวกโจรหนีไป แล้วนวดฟั้นมือเท้าของท่านทั้งสองพูดว่า คุณแม่คุณพ่ออย่ากลัวเลย พวกโจรหนีไปแล้ว แล้วนำกลับมายังเรือนของตนตามเดิม.
กรรมนั้นไม่ได้โอกาสตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ ตั้งอยู่เหมือนกองเพลิงถูกเถ้ากลบไว้เฉพาะหน้า แล้ววิ่งเข้าสู่สรีระอันไม่มีที่สุดนี้. ก็กรรมนี้ได้โอกาสในที่ใดย่อมให้ผลในที่นั้น เปรียบเหมือนสุนัขอันนายพรานพบเนื้อแล้วปล่อยให้ไล่ติดตามเนื้อ ทันกันในที่ใดก็กัดในที่นั้นฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าผู้ที่จะพ้นจากกรรมนั้นได้ไม่มีเลย. พระเถระรู้ว่า กรรมที่ตนทำไว้หน่วงเหนี่ยวจึงมิได้หลบหลีกต่อไป เพราะผลของกรรมนั้น พระเถระจึงไม่สามารถจะเหาะไปในอากาศได้. ฤทธิ์ของพระเถระแม้สามารถทรมานนันโทปนันทนาคราช แลสามารถยังเวชยันตปราสาทให้หวั่นไหว ก็ถึงความทุรพลเพราะกำลังแห่งกรรม.
โจรจับพระเถระได้ ทุบจนกระดูกของพระเถระ มีขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารแหลกละเอียดไป เหมือนบดฟางให้เป็นแป้งฉะนั้น แล้วโยนไปที่หลังพุ่มไม้แห่งหนึ่ง ด้วยสำคัญว่าตายแล้ว พร้อมด้วยสมุนโจรหลีกกลับไป. ฝ่ายพระเถระกลับได้สติ แล้วคิดว่า เราจักถวายบังคมลาพระศาสดาก่อน จึงจักปรินิพพานดังนี้ แล้วเยียวยาอัตภาพด้วยฌานทำให้มั่นคง แล้วเหาะไปยังสำนักของพระศาสดาทางอากาศ ถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อายุสังขารของข้าพระองค์ถดถอยแล้ว ข้าพระองค์จักปรินิพพาน.
พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอจักปรินิพพานหรือ?
ทูลตอบว่า พระพุทธเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ.
ตรัสถามว่า เธอจักไปปรินิพพานที่ไหน?
ทูลตอบว่า ที่แผ่นหินในถ้ำกาฬศิลา พระเจ้าข้า.
ตรัสว่า โมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงกล่าวธรรมแก่เราก่อน แล้วค่อยไป เพราะบัดนี้ การที่จะได้เห็นสาวกเช่นเธอ ไม่มีอีกแล้ว.
พระมหาโมคคัลลานะทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักกระทำตามพระพุทธดำรัส แล้วเหาะขึ้นไปบนอากาศ สูงชั่วต้นตาล แสดงฤทธิ์มีประการต่างๆ เหมือนพระสารีบุตรเถระในวันที่จะปรินิพพาน กล่าวธรรมกถา ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วปรินิพพาน ณ ดงในกาฬศิลาประเทศ.
ในทันใดนั้นเอง ชาวเทวโลกทั้ง ๖ ชั้นเกิดโกลาหลเป็นอันเดียวกันว่า ข่าวว่า อาจารย์ของพวกเราปรินิพพานแล้ว ต่างถือของหอม มาลา ธูป เครื่องอบและจันทน์จุรณอันเป็นทิพย์ ทั้งฟืนนานาชนิดมา(ประชุมกันแล้ว). จิตกาธานแล้วด้วยจันทน์แดงสูง ๙๙ ศอก.
พระศาสดาประทับอยู่ใกล้ๆ ศพพระเถระ ตรัสสั่งให้จัดการปลงศพของพระเถระ.
รอบๆ สุสาน ฝนดอกไม้โปรยตกลงมาในที่ประมาณโยชน์หนึ่ง ได้มีมนุษย์อยู่ระหว่างเทวดา เทวดาอยู่ระหว่างมนุษย์ ถัดเทวดาโดยลำดับพวกยักษ์ยืนอยู่ ถัดพวกยักษ์มาก็เป็นพวกคนธรรพ์ ถัดจากพวกคนธรรพ์มาเป็นพวกนาค ถัดจากพวกนาคมาเป็นพวกครุฑ ถัดจากพวกครุฑมาเป็นพวกกินนรา ถัดจากพวกกินนรามาเป็นพวกกินนร ถัดจากพวกกินนรมาก็เป็นฉัตร ถัดจากฉัตรออกมาเป็นสุวรรณจามร ถัดจากสุวรรณจามรออกมาเป็นธงชัย ถัดธงชัยออกมาเป็นธงแผ่นผ้า. ผู้ที่มาประชุมทุกเหล่า บรรดามีต่างเล่นสาธุกีฬาอยู่ตลอดเจ็ดวัน.
พระศาสดาตรัสสั่งให้เก็บธาตุของพระเถระมาทำเจดีย์บรรจุไว้ที่ซุ้มประตู พระเวฬุวันวิหาร.
กาลนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระสารีบุตรเถระไม่ได้รับความยกย่องอย่างใหญ่หลวง ในสำนักของพระพุทธเจ้า เพราะมิได้ปรินิพพานในที่ใกล้พระตถาคตเจ้า พระมหาโมคคัลลานเถระได้รับเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ เพราะปรินิพพานในที่ใกล้พระพุทธเจ้า.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พระโมคคัลลานะมิใช่จะได้สัมมานะจากสำนักของเรา ในชาตินี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน เธอก็ได้แล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัส ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางพราหมณี ภรรยาของปุโรหิตได้สิบเดือนก็คลอดจากครรภ์มารดาในเวลาใกล้รุ่ง. ขณะนั้น อาวุธทั้งปวงในพระนครพาราณสีมีอาณาเขต ๑๒ โยชน์ก็ลุกโพลงขึ้น.
ในขณะที่บุตรคลอด ปุโรหิตออกมาภายนอกแลดูอากาศ เห็นนิมิตเครื่องประกอบนักษัตร ก็รู้ว่า กุมารนี้จักเป็นผู้เลิศกว่านายขมังธนูทั้งปวงในชมพูทวีปทั้งสิ้น เพราะเป็นผู้ที่เกิดโดยนักษัตรนี้ จึงไปยังราชตระกูลแต่เช้าตรู่ กราบทูลถามถึงความที่พระราชาบรรทมเป็นสุข.
เมื่อพระราชาตรัสว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ ความสุขจะมีมาแต่ไหน ในวันนี้อาวุธในพระราชวังทั้งหมดโพลงไปหมด
จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์อย่าตกพระทัยกลัว ใช่ว่าอาวุธจะโพลงเฉพาะในพระราชวังก็หามิได้ แม้ในพระนครก็โพลงไปสิ้นทุกแห่งเหมือนกัน ที่ได้เป็นอย่างนี้ เพราะวันนี้ กุมารเกิดในเรือนของข้าพระพุทธเจ้า.
พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์กุมารที่เกิดแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างไร?
ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า ไม่มีอะไรดอกพระพุทธเจ้าข้า แต่ว่ากุมารนั้นจักได้เป็นยอดแห่งนายขมังธนู ในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
พระราชาตรัสว่า ดีละท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงประคบประหงมกุมารนั้น แล้วยกให้เราในเวลาที่เขาเจริญวัย ดังนี้แล้ว ตรัสสั่งให้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเป็นค่าน้ำนมก่อน.
โชติปาละปุโรหิตนั้นรับทรัพย์ไปเรือนมอบให้นางพราหมณี ในวันตั้งชื่อลูกชายได้ขนานนามว่า โชติปาละ เพราะในขณะที่คลอดอาวุธโพลงทั่ว. โชติปาลกุมารเจริญวัย ด้วยบริวารเป็นอันมาก ในคราวอายุครบ ๑๖ ปี เป็นผู้มีรูปทรงอุดมได้ส่วนสัด
บิดาของโชติปาลกุมาร มองดูสรีรสมบัติจึงมอบทรัพย์ให้พันหนึ่ง บอกว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปเมืองตักกสิลา เรียนศิลปศาสตร์ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์เถิด.
โชติปาลกุมารรับคำแล้ว ถือเอาทรัพย์ส่วนของอาจารย์ ไหว้มารดาบิดา ลาไปในเมืองตักกสิลานั้น มอบทรัพย์ให้อาจารย์พันหนึ่งแล้ว เริ่มเรียนศิลปวิทยา ถึงความสำเร็จโดยสัปดาห์เดียวเท่านั้น.
ลำดับนั้น อาจารย์ก็ยินดี จึงให้พระขรรค์แก้ว ธนูเขาแพะ แล่งธนูอันประกอบต่อกันซึ่งเป็นของตน กับเสื้อเกราะ และกรอบหน้าของตน แล้วมอบมาณพทั้งห้าร้อยแก่โชติปาลกุมารนั้นว่า พ่อโชติปาละ อาจารย์แก่แล้ว บัดนี้เธอจงช่วยฝึกสอนมาณพเหล่านี้ด้วยเถิด.
พระโพธิสัตว์รับเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่างแล้วกราบลาอาจารย์ เดินทางมุ่งมายังพระนครพาราณสี เยี่ยมมารดาบิดายืนอยู่.
ลำดับนั้น ปุโรหิตผู้บิดาจึงถามโชติปาลกุมารซึ่งไหว้แล้วยืนอยู่ว่า ลูกรัก เจ้าเรียนศิลปวิทยาจบแล้วหรือ? เขาตอบว่า ขอรับคุณพ่อ. ปุโรหิตบิดาฟังคำตอบแล้วไปยังราชตระกูล กราบทูลว่า ขอเดชะ บุตรของข้าพระพุทธเจ้าเรียนศิลปวิทยากลับมาแล้ว เขาจะทำอะไร พระพุทธเจ้าข้า?
พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เขาจงมาบำรุงเราเถิด. ทูลว่า ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า พระองค์โปรดทรงคำนึงถึงเบี้ยเลี้ยงสำหรับบุตรของข้าพระพุทธเจ้า. ตรัสว่า เขาจะได้เบี้ยเลี้ยงพันหนึ่งทุกๆ วัน. ปุโรหิตรับพระดำรัสแล้ว จึงไปเรือนให้เรียกกุมารมาสั่งว่า ลูกรัก เจ้าจงบำรุงรับใช้พระราชาเถิด.
นับแต่นั้นมา โชติปาลกุมารก็บำรุงพระราชาได้ทรัพย์วันละพันทุกวัน.
ข้าราชบาทมูลิกาทั้งหลายพากันโพนทะนาว่า พวกเรายังไม่เห็นการงานที่โชติปาละกระทำ แต่เขารับเบี้ยเลี้ยงวันละพันทุกๆ วัน พวกเราอยากจะเห็นศิลปะของเขา. พระราชาทรงสดับถ้อยคำของชนพวกนั้น จึงตรัสบอกปุโรหิต. ปุโรหิตรับสนองพระราชดำรัสว่า ขอเดชะ ดีแล้วพระพุทธเจ้าข้า แล้วแจ้งแก่บุตรของตน.
โชติปาลกุมารพูดว่า ดีแล้วขอรับคุณพ่อ ในวันที่เจ็ดนับแต่วันนี้ไป ผมจักแสดงศิลปะ อนึ่ง ขอพระราชาโปรดตรัสสั่งให้นายขมังธนู ในแว่นแคว้นของพระองค์มาประชุมกัน. ปุโรหิตได้ฟังดังนั้น จึงไปกราบทูลเนื้อความนั้นแก่พระราชา.
พระราชาโปรดให้ตีกลองเที่ยวป่าวร้องไปในพระนคร แล้วมีพระราชโองการให้นายขมังธนูมาประชุมกัน. นายขมังธนูจำนวนหกหมื่นคนมาประชุมพร้อมกัน.
พระราชาทรงทราบว่า พวกนายขมังธนูประชุมพร้อมแล้ว จึงโปรดให้ตีกลองเที่ยวประกาศว่า ชาวพระนครทั้งหลายจงไปดูศิลปะของโชติปาลกุมาร แล้วให้ตระเตรียมพระลานหลวง แวดล้อมไปด้วยมหาชน ประทับนั่งเหนือบัลลังก์อันประเสริฐ แล้วทรงส่งราชบุรุษให้ไปเชิญโชติปาลกุมารว่า เจ้าโชติปาลกุมารจงมาเถิด.
โชติปาลกุมารจึงซ่อนธนู แล่งธนู เสื้อเกราะ และอุณหิสที่อาจารย์ให้ไว้ในระหว่างผ้านุ่ง ให้คนถือพระขรรค์ แล้วเดินมายังสำนักพระราชา ด้วยท่าทางปกติ ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พวกนายขมังธนูทำการนัดหมายกันว่า เขาว่าโชติปาลกุมารจะมาเพื่อแสดงศิลปะคือธนู แต่ไม่ถือธนูมา คงอยากจะเอาธนูจากมือของพวกเรา พวกเราอย่าให้ธนูแก่เขา. พระราชาตรัสเรียกโชติปาลกุมารมารับสั่งว่า เจ้าจงแสดงศิลปะเถิด.
โชติปาลกุมารจึงให้กั้นม่านแล้วยืนภายในม่าน คลี่ผ้าสาฎกออก สวมเกราะ สอดเสื้อแล้วสวมอุณหิสบนศีรษะ ยกสายมีวรรณะดุจแก้วประพาฬที่ธนูเขาแพะขึ้นแล้ว ผูกแล่งธนูไว้เบื้องหลัง เหน็บพระขรรค์ไว้เบื้องหน้า เอาหลังเล็บควงลูกธนูมีปลายดุจเพชร แหวกม่านออกมา คล้ายนาคกุมารผู้ประดับตกแต่งแล้วชำแรกแผ่นดินออกมาฉะนั้น เดินไปแสดงความนอบน้อมแด่พระราชายืนอยู่.
มหาชนเห็นกุมารนั้นแล้ว ต่างโห่ร้องบันลือปรบมือกันอึงมี่.
พระราชาตรัสว่า ดูก่อนเจ้าโชติปาละ เจ้าจงแสดงศิลปะเถิด.
โชติปาลกุมารทูลว่า ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า บรรดานายขมังธนูของพระองค์ โปรดรับสั่งให้มา ๔ คน คือคนที่ยิงไวดุจฟ้าแลบ คนที่ยิงแม่นแม้ขนทรายก็ไม่ผิด คนที่ยิงตามเสียงที่ได้ยิน และคนที่ยิงสวนไปตามลูกศรที่ยิงมา.
พระราชาก็โปรดให้เรียกมา.
พระมหาสัตว์จัดทำมณฑปภายในที่กำหนดสี่เหลี่ยมในพระลานหลวง ให้นายขมังธนูทั้งสี่ยืนอยู่ทั้งสี่มุม แล้วให้ลูกธนูสามหมื่นแก่นายขมังธนูคนหนึ่งๆ ให้คนที่จะส่งลูกธนูยืนอยู่ใกล้ๆ นายขมังธนูคนหนึ่งๆ แล้วตนเองถือเอาลูกธนูมีปลายดุจเพชร ยืนอยู่ท่ามกลางมณฑป.
กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช นายขมังธนูทั้งสี่เหล่านี้ จงปล่อยลูกธนูยิงข้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจักห้ามลูกธนูที่พวกเขายิงมา.
พระราชาทรงรับสั่งบังคับว่า พวกท่านจงกระทำอย่างนี้.
พวกนายขมังธนูจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระมหาราชเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นนายขมังธนูผู้ยิงเร็วดุจฟ้าแลบ ยิงแม่นแม้ขนทรายก็ไม่ผิด ยิงตามเสียงที่ได้ยิน และยิงสวนไปตามลูกศรที่ยิงมา โชติปาละเป็นเด็กหนุ่ม พวกข้าพระพุทธเจ้าจักยิงหาได้ไม่.
พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า ถ้าพวกท่านสามารถ ก็เชิญยิงข้าพเจ้าได้.
นายขมังธนูเหล่านั้นรับว่าดีแล้ว จึงยิงลูกธนูไปพร้อมกัน.
พระมหาสัตว์เอาลูกศรปัดลูกธนูเหล่านั้น ให้ตกลงโดยแนบเนียน เหมือนแวดวงซุ้มโพธิพฤกษ์ ซัดดอกธนูไปตามดอกธนู ตัวลูกธนูไปตามลูกธนู พู่ลูกธนูไปตามพู่ลูกธนู ไม่ให้ก้าวก่ายกัน ได้กระทำดุจเป็นห้องลูกธนู จนลูกธนูของนายขมังธนูทั้งหมดหมดสิ้น.
พระมหาสัตว์รู้ว่า ลูกธนูของพวกนายขมังธนูหมดแล้ว ไม่ยังห้องลูกธนูให้ทลาย กระโดดขึ้นไปยืนเฝ้าอยู่ใกล้ๆ พระราชา.
มหาชนต่างโห่ร้องบันลือ ปรบมือเกรียวกราว ดีดนิ้วมือ ทำมหาโกลาหลโยนผ้าและเครื่องอาภรณ์ขึ้นไปจนมีทรัพย์นับได้ถึง ๑๘ โกฏิเป็นกองอยู่อย่างนี้.
ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามโชติปาลกุมารว่า ดูก่อนพ่อโชติปาละ นี่ชื่อศิลปะอะไร? กราบทูลว่า ขอเดชะ ชื่อสรปฏิพาหนะ เครื่องห้ามลูกศร พระพุทธเจ้าข้า. ตรัสถามว่า คนอื่นๆ ผู้รู้อย่างนี้มีหรือ? ทูลว่า ขอเดชะ เว้นข้าพระพุทธเจ้าเสียแล้ว คนอื่นในชมพูทวีปทั้งสิ้นไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสว่า พ่อโชติปาละ เจ้าจงแสดงศิลปะอื่นบ้าง.
กราบทูลว่า ขอเดชะ ถ้านายขมังธนูทั้งสี่นายยืนอยู่ที่มุมทั้งสี่ ไม่สามารถจะยิงข้าพระพุทธเจ้าได้ไซร้ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจักยิงพวกนี้ซึ่งยืนอยู่ ณ มุมทั้งสี่ด้วยลูกธนูลูกเดียวเท่านั้น.
พวกนายขมังธนูไม่กล้าพอ ที่จะยืนอยู่ได้.
พระมหาสัตว์จึงให้ปักต้นกล้วยไว้ที่มุมทั้งสี่ สี่ต้นแล้วผูกด้ายแดงที่ตัวลูกธนู ยิงไปหมายกล้วยต้นหนึ่ง ลูกธนูแทงกล้วยต้นที่หนึ่ง ทะลุไปถึงต้นที่สองที่สามที่สี่ แล้วทะลุถึงต้นแรกที่แทง แล้วออกมาตั้งอยู่ในมือตามเดิม ต้นกล้วยทั้งหลายอันด้ายร้อยแล้ว ยังตั้งอยู่ได้. มหาชนบันลือเสียงสนั่นหวั่นไหว นับเป็นพัน.
พระราชาตรัสถามว่า นี้ชื่อศิลปะอะไรพ่อ?
พระมหาสัตว์ทูลตอบว่า ขอเดชะ ชื่อจักกวิทธศิลปะแทงจักร พระพุทธเจ้าข้า.
พระราชาตรัสว่า เจ้าจงแสดงศิลปะแม้อย่างอื่นเถิดพ่อ.
พระมหาสัตว์จึงแสดงศิลปะชื่อสรลัฏฐิ คือศิลปะไม้เท้าแล้วด้วยลูกศร
ชื่อสรรัชชุ คือศิลปะรูปเชือกแล้วด้วยลูกศร
ชื่อสรเวณิ คือศิลปะมวยผมแล้วด้วยลูกศร
ชื่อสรปาสาทะ คือศิลปะรูปปราสาทลูกศร
ชื่อสรมัณฑปะ คือศิลปะรูปมณฑปลูกศร
ชื่อสรโสปาณะ คือศิลปะรูปบันไดลูกศร
ชื่อสรมัณฑละ คือศิลปะรูปสนามแล้วด้วยลูกศร
ชื่อสรปาการะ คือศิลปะรูปกำแพงแล้วด้วยลูกศร
ชื่อสรวนะ คือศิลปะรูปป่าแล้วด้วยลูกศร
ชื่อสรโปกขรณี คือศิลปะรูปสระโบกขรณีแล้วด้วยลูกศร
ชื่อสรปทุมะ คือศิลปะรูปดอกบัวแล้วด้วยลูกศร
ยังศิลปะชื่อสรปุปผะ คือรูปดอกไม้แล้วด้วยลูกศรให้บาน
ยังศิลปะชื่อสรวัสสะ คือรูปฝนแล้วด้วยลูกศรให้ตก.
ครั้นพระมหาสัตว์แสดงศิลปะสิบสองอย่างเหล่านี้อันไม่ทั่วไปด้วยชนเหล่าอื่นอย่างนี้แล้ว ทำลายชุมนุมใหญ่เจ็ดครั้งอันไม่ทั่วไปด้วยชนเหล่าอื่นอีก.
พระมหาสัตว์ยิงแผ่นไม้สะแกหนา ๘ นิ้ว ยิงแผ่นไม้ประดู่หนา ๔ นิ้ว ยิงแผ่นทองแดงหนา ๒ นิ้ว ยิงแผ่นเหล็กหนา ๑ นิ้ว ยิงแผ่นกระดาน ๑๐๐ ครั้งให้ติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน แล้วยิงลูกธนูไปทางเบื้องหน้าเกวียนบรรทุกใบไม้ เกวียนบรรทุกทรายและเกวียนบรรทุกแผ่นกระดานให้ทะลุออกทางเบื้องหลัง ยิงลูกศรไปทางเบื้องหลังให้ทะลุออกไปโดยทางหน้า ยิงลูกธนูไปยังที่ ๔ อุสภะในน้ำ ๘ อุสภะบนบก ยิงขนทรายในที่สุดแห่งอุสภะ ด้วยสัญญาผลมะแว้งเครือ.
เมื่อโชติปาลกุมารแสดงศิลปะมีประมาณเท่านี้อยู่ พระอาทิตย์อัสดงคตไปแล้ว.
ลำดับนั้น พระราชาตรัสสั่งให้กำหนดตำแหน่งเสนาบดีแก่เขา ตรัสว่า พ่อโชติปาละ วันนี้ค่ำเสียแล้ว พรุ่งนี้เจ้าจักได้รับสักการะคือตำแหน่งเสนาบดี เจ้าจงไปตัดผม โกนหนวด อาบน้ำแล้วมาเถิด ดังนี้แล้วได้พระราชทานทรัพย์แสนหนึ่งเพื่อเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงไปในวันนั้น.
พระมหาสัตว์คิดว่า เราไม่มีความต้องการด้วยทรัพย์จำนวนนี้ จึงคืนทรัพย์จำนวน ๑๘ โกฏิแก่พวกเจ้าของ แล้วไปอาบน้ำกับบริวารเป็นอันมาก ให้ช่างตัดผมโกนหนวด อาบน้ำประดับด้วยสรรพาลังการ แล้วเข้าไปยังเรือนด้วยสิริอันหาที่เปรียบมิได้ บริโภคโภชนะมีรสเลิศต่างๆ เสร็จแล้วขึ้นนอนยังที่นอนอันมีสิริ นอนตลอดสองยาม.
ตื่นในเวลาปัจฉิมยาม ลุกขึ้นนั่งคู้บัลลังก์บนหลังที่นอน ตรวจดูเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งศิลปะของตน พลางรำพึงว่า
การยังผู้อื่นให้ตายย่อมปรากฏแต่ตอนต้นแห่งศิลปะของเรา
การบริโภคใช้สอยด้วยอำนาจแห่งกิเลสปรากฏในท่ามกลาง
การปฏิสนธิในนรกปรากฏในที่สุด
ก็ปาณาติบาตกับความประมาท เพราะมัวเมายิ่งในการบริโภคใช้สอยด้วยอำนาจกิเลส ย่อมให้ซึ่งปฏิสนธิในนรก พระราชาทรงพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีอันยิ่งใหญ่แก่เรา เราก็จักเป็นผู้มีอิสริยยศใหญ่ ภรรยาและบุตรธิดาก็จักมีมากมาย ก็วัตถุอันเป็นที่ตั้งของกิเลสอันถึงความไพบูลย์แล้วเป็นของละได้โดยยาก ควรที่เราจะออกไปสู่ป่าเพียงผู้เดียวแล้วบวชเป็นฤาษีเสียในบัดนี้ทีเดียว.
จึงลุกขึ้นจากที่นอนใหญ่ ไม่ให้ใครทราบลงจากปราสาท ออกทางประตูด้านอัครทวาร เข้าสู่ป่าลำพังผู้เดียว เดินมุ่งหน้าไปยังป่ามะขวิดใหญ่สามโยชน์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี.
ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่า โชติปาลกุมารนั้นออกแล้ว จึงตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสสั่งว่า พ่อคุณ เจ้าโชติปาลกุมารออกอภิเนษกรมณ์จักมีสมาคมใหญ่ เธอจงไปเนรมิตอาศรมที่กปิฏฐวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำโคธาวดี และตระเตรียมบริขารของบรรพชิตไว้ให้เสร็จ. วิสสุกรรมเทพบุตรนั้นได้กระทำตามเทวบัญชาทุกประการ.
พระมหาสัตว์ถึงสถานที่นั้นแล้ว เห็นทางมีรอยเดินได้คนเดียว คิดว่าจะพึงมีสถานที่อยู่ของพวกบรรพชิตจึงเดินไปที่กปิฏฐวันตามทางนั้น ก็ไม่พบใคร จึงเข้าไปสู่บรรณศาลา เห็นบริขารของพวกบรรพชิต คิดว่า ชะรอยท้าวสักกเทวราชจะทรงทราบว่าเราออกอภิเนษกรมณ์ จึงเปลื้องผ้าสาฎกออก นุ่งห่มคากรองสีแดง กระทำหนังเสือเหลือง เฉวียงบ่าข้างหนึ่งมุ่นมณฑลชฎา ยกหาบหนักข้างหนึ่งไว้บนบ่า ถือไม้เท้าคนแก่ ออกจากบรรณศาลา ขึ้นสู่ที่จงกรมแล้วจงกรมไปๆ มาสิ้นวาระเล็กน้อย ยังป่าให้งดงามด้วยสิริคือบรรพชา กระทำกสิณบริกรรม จำเดิมแต่กาลที่บวชแล้ว ในวันที่เจ็ดยังสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ ให้บังเกิด เป็นผู้มีผลหมากรากไม้ในป่าเป็นอาหารด้วยอุญฉาจาริยวัตร อยู่แต่ผู้เดียวเท่านั้น. มารดาบิดามิตรสหายเป็นต้น แม้พวกญาติของโชติปาลกุมารนั้น เมื่อไม่เห็นโชติปาลกุมารต่างร่ำไห้ปริเทวนาการเที่ยวไป.
ลำดับนั้น พรานป่าคนหนึ่งเข้าไปสู่ป่า พบพระมหาสัตว์นั่งอยู่ในอาศรมบท ณ กปิฏฐวัน จำพระมหาสัตว์ได้ ทำการปฏิสัณฐานกับพระมหาสัตว์แล้ว กลับไปยังพระนคร บอกมารดาบิดาของท่านให้ทราบ. มารดาบิดาของพระมหาสัตว์จึงกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ.
พระราชาตรัสว่า มาเถิด เราจักไปเยี่ยมโชติปาลดาบสนั้น แล้วพามารดาบิดาของท่าน แวดล้อมด้วยมหาชน เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ตามทางที่นายพรานแสดง.
พระโพธิสัตว์มายังฝั่งแม่น้ำ นั่งบนอากาศแสดงธรรม เชิญชนทั้งหมดเข้าไปสู่อาศรม นั่งบนอากาศนั่นแล ประกาศโทษในกามทั้งหลายแล้วแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นแม้ในที่นั้น.
ชนทั้งหมดตั้งต้นแต่พระราชาไป พากันบวชสิ้น. พระโพธิสัตว์มีหมู่ฤาษีเป็นบริวาร อยู่ในที่นั้นแหละ
ต่อมา ข่าวที่พระดาบสพำนักอยู่ ณ ที่นั้นได้แพร่สะพัดไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
พระราชาองค์อื่นๆ พร้อมด้วยชาวแว่นแคว้น ก็พากันมาบวชในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น นับเป็นมหาสมาคมที่ยิ่งใหญ่ บริษัทแสนหนึ่งมิใช่น้อยได้มีแล้วโดยลำดับ.
ผู้ใดตรึกกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก พระมหาสัตว์ก็ไปในที่นั้นนั่งบนอากาศแสดงธรรม บอกกสิณบริกรรมข้างหน้าผู้นั้น. บริษัททั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ แล้วยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น ถึงความสำเร็จในฌาน.
พระมหาสัตว์ได้มีอันเตวาสิกผู้ใหญ่ถึงเจ็ดท่าน คือสาลิสสระ ๑ เมณฑิสสระ ๑ ปัพพตะ ๑ กาลเทวละ ๑ กีสวัจฉะ ๑ อนุลิสสะ ๑ นารทะ ๑ ในเวลาต่อมา อาศรมในกปิฏฐวันก็เต็มบริบูรณ์. โอกาสที่อยู่ของหมู่ฤาษีไม่พอเพียง.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงเรียกท่านสาลิสสระ มาสั่งว่า ท่านสาลิสสระ อาศรมนี้ไม่เพียงพอแก่หมู่ฤาษี ท่านจงพาหมู่ฤาษีนี้เข้าไปอาศัยลัมพจูลกนิคม ในแว่นแคว้นของพระเจ้าเมชฌราชอยู่เถิด.
สาลิสสระดาบสรับคำของพระมหาสัตว์ว่าสาธุ แล้วพาหมู่ฤาษีพันเศษไปอยู่ในลัมพจูลกนิคมนั้น. เมื่อมนุษย์ทั้งหลายพากันมาบวชอยู่ อาศรมก็เต็มบริบูรณ์อีก พระโพธิสัตว์จึงเรียกท่านเมณฑิสสระมาสั่งว่า ท่านเมณฑิสสระ แม่น้ำชื่อสาโตทกานที ระหว่างเขตแดนสุรัฏฐชนบทมีอยู่ ท่านจงพาหมู่ฤาษีนี้ไปอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสาโตทกานทีนั้นเถิด.
โดยอุบายนั้นแหละ พระโพธิสัตว์เรียกปัพพตดาบสมาในวาระที่สามส่งไปว่า ท่านปัพพตะ ภูเขาชื่ออัญชนบรรพตมีอยู่ในดงใหญ่ ท่านจงเข้าไปอาศัยอัญชนบรรพตนั้นอยู่เถิด.
ในวาระที่สี่ พระโพธิสัตว์เรียกกาลเทวลดาบสมาสั่งไปว่า ท่านกาลเทวละ ในแคว้นอวันตี ในทักขิณาชนบท มีภูเขาชื่อฆนเสลบรรพต ท่านจงเข้าไปอาศัยฆนเสลบรรพตนั้นอยู่เถิด อาศรมในกปิฏฐวันก็เต็มบริบูรณ์อีก ในสถานที่ทั้ง ๕ แห่งได้มีหมู่ฤาษีจำนวนแสนเศษ.
ส่วนกีสวัจฉดาบส อำลาพระมหาสัตว์ เข้าไปอาศัยท่านเสนาบดีอยู่ในพระราชอุทยาน ในกุมภวดีนคร แว่นแคว้นของพระเจ้าทัณฑกีราช. ท่านนารทดาบสไปอยู่ที่เวิ้งเขาชื่ออัญชนคิรีในมัชฌิมประเทศ ส่วนอนุสิสสดาบสคงอยู่ในสำนักของพระมหาสัตว์นั่นเอง.
กาลครั้งนั้น พระเจ้าทัณฑกีราชทรงถอดหญิงแพศยาคนหนึ่ง ซึ่งได้สักการะแล้วจากตำแหน่ง นางเที่ยวไปตามธรรมดาของตน เดินไปสู่พระราชอุทยานพบท่านกีสวัจฉดาบส คิดว่า ดาบสผู้นี้คงจักเป็นคนกาลกรรณี เราจักลอยตัวกลี ลงบนสรีระของดาบสผู้นี้ อาบน้ำก่อนจึงจักไป ดังนี้แล้ว จึงเคี้ยวไม้สีฟัน แล้วถ่มเขฬะหนาๆ ลงบนสรีระของท่านดาบสนั้น ก่อนที่อื่นทั้งหมด แล้วถ่มลงไประหว่างชฎา แล้วโยนไม้สีฟันไปบนศีรษะของท่านกีสวัจฉดาบสนั้นอีก ตนเองสนานเกล้าแล้วไป.
ต่อมาพระราชาทรงระลึกถึงนางแล้วจัดการสถาปนาไว้ตามเดิม. นางเป็นคนหลงงมงาย ได้ทำความสำคัญว่า เพราะเราลอยตัวกลีไว้บนสรีระของคนกาลกรรณี พระราชาจึงทรงสถาปนาเราไว้ในตำแหน่งเดิม เราจึงกลับได้ยศอีก.
ต่อมาไม่นานนัก พระราชาก็ทรงถอดปุโรหิตเสียจากฐานันดรศักดิ์ ปุโรหิตนั้นจึงไปยังสำนักของหญิงคณิกานั้น ถามว่าเพราะเหตุไรท่านจึงได้ตำแหน่งคืน. ลำดับนั้น หญิงคณิกาจึงบอกว่า เพราะดิฉันลอยกลีโทษ บนสรีระของคนกาลกรรณีในพระราชอุทยาน. ปุโรหิตจึงไปลอยกลีโทษ บนสรีระของท่านกีสวัจฉดาบส อย่างนั้นเหมือนกัน พระราชาก็กลับทรงสถาปนาแม้ปุโรหิตนั้นไว้ในฐานันดรอีก.
ในเวลาต่อมา ปลายพระราชอาณาเขตของพระเจ้าทัณฑกีราชนั้นเกิดจลาจล ท้าวเธอแวดล้อมไปด้วยองคเสนาเสด็จออกเพื่อยุทธนาการ ลำดับนั้น ปุโรหิตผู้หลงงมงายทูลถามพระราชาว่า ขอเดชะ พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงปรารถนาชัยชนะ หรือว่าความปราชัย เมื่อพระราชาตรัสตอบว่า ปรารถนาชัยชนะ จึงกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น คนกาลกรรณีอยู่ในพระราชอุทยาน พระองค์จงโปรดให้ลอยกลีโทษที่สรีระของคนกาลกรรณีนั้นแล้วเสด็จไปเถิด.
พระราชาเชื่อถ้อยคำของปุโรหิต ตรัสว่า ผู้ใดเมื่อจะไปกับเรา จงพากันไปลอยกลีโทษที่สรีระของคนกาลกรรณีเสียในพระราชอุทยาน แล้วเสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยาน ทรงเคี้ยวไม้สีฟัน แล้วพระองค์เองทรงบ้วนเขฬะ และโยนไม้สีฟันลงในระหว่างชฏาของท่านกีสวัจฉดาบสนั้น ก่อนใครๆ ทั้งหมด แล้วทรงสรงสนานเกล้า แม้พลนิกายของพระองค์ก็ได้กระทำอย่างนั้น.
เมื่อพระราชาเสด็จหลีกไปแล้ว เสนาบดีมาพบพระดาบสแล้ว เก็บไม้สีฟันเป็นต้นทิ้ง ให้สรงสนานเป็นอย่างดี แล้วเรียนถามว่า ท่านขอรับ อะไรจักมีแก่พระราชา.
กีสวัจฉดาบสตอบว่า ขอเจริญพร ความคิดประทุษร้ายไม่มีในใจอาตมา แต่เทพยดาฟ้าดินพิโรธ นับแต่นี้ไปเจ็ดวันจักกระทำแว่นแคว้นทั้งสิ้นให้ป่นปี้ ท่านจงหนีไปอยู่ที่อื่นโดยเร็วเถิด.
เสนาบดีนั้นสะดุ้งตกใจกลัว จึงไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระเจ้าทัณฑกีราชทรงฟังถ้อยคำเสนาบดีแล้ว ก็มิได้ทรงเชื่อถือ
เสนาบดีนั้นจึงกลับไปยังเรือนของตน พาบุตรภรรยาหนีไปสู่แคว้นอื่น.
ท่านสรภังคดาบสผู้ศาสดาจารย์ รู้เหตุนั้นแล้วส่งดาบสหนุ่มไปสองรูป ให้เอามัญจสีวิกาหามท่านกีสวัจฉดาบสมาทางอากาศ.
พระราชาทรงรบจับโจรได้แล้ว เสด็จกลับไปยังพระนครทีเดียว.
เมื่อพระราชาเสด็จมาแล้ว เทพยเจ้าทั้งหลายจึงบันดาลฝนให้ตกลงมาก่อน เมื่อศพทุกชนิดถูกห้วงน้ำฝนพัดไปอยู่ ฝนทรายล้วนก็ตกลง ฝนดอกไม้ทิพย์ตกลงบนยอดฝนทราย ฝนมาสกตกลงบนยอดฝนดอกไม้ ฝนกหาปณะตกลงบนยอดฝนมาสก ฝนทิพพาภรณ์ตกลงบนยอดกหาปณะ
มนุษย์ทั้งหลายถึงความโสมนัส เริ่มเก็บเงินทองและเครื่องอาภรณ์.
ลำดับนั้น ฝนอาวุธอันโชติช่วงมีประการต่างๆ ตกลงเหนือสรีระของมนุษย์เหล่านั้น. มนุษย์ทั้งหลายขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่.
ลำดับนั้น ถ่านเพลิงปราศจากเปลวใหญ่โตก็ตกลงเบื้องบนของมนุษย์เหล่านั้น ยอดบรรพตที่ลุกโพลงใหญ่โตตกลงเบื้องบนของมนุษย์เหล่านั้น ฝนทรายละเอียดอันยังที่ประมาณ ๖๐ โยชน์ให้เต็มตกลงเบื้องบนของมนุษย์เหล่านั้น สถานที่ ๖๐ โยชน์มิได้เป็นรัฐมณฑลด้วยอาการอย่างนี้.
ความที่แว่นแคว้นนั้นพินาศไปอย่างนี้ ได้แพร่สะพัดไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
ครั้งนั้น พระราชา ๓ พระองค์ คือ พระเจ้ากาลิงคะ ๑ พระเจ้าอัฏฐกะ ๑ พระเจ้าภีมรถ ๑ ซึ่งเป็นใหญ่ในแคว้นติดต่อกันกับแคว้นนั้นทรงคิดกันว่า ได้ยินว่าในปางก่อน พระเจ้ากลาพุกาสิราชในพระนครพาราณสี ประพฤติผิดในท่านขันติวาทีดาบส แล้วถูกแผ่นดินสูบ พระเจ้านาลิกีรราชให้สุนัขเคี้ยวกินพระดาบส และพระเจ้าอัชชุนะผู้ทรงกำลังแขนถึงพัน ประพฤติผิดในท่านอังคีรสดาบสแล้วถูกแผ่นดินสูบเหมือนกัน.
ได้ยินว่า คราวนี้พระเจ้าทัณฑกีราชผิดในท่านกีสวัจฉดาบส แล้วถึงความพินาศพร้อมด้วยแว่นแคว้น พวกเรายังไม่รู้สถานที่เกิดของพระราชาทั้งสี่เหล่านี้ เว้นท่านสรภังคศาสดาเสียแล้ว คนอื่นชื่อว่าสามารถเพื่อจะบอกเรื่องนั้นแก่เราไม่มี พวกเราจักเข้าไปถามปัญหาเหล่านี้.
กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์เหล่านั้นพร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นอันมาก ต่างก็เสด็จออกเพื่อจะถามปัญหา แต่พระราชาทั้งสามนั้นมิได้ทรงทราบว่า แม้พระราชาองค์โน้นก็เสด็จออกแล้ว ต่างทรงสำคัญว่าเราไปเพียงผู้เดียวเท่านั้น สมาคมแห่งกษัตริย์เหล่านั้นได้มีไม่ไกลจากแม่น้ำโคธาวรี พระราชาเหล่านั้นเสด็จลงจากรถแต่ละคันแล้ว เสด็จขึ้นรถคันเดียวกันไป ทั้งสามพระองค์ถึงยังฝั่งแม่น้ำโคธาวรี.
ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชประทับนั่งเหนือพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงคิดปัญหา ๗ ข้อแล้วทรงรำพึงว่า เว้นท่านสรภังคศาสดาเสียแล้ว คนอื่นในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ที่ชื่อว่าสามารถเพื่อจะแก้ปัญหานี้ไม่มี เราจักถามปัญหาเหล่านี้กะท่านสรภังคศาสดานั้น. พระราชาทั้ง ๓ องค์แม้เหล่านี้มาถึงฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ก็เพื่อจะถามปัญหากะท่านสรภังคศาสดา เราเองจักเป็นผู้ถามแม้ปัญหาของพระราชาเหล่านี้ อันเหล่าเทวดาในเทวโลกทั้งสองแวดล้อมแล้ว เสด็จลงจากเทวโลก.
ในวันนั้นเอง ท่านกีสวัจฉดาบสก็ได้ทำกาลกิริยาลง พระฤาษีทั้งหลายพันเศษในที่ทั้งสี่ ก็มาในที่นั้นเหมือนกัน เพื่อทำการปลงศพของท่านกีสวัจฉดาบสนั้น แล้วให้ทำมณฑปไว้ และหมู่ฤาษีพันเศษในที่ทั้ง ๕ ช่วยกันทำจิตกาธานด้วยไม้จันทน์ เพื่อตั้งสรีระของท่านกีสวัจฉดาบส แล้วช่วยกันเผาสรีระศพ ฝนดอกโกสุมทิพย์ตกลงในสถานที่ประมาณกึ่งโยชน์รอบสุสาน
พระมหาสัตว์ให้จัดการเก็บสรีรธาตุของท่านกีสวัจฉดาบสแล้วเข้าไปสู่อาศรม แวดล้อมไปด้วยหมู่ฤาษีเหล่านั้นนั่นอยู่ ในกาลเมื่อพระราชาเหล่านั้นมาถึงฝั่งนที เสียงแห่งกองทัพใหญ่ เสียงพาหนะ และเสียงดนตรีได้มีแล้ว พระมหาสัตว์ได้สดับเสียงนั้นจึงเรียกอนุสิสสดาบสมาสั่งว่า พ่อคุณ เธอช่วยไปดูก่อนเถิด นั่นเป็นเสียงอะไร?
ท่านอนุสิสสดาบสจึงถือหม้อตักน้ำไปในที่นั้น พบพระราชาทั้ง ๓ องค์
จึงกล่าวคาถาที่ ๑ โดยเป็นคำถามความว่า
ท่านทั้งหลายผู้ประดับแล้ว สอดใส่กุณฑล นุ่งห่มผ้างดงาม เหน็บพระขรรค์มีด้ามประดับด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมุกดา เป็นจอมพลรถยืนอยู่ เป็นใครกันหนอ ชนทั้งหลายในมนุษยโลก จะรู้จักท่านทั้งหลายอย่างไร?


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวฬุริยมุตฺตา กรุขคฺคพนฺธา ความว่า ประกอบไปด้วยพระขรรค์แก้ว มีด้ามประดับด้วยแก้วไพฑูรย์ และพู่พวงแก้วมุกดา.
บทว่า ติฏฺฐถ ความว่า ท่านทั้งหลายยืนอยู่ในรถคันเดียวกัน.
บทว่า เก นุ ความว่า พวกท่านคือใคร คนในมนุษยโลกรู้จักพวกท่านได้อย่างไร?

กษัตริย์ทั้งสามสดับคำของพระดาบสแล้ว เสด็จลงจากรถถวายนมัสการแล้ว ประทับยืนอยู่ ในกษัตริย์ทั้ง ๓ นั้น พระเจ้าอัฏฐกราช เมื่อจะทรงสนทนากับท่านอนุสิสสดาบส จึงตรัสคาถาที่ ๒ ความว่า
ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ชื่ออัฏฐกะ ท่านผู้นี้คือพระเจ้าภีมรถะ ส่วนท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาลิงคราช มีพระเดชฟุ้งเฟื่อง ข้าพเจ้าทั้งหลายมาในที่นี้ เพื่อเยี่ยมท่านฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมด้วยดี และเพื่อจะขอถามปัญหา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุคฺคโต ความว่า เป็นผู้ปรากฏขจรไปดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์.
บทว่า สุสญฺญตานํ อิสีนํ ความว่า (พระเจ้าอัฏฐกราชตรัสว่า) ท่านขอรับ พวกข้าพเจ้าจะมาเพื่อเล่นกีฬาในป่าก็หามิได้ ที่แท้พวกข้าพเจ้ามาในที่นี้ ก็เพื่อจะเยี่ยมท่านฤาษีผู้มีศีล สำรวมดีแล้วด้วยกายเป็นต้น.
บทว่า ปุจฺฉิตาเยนมฺห ปญฺเห ความว่า เป็นผู้มาแล้วเพื่อเรียนถามปัญหากะท่านสรภังคศาสดา บัณฑิตควรทราบว่า อักษร ทำการเชื่อมกับพยัญชนะ.

ลำดับนั้น ดาบสจึงทูลพระราชาเหล่านั้นว่า ขอถวายพระพรพระมหาราชเจ้า ดีแล้ว พระองค์ท่านทั้งหลายเป็นผู้เสด็จมาในสถานที่ ซึ่งควรมาโดยแท้ ถ้าเช่นนั้น ขอเชิญสรงสนานแล้วเสด็จไปยังอาศรม ทรงไหว้หมู่ฤาษีแล้วตรัสถามปัญหากะท่านศาสดาเถิด ครั้นทำปฏิสัณฐานกับพระราชาเหล่านั้นแล้ว จึงยกหม้อน้ำขึ้น เช็ดหยาดน้ำพลางแลดูอากาศ เห็นท้าวสักกเทวราชแวดล้อมด้วยหมู่เทพยเจ้า เสด็จเหนือคอช้างเอราวัณตัวประเสริฐ กำลังเสด็จมา.
เมื่อจะสนทนากับท้าวสักกเทวราชนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ความว่า
ท่านเหาะลอยอยู่ในอากาศเวหา ดังพระจันทร์ลอยเด่นอยู่ ท่ามกลางท้องฟ้าในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำฉะนั้น ดูก่อนเทพยเจ้า อาตมภาพขอถามท่านผู้มีอานุภาพมาก ชนทั้งหลายในมนุษยโลกจะรู้จักท่านได้อย่างไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวหาสยํ ความว่า ท่านเหาะขึ้นไปลอยอยู่ในกลางหาว คือบนอากาศ.
บทว่า ปถทฺธุโน ความว่า เหมือนพระจันทร์อันไปสู่คลองอันไกล คือตั้งอยู่ในท่ามกลางอัมพร อันเป็นแดนไกลฉะนั้น.

ท้าวสักกเทวราชทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๔ ความว่า
ในเทวโลกเขาเรียกข้าพเจ้าว่าสุชัมบดี ในมนุษยโลกเขาเรียกข้าพเจ้าว่าท้าวมฆวา ข้าพเจ้านั้นคือท้าวเทวราช วันนี้มาถึงที่นี่ เพื่อขอเยี่ยมท่านฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมแล้วด้วยดี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ส เทวราชา ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ข้าพเจ้านั้นคือท้าวสักกเทวราช.
บทว่า อิทมชฺช ปตฺโต ความว่า มาสู่สถานที่นี้ ในบัดนี้.
บทว่า ทสฺสนาย ความว่า เพื่อจะเยี่ยมเยียนกราบนมัสการ และเพื่อถามปัญหากะท่านสรภังคศาสดาด้วย.

ลำดับนั้น ท่านอนุสิสสดาบสจึงทูลท้าวสักกเทวราชว่า ดีละพระมหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาภายหลัง ดังนี้แล้วถือหม้อน้ำเข้าไปสู่อาศรม เก็บหม้อน้ำไว้แล้ว กราบเรียนความที่พระราชา ๓ พระองค์กับท้าวสักกเทวราชเสด็จมาเพื่อจะตรัสถามปัญหาแก่พระมหาสัตว์เจ้า.
พระมหาสัตว์นั้นแวดล้อมด้วยหมู่ฤาษี นั่งอยู่ ณ โรงอันกว้างใหญ่ พระราชาทั้ง ๓ พระองค์เสด็จมาไหว้หมู่พระฤาษี แล้วต่างประทับนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายท้าวสักกเทวราชก็เสด็จลงมา แล้วเข้าไปหาหมู่ฤาษี ประทับยืนประคองอัญชลี.
เมื่อทรงสรรเสริญหมู่ฤาษี จึงถวายนมัสการ พลางตรัสคาถาที่ ๕ ความว่า
พระฤาษีทั้งหลายของข้าพเจ้า ผู้มีฤทธิ์มาก เข้าถึงซึ่งอิทธิคุณ มาประชุมพร้อมกันแล้ว ปรากฏในที่ไกล ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ขอไหว้พระคุณเจ้าทั้งหลายผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ในชีวโลกนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูเร สุตา โน ความว่า เมื่อท้าวสักกเทวราชจะทรงแสดงความนับถือ จึงตรัสอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายอันพวกข้าพเจ้าผู้สถิตอยู่ ณ เทวโลกแดนไกลได้ยินได้ฟังแล้ว.
มีคำอธิบายว่า พระฤาษีทั้งหลายของพวกเรา ซึ่งมาประชุมกัน ณ ที่นี้เหล่านี้ พวกข้าพเจ้าได้ยินแล้วในที่ไกล คือปรากฏระบือไปจนถึงพรหมโลก.
บทว่า มหิทฺธิกา ได้แก่ มีอานุภาพมาก.
บทว่า อิทฺธิคุณูปปนฺนา ความว่า ประกอบไปด้วยอิทธิคุณ ๕ อย่าง.
บทว่า อยิเร แปลว่า ในพระคุณเจ้า.
บทว่า เย ความว่า ข้าพเจ้าขอไหว้พวกท่านซึ่งเป็นผู้ประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์ ในชีวโลกนี้.

ท้าวสักกเทวราชตรัสสรรเสริญหมู่ฤาษีอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงหลีกเสียซึ่งโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างจึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น ท่านอนุสิสสดาบสเห็นท้าวสักกเทวราชประทับนั่ง ณ ที่ใต้ลมแห่งหมู่ฤาษี
จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ความว่า
กลิ่นแห่งฤาษีทั้งหลายผู้บวชมานาน ย่อมออกจากกายฟุ้งไปตามลมได้ ดูก่อนท้าวสหัสสเนตร เชิญมหาบพิตรถอยไปเสียจากที่นี่ ดูก่อนท้าวเทวราช กลิ่นของฤาษีไม่สะอาด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิรทกฺขิตานํ ความว่า ของผู้บวชสิ้นกาลนาน.
บทว่า ปฏิกฺกมฺม ความว่า ขอพระองค์โปรดเสด็จหลีกไป คือโปรดถอยไปเสีย.
บทว่า สหสฺสเนตฺต นี้ เป็นอาลปนะ.
แท้จริง ท้าวสักกะก็องค์เดียวนั่นเอง (แต่) ทรงเห็นเนื้อความที่อำมาตย์พันคนคิดกันแล้วฉะนั้น จึงเรียกว่าท้าวสหัสสเนตร. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าท้าวสหัสสเนตร เพราะเป็นผู้สามารถก้าวล่วงอุปจารแห่งการเห็นของเหล่าเทวดาผู้มีเนตรพันดวง.
บทว่า อสุจิ ความว่า ชื่อว่า มีกลิ่นเหม็น เพราะอบอยู่ด้วยเหงื่อไคล และมลทินเป็นต้น อนึ่ง ท่านทั้งหลายเป็นผู้ใคร่ความสะอาด ด้วยเหตุนั้น กลิ่นนี้ย่อมจะเบียดเบียนท่านทั้งหลาย.

ท้าวสักกเทวราชทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาต่อไป ความว่า
กลิ่นแห่งฤาษีทั้งหลายผู้บวชมานาน จงออกจากกายฟุ้งไปตามลมเถิด ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมมุ่งหวังกลิ่นนั้น ดังพวงบุปผชาติอันวิจิตรมีกลิ่นหอม เพราะว่าเทวดาทั้งหลายมิได้มีความสำคัญในกลิ่นนี้ว่า เป็นปฏิกูล.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คจฺฉตุ ความว่า กลิ่นของพระฤาษีทั้งหลายจงเป็นไปตามสะดวกเถิด. อธิบายว่า จงกระทบช่องจมูกของพวกข้าพเจ้าเถิด.
บทว่า ปฏิกงฺขาม ความว่า พวกข้าพเจ้าต้องการคือปรารถนา.
บทว่า เอตฺถ ความว่า เทวดาทั้งหลายมิได้มีความสำคัญในกลิ่นนี้ว่าน่าเกลียด เพราะพวกเทวดาทั้งหลายพากันรังเกียจคนทุศีลจำพวกเดียว หารังเกียจคนมีศีลไม่.

ก็แลครั้นท้าวเทวราชกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านอนุสิสสดาบสผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาด้วยอุตสาหะใหญ่เพื่อจะถามปัญหา ท่านโปรดทำโอกาสแก่ข้าพเจ้าด้วย.
ท่านอนุสิสสดาบสได้ฟังพระดำรัสของท้าวสักกะแล้ว จึงลุกขึ้นจากอาสนะ เพื่อจะยังหมู่ฤาษีให้ทำโอกาส จึงกล่าวคาถาสองคาถาความว่า
ท้าวมัฆวานสุชัมบดีเทวราช องค์ปุรินททะผู้เป็นใหญ่แห่งภูต มีพระยศ เป็นจอมแห่งทวยเทพ ทรงย่ำยีหมู่อสูร ทรงรอคอยโอกาส เพื่อตรัสถามปัญหา.
บรรดาฤาษีผู้เป็นบัณฑิตเหล่านี้ ณ ที่นี้ ใครเล่าหนอถูกถามแล้วจักพยากรณ์ปัญหาอันสุขุมของพระราชาทั้ง ๓ พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์และของท้าววาสวะผู้เป็นจอมแห่งทวยเทพได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุรินฺทโท เป็นต้นเป็นคุณนามของท้าวสักกะนั่นเอง. แท้จริง เพราะท้าวสักกะนั้นให้ทานในก่อนจึงชื่อปุรินททะ เพราะเป็นใหญ่ในหมู่ภูตนิกายจึงชื่อภูตบดี เพราะถึงพร้อมด้วยบริวารจึงชื่อว่ามียศ เพราะเป็นอิสระยิ่งจึงชื่อเทวานมินทะ เพราะทรงกระทำวัตรบทเจ็ดประการด้วยดีจึงชื่อสักกะ ชื่อมฆวะด้วยสามารถนามในชาติก่อน เพราะเป็นพระสวามีของนางสุชาดาอสุรกัญญาจึงชื่อสุชัมบดี เพราะยังใจของทวยเทพให้ยินดีจึงชื่อเทวราช.
บทว่า โกเนว ตัดบทออกเป็น โก นุ เอว แปลว่า ก็ใครเล่าหนอ?
บทว่า นิปุเณ ได้แก่ ปัญหาอันละเอียดสุขุม.
บทว่า รญฺญํ ได้แก่ ของพระราชาทั้งหลาย.
อธิบายว่า อนุสิสสดาบสกล่าวว่า บรรดาท่านฤาษีผู้เป็นบัณฑิตเหล่านี้ ใครจักยึดพระทัยของพระราชาทั้งสี่องค์เหล่านี้ แล้วกล่าวแก้ปัญหาอันละเอียดสุขุมได้ ท่านทั้งหลายจงทราบถึงผู้ที่สามารถเพื่อจะกล่าวแก้ปัญหาของพระราชาเหล่านั้นเถิด.

หมู่ฤาษีได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า ดูก่อนท่านอนุสิสสะผู้นิรทุกข์ ท่านยืนพูดอยู่บนแผ่นดิน เหมือนไม่เห็นแผ่นดิน เว้นท่านสรภังคศาสดาเสียแล้ว คนอื่นใครเล่าจักเป็นผู้สามารถ เพื่อจะแก้ปัญหาของพระราชาเหล่านั้นได้ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาความว่า
ท่านสรภังคฤาษีผู้เรืองตบะนี้ เว้นจากเมถุนธรรมตั้งแต่เกิดมา เป็นบุตรของปุโรหิตาจารย์ ได้รับฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ท่านจักพยากรณ์ปัญหาของพระราชาเหล่านั้นได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สรภงฺโค ความว่า พระฤาษียิงลูกธนูแล้ว แสดงศิลปะเช่นสรปาการศิลปะเป็นต้นในอากาศ แล้วทำให้แยกหักไปดุจยังลูกศรเหล่านั้นให้ตกไปโดยธนูลูกเดียวอีก ฉะนั้น จึงชื่อว่าสรภังคะ.
บทว่า เมถุนสฺมา ความว่า เว้นจากเมถุนธรรม. ได้ยินว่า ท่านยังมิได้เคยเสพเมถุนธรรม มาบวชแล้ว.
บทว่า อาจริยปุตฺโต ความว่า ท่านเป็นบุตรของปุโรหิตผู้เป็นอาจารย์ของพระราชา.

ครั้นหมู่ฤาษีกล่าวอย่างนี้แล้วจึงบอกอนุสิสสดาบสว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ท่านนั่นแหละจงไหว้ท่านศาสดา ขอให้ให้โอกาสเพื่อจะแก้ปัญหาอันท้าวสักกเทวราชถาม ตามถ้อยคำของหมู่ฤาษี. ท่านอนุสิสสดาบสรับคำแล้ว ไหว้ท่านศาสดา เมื่อจะขอโอกาสจึงกล่าวคาถาลำดับต่อไปว่า
ข้าแต่ท่านโกณฑัญญะ ขอท่านได้โปรดพยากรณ์ปัญหา ฤาษีทั้งหลายผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ พากันขอร้องท่าน ข้าแต่ท่านโกณฑัญญะ ภาระนี้ย่อมมาถึงท่านผู้เจริญด้วยปัญญา ข้อนี้เป็นธรรมดาในหมู่มนุษย์.


พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นดังต่อไปนี้
อนุสิสสดาบสเรียกท่านสรภังคดาบสว่าโกณฑัญญะ โดยโคตร.
บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาวธรรม.
บทว่า ยํ วุฑฺฒํ ความว่า อนุสิสสดาบสกล่าวว่า ชื่อว่าภาระคือการวิสัชนาปัญหานี้ ย่อมมาถึงบุรุษผู้มีปัญญาอันเจริญ นั่นเป็นสภาวธรรมในหมู่มนุษย์ เพราะฉะนั้น ท่านโปรดแก้ปัญหาของท้าวเทวราชทำให้ปรากฏ เหมือนยังดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ให้ตั้งขึ้นพันดวงฉะนั้น.

ลำดับนั้น เมื่อพระมหาบุรุษจะกระทำโอกาส จึงกล่าวคาถาเป็นลำดับต่อไปความว่า
มหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย อาตมภาพให้โอกาสแล้ว เชิญตรัสถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระหฤทัยปรารถนาเถิด ก็อาตมภาพรู้โลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเองแล้ว จักพยากรณ์ปัญหานั้นๆ แก่มหาบพิตรทั้งหลาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ กิญฺจิ ความว่า ท่านสรภังคดาบสปวารณาซึ่งสัพพัญญูปวารณาว่า ท่านมหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย เชิญตรัสถามปัญหาที่ใจของพวกท่านปรารถนา หรือแม้ของมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ปรารถนากะเราเถิด เพราะเราทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้า ด้วยปัญญาตนเองแล้ว จักแก้ปัญหาทั้งหมดนั้นอันอาศัยโลกนี้ หรือโลกเบื้องหน้าแก่ท่านทั้งหลายทั้งหมดโดยสิ้นเชิง.

เมื่อท่านสรภังคดาบสทำโอกาสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสถามปัญหาที่พระองค์เตรียมมา.
เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาความว่า
ลำดับนั้น ท้าวมัฆวานสักกเทวราชปุรินททะทรงเห็นประโยชน์ ได้ตรัสถามปัญหาอันเป็นปฐม ดังที่พระทัยปรารถนาว่า
บุคคลฆ่าซึ่งอะไรสิ จึงจะไม่โศกเศร้า ในกาลไหนๆ ฤาษีทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละอะไร บุคคลพึงอดทนคำหยาบที่ใครๆ ในโลกนี้กล่าวแล้ว ข้าแต่ท่านโกณฑัญญะ ขอท่านได้โปรดบอกความข้อนี้แก่โยมเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยญฺจาสิ ความว่า ในปัญหานั้น สิ่งใดเป็นข้อที่ทรงปรารถนาด้วยใจ ท้าวสักกเทวราชก็ตรัสถามสิ่งนั้น.
บทว่า เอตํ ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ท่านโปรดบอกเนื้อความซึ่งข้าพเจ้าถามแล้วแก่ข้าพเจ้าเถิด.

ท้าวสักกเทวราชตรัสถามปัญหาสามข้อ ด้วยพระคาถา ๑ คาถา.
เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อพระมหาสัตว์พยากรณ์ จึงกล่าวคาถาความว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้วจึงจะไม่เศร้าโศกในกาลไหนๆ ฤาษีทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละความลบหลู่ บุคคลควรอดทนคำหยาบที่ชนทั้งปวงกล่าว สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนนี้ว่าสูงสุด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกธํ วธิตฺวา ความว่า บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว. แท้จริง เมื่อคนเราจะเศร้าโศก ย่อมเศร้าโศกเพราะจิตมีปฏิฆะอย่างเดียว เพราะไม่มีความโกรธ ความโศกจะมีมาแต่ไหน? ด้วยเหตุนั้น ท่านสรภังคดาบสจึงกล่าวว่า ย่อมไม่เศร้าโศกในกาลทุกเมื่อ.
บทว่า มกฺขปฺปหานํ ความว่า ฤาษีทั้งหลายสรรเสริญการละเสียซึ่งความลบหลู่ อันมีการลบหลู่คุณที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตนเป็นลักษณะ กล่าวคือความเป็นคนอกตัญญู.
บทว่า สพฺเพสํ ความว่า บุคคลควรอดทนคำหยาบคาย แม้ของคนทุกประเภท ทั้งคนชั้นต่ำชั้นกลางและชั้นสูง.
บทว่า สนฺโต ความว่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้.

ท้าวสักกเทวราชตรัสถามเป็นคาถา ความว่า
บุคคลอาจจะอดทนถ้อยคำของคนทั้งสองจำพวกได้ คือ
คนที่เสมอกัน ๑
คนที่ประเสริฐกว่าตน ๑
จะอดทนถ้อยคำของคนเลวกว่าได้อย่างไรหนอ
ข้าแต่ท่านโกณฑัญญะ ขอท่านได้โปรดบอกความข้อนี้แก่โยมเถิด.

ท่านสรภังคดาบส ทูลตอบเป็นคาถา ความว่า
บุคคลพึงอดทนถ้อยคำของคนผู้ประเสริฐกว่าได้ เพราะความกลัว
พึงอดทนถ้อยคำของคนที่เสมอกันได้ เพราะการแข่งขันเป็นเหตุ
ส่วนผู้ใดในโลกนี้พึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าได้
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนของผู้นั้นว่าสูงสุด.


คาถาสองคาถา มีอาทิดังกล่าวมาแล้วอย่างนี้ พึงทราบว่าเกี่ยวเนื่องกันด้วยสามารถแห่งการถามและการตอบ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกฺขาหิ เม ความว่า เมื่อท้าวสักกเทวราชจะดำรัสถาม จึงตรัสอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านโกณฑัญญโคตรผู้เจริญ ปัญหาสองข้อ ท่านแก้ดีแล้ว ยังไม่จับใจของข้าพเจ้าอยู่ข้อเดียว คือคนเราสามารถจะอดกลั้นถ้อยคำของคนที่เลวกว่าตนได้อย่างไร ท่านโปรดบอกความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า.
บทว่า เอตํ ขนฺตึ ความว่า การอดทนต่อถ้อยคำของคนที่ต่ำกว่าโดยชาติและโคตรเป็นต้นอันใด โบราณกบัณฑิตทั้งหลายกล่าวการอดทนนั้นว่า สูงสุด. ส่วนการอดทนต่อถ้อยคำของคนที่สูงกว่าด้วยชาติเป็นต้น เพราะกลัวต่อถ้อยคำ ของคนเสมอกัน เพราะเห็นโทษในการแข่งดี อันมีการทำให้ยิ่งกว่าเป็นลักษณะ นี้หาชื่อว่า อธิวาสนขันตีไม่.

เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกเทวราชจีงตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ทีแรกท่านพูดว่า คนเราควรอดทนคำหยาบคายของคนทุกจำพวก โบราณกบัณฑิตกล่าวความอดทนนั้นว่าสูงสุดดังนี้ เดี๋ยวนี้กลับพูดว่า ผู้ใดในโลกนี้อดทนถ้อยคำของคนที่ต่ำกว่าได้ ท่านกล่าวความอดทนของผู้นั้นว่าสูงสุดดังนี้
คำของท่านที่มีในภายหลัง ไม่สมกับคำพูดที่มีในครั้งก่อน.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวกะท้าวสักกะว่า ดูก่อนท้าวสักกะ คำหลังอาตมากล่าวด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้รู้ว่าผู้นี้เป็นคนเลวแล้วอดกลั้นคำหยาบของเขาได้ ก็เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ประเสริฐเป็นต้น ใครๆ ไม่สามารถจะรู้ได้เพียงเห็นรูปร่าง ฉะนั้นจึงกล่าวคำแรกไว้.
เมื่อจะประกาศความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ประเสริฐเป็นต้น เป็นข้อรู้ได้ยาก ด้วยอาการเพียงเห็นรูปร่าง เว้นแต่การอยู่ร่วมกันของสัตว์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาความว่า
ไฉนจึงจะรู้จักคนประเสริฐกว่า คนที่เสมอกันหรือคนที่เลวกว่า ซึ่งมีสภาพอันอิริยาบถ ๔ ปกปิดไว้ เพราะว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเที่ยวไปด้วยสภาพของคนชั่วได้ เพราะเหตุนั้นแล จึงควรอดทนถ้อยคำของคนทั้งปวง


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุมฏฺฐรูปํ ได้แก่ มีสภาพอันปกปิดไว้ด้วยอิริยาบถ ๔.
บทว่า วิรูปรูเปน ความว่า สัตบุรุษทั้งหลายผู้มีคุณอันสูงส่งย่อมเที่ยวไปโดยรูปแห่งบุคคลผู้ลามกผิดรูปได้. ก็ในความข้อนี้ควรแสดงเรื่องของพระมัชฌันติกเถระ.

ท้าวสักกเทวราชทรงสดับดังนั้นแล้วหมดความเคลือบแคลงสงสัย อาราธนาว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านโปรดแสดงอานิสงส์แห่งความอดทนนี้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวคาถาแก่ท้าวสักกเทวราช ความว่า
สัตบุรุษผู้มีความอดทน พึงได้ผลคือความไม่กระทบกระทั่ง เพราะการสงบระงับเวร เสนาแม้มากพร้อมด้วยพระราชาเมื่อรบอยู่ จะพึงได้ผลนั้นก็หามิได้ เวรทั้งหลายย่อมระงับด้วยกำลังแห่งขันติ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตมตฺถํ ได้แก่ ผลกล่าวคือความไม่กระทบกระทั่ง เพราะยังเวรให้สงบนั้น.

เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวคุณแห่งขันติอย่างนี้แล้ว พระราชาเหล่านั้นทรงพระดำริว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสถามแต่ปัญหาของตน จักไม่ให้โอกาสถามแก่พวกเรา.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทราบอัธยาศัยของพระราชาเหล่านั้น จึงงดปัญหาที่พระองค์เตรียมมาเสีย ๔ ข้อ เมื่อจะตรัสถามความสงสัยของพระราชาเหล่านั้น จึงตรัสคาถาความว่า
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน แต่จะขอถามปัญหาอื่นๆ กะท่าน
ขอเชิญท่านกล่าวแก้ปัญหานั้น โดยมีพระราชา ๔ พระองค์ คือ
พระเจ้าทัณฑกี ๑ พระเจ้านาลิกีระ ๑
พระเจ้าอัชชุนะ ๑ พระเจ้ากลาพุ ๑
ขอท่านได้โปรดบอกคติของพระราชาเหล่านั้นผู้มีบาปกรรมอันหนัก
พระราชาทั้ง ๔ องค์นั้นเบียดเบียนพระฤาษีทั้งหลาย พากันบังเกิด ณ ที่ไหน?


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุโมทยิมานา ความว่า ข้าพเจ้าอนุโมทนาคำสุภาษิตนี้ของท่าน กล่าวคือการวิสัชนาปัญหา ๓ ข้อที่ข้าพเจ้าถามแล้ว.
บทว่า ยถา อหู ความว่า พระราชาทั้ง ๔ ได้มีแล้ว (โดยประการใด).
บทว่า กลาพุ จ ได้แก่ พระเจ้ากลาพุ ๑.
บทว่า อถชฺชุโน ได้แก่ พระเจ้าอัชชุนะ ๑.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะวิสัชนาปัญหาของท้าวสักกเทวราช
ได้กล่าวคาถา ๕ คาถาความว่า
ก็พระเจ้าทัณฑกีได้เรี่ยรายโทษลงในท่านกีสวัจฉดาบสแล้ว เป็นผู้ขาดสูญมูลรากพร้อมทั้งอาณาประชาราษฎร์พร้อมทั้งรัฐมณฑล หมกไหม้อยู่ในนรกชื่อกุกกุละ ถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ย่อมตกต้องกายของพระราชานั้น.
พระเจ้านาลิกีระพระองค์ใดได้เบียดเบียนบรรพชิตทั้งหลายผู้สำรวมแล้ว ผู้กล่าวธรรม สงบระงับ ไม่ประทุษร้ายใคร สุนัขทั้งหลายในโลกหน้าย่อมรุมกันกัดกินพระเจ้านาลิกีระนั้นผู้ดิ้นรนอยู่.
อนึ่ง พระเจ้าอัชชุนะเป็นผู้มีพระเศียรห้อยลงเบื้องต่ำ มีพระบาทชี้ขึ้นเบื้องสูง ตกลงในสัตติสูลนรก เพราะเบียดเบียนอังคีรสฤาษีผู้โคดม ผู้มีความอดทน มีตบะ ประพฤติพรหมจรรย์มานาน.
พระราชาทรงพระนามว่ากลาพุ พระองค์ใด ได้เชือดเฉือนพระฤาษีชื่อขันติวาทีผู้สงบระงับ ไม่ประทุษร้ายให้เป็นท่อนๆ พระราชาพระนามว่ากลาพุพระองค์นั้นได้บังเกิดหมกไหม้อยู่ในอเวจีนรก อันร้อนใหญ่ มีเวทนาเผ็ดร้อนน่ากลัว.
บัณฑิตได้ฟังนรกเหล่านี้ และนรกเหล่าอื่น อันชั่วช้ากว่านี้ในที่นี้แล้ว ควรประพฤติธรรมในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้กระทำอย่างนี้ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กีสํ ความว่า สรีระของท่านดาบสชื่อกีสะ เพราะเป็นผู้มีเนื้อและเลือดน้อย.
บทว่า อวกฺรีย ความว่า พระเจ้าทัณฑกีราชเรี่ยราย คือลอยกลีโทษลงในสรีระของท่านกีสดาบส ด้วยการถ่มเขฬะ และทิ้งไม้สีฟันให้ตกลงไป.
บทว่า อุจฺฉินฺนมูโล แปลว่า เป็นผู้ขาดสูญมูลราก.
บทว่า สชโน แปลว่า พร้อมด้วยบริษัท.
บทว่า กุกฺกุลนาเม นิรยมฺหิ ความว่า หมกไหม้อยู่ในนรกเถ้ารึง อันตั้งอยู่ในที่ประมาณสามร้อยโยชน์ตลอดกัป.
บทว่า ผุลฺลิงฺคา ได้แก่ ถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว.
ได้ยินว่า เมื่อพระเจ้าทัณฑกีราชนั้นจมลงในกุกกุลนรกอันร้อนนั้น เถ้ารึงย่อมเข้าไปทางทวารทั้งเก้า ถ่านเพลิงก้อนโตๆ ตกลงบนศีรษะ ในกาลเมื่อถ่านเพลิงตกลงบนศีรษะของพระราชานั้น สรีระทั้งสิ้นลุกโพลงเหมือนต้นไม้ติดเพลิงฉะนั้น ทุกขเวทนามีกำลังย่อมเป็นไป พระราชานั้น เมื่อไม่สามารถจะอดกลั้นได้ ก็ร้องเอ็ดอึงไป.
ท่านสรภังคศาสดาแยกแผ่นดินออก แสดงให้เห็นพระราชาซึ่งหมกไหม้อยู่ในกุกกุลนรกนั้นอย่างนั้น มหาชนก็ถึงความสะดุ้งกลัว พระมหาสัตว์รู้ว่ามหาชนกลัวยิ่งนัก จึงบันดาลให้นรกนั้นอันตรธานไป.
บทว่า ธมฺมํ ภณนฺเต ความว่า ผู้กล่าวธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐.
บทว่า สมเณ ได้แก่ ท่านผู้ลอยบาปแล้ว.
บทว่า อทูสเก ได้แก่ ผู้ไร้ความผิด.
บทว่า นาลิกีรํ ได้แก่ พระราชาผู้มีพระนามอย่างนี้.
บทว่า ปรตฺถ ความว่า ผู้บังเกิดแล้วในปรโลก คือนรก.
บทว่า สงฺคมฺม ความว่า สุนัขทั้งหลายตัวใหญ่ๆ มาจากทางโน้นทางนี้ ประชุมกันกัดกินพระเจ้านาลิกีรราชนั้น.

ได้ยินว่า เมื่อพระราชาพระนามว่านาลิกีรราช เสวยราชสมบัติอยู่ในทันตปุรนคร ในกาลิงครัฐนั้น พระมหาดาบสองค์หนึ่งแวดล้อมด้วยดาบสห้าร้อยมาจากป่าหิมพานต์ พักอยู่ในพระราชอุทยาน แสดงธรรมแก่มหาชน. พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่าดาบสผู้มีธรรมอยู่ในพระราชอุทยาน ก็พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ครองราชย์โดยอธรรม. เมื่ออำมาตย์ทั้งหลายพากันสรรเสริญพระดาบส ท้าวเธอจึงทรงพระดำริว่า แม้เราก็จักฟังธรรม แล้วเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ทรงไหว้พระดาบสแล้วประทับนั่งอยู่.
พระดาบสเมื่อจะทำปฏิสัณฐานกับพระราชา จึงกราบทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ทรงครองราชย์โดยธรรมหรือ ไม่ทรงเบียดเบียนมหาชนดอกหรือ?
พระราชาทรงกริ้วถ้อยคำของพระดาบส ทรงดำริว่า ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ชะรอยชฎิลโกงนี้จะกล่าวแต่โทษของเราเท่านั้น ในสำนักของทวยนาคร ช่างเถิด เราจักทำให้สาสม แล้วตรัสนิมนต์ว่า พรุ่งนี้ นิมนต์พวกท่านมายังประตูวังของข้าพเจ้าดังนี้แล้ว
ในวันรุ่งขึ้น จึงตรัสสั่งให้เอาคูถเก่าๆ บรรจุตุ่มจนเต็ม เมื่อพวกดาบสมาแล้ว ตรัสสั่งให้เอาคูถใส่ภิกขาภาชนะของดาบสเหล่านั้นจนเต็ม ให้ปิดพระทวารเสีย แล้วตรัสสั่งให้คนถือสากและท่อนเหล็กทุบศีรษะของพระฤาษีทั้งหลาย ให้จับชฎาลากมาให้สุนัขกัดกิน จึงเข้าไปสู่แผ่นดินซึ่งแยกออก ณ ที่นั้น บังเกิดในสุนขมหานรก. สรีระของพระราชาในนรกนั้นได้มีสามคาวุต. ลำดับนั้น สุนัขทั้งหลายตัวโตๆ ขนาดเท่าช้างอย่างใหญ่มีวรรณะ ๕ ประการ ติดตามกัดพระราชานั้น สลัดให้ล้มลง ณ แผ่นดินเหล็กอันลุกโพลงประมาณเก้าโยชน์ แล้วทิ้งเอาๆ จนเต็มปาก เคี้ยวกินพระราชาซึ่งดิ้นรนอยู่.
พระมหาสัตว์แยกแผ่นดินออกเป็นสองภาคแล้วแสดงให้เห็นนรกนั้น รู้ว่ามหาชนหวาดกลัว จึงบันดาลให้อันตรธานไป.

บทว่า อถชฺชุโน ได้แก่ พระราชาทรงพระนามว่า สหัสสพาหุ.
บทว่า องฺคีรสํ ได้แก่ ท่านอังคีรสผู้มีชื่ออย่างนี้ เพราะเปล่งรัศมีออกจากอวัยวะ.
บทว่า เหฐยิตฺวา ความว่า พระราชาอัชชุนะเบียดเบียนท่านอังคีรส คือเอาเกาทัณฑ์อันอาบยาพิษ ยิงให้ถึงความตาย.
ได้ยินว่า พระเจ้าอัชชุนะนั้น เมื่อเสวยราชย์ในเกกราชธานี เขตมหิสกรัฐ เสด็จไปล่าเนื้อ ครั้นฆ่าเนื้อได้แล้ว ก็ชอบประพฤติเสวยเนื้อสุกในถ่านเพลิง.
วันหนึ่ง พระองค์ทรงทำซุ้มดักในสถานที่เนื้อจะมา ประทับยืนแลดูเนื้อทั้งหลายอยู่.
คราวนั้น ท่านอังคีรสดาบสขึ้นอยู่บนต้นหมากเม่าต้นหนึ่งใกล้ๆ พระราชานั้น กำลังเก็บผลไม้อยู่ ปล่อยกิ่งที่เก็บผลแล้วลงไป เพราะเสียงกิ่งไม้ที่ท่านปล่อยไป ฝูงเนื้อที่มาถึงสถานที่นั้นแล้วจึงหนีไป.
พระราชาทรงกริ้วเอาลูกศรมียาพิษยิงพระดาบส. พระดาบสตกกลิ้งลงมา ศีรษะกระแทกตอตะเคียน ทำกาลกิริยาลงที่ปลายหลาวแหลมนั่นเอง.
ทันใดนั้น พระราชาก็เข้าไปสู่แผ่นดินซึ่งแยกออกเป็นสองภาค บังเกิดในสัตติสูลนรก. สรีระได้มีประมาณ ๓ คาวุต นายนิรยบาลในนรกนั้น ทุบตีด้วยอาวุธอันลุกโพลง บังคับให้ขึ้นภูเขาเหล็กอันลุกโพลง. ในเวลาที่พระราชานั้นสถิตเหนือยอดบรรพต ลมย่อมประหาร พระราชาก็พลัดตกลงด้วยลมพัด. ขณะนั้น หลาวเหล็กอันลุกโพลงขนาดลำตาลอย่างใหญ่ผุดขึ้นภายใต้แผ่นดินเหล็กอันลุกโพลงหนาเก้าโยชน์. พระราชานั้นเอาศีรษะกระแทกยอดปลายหลาวนั่นเอง แล้วถูกหลาวเสียบตรึงไว้ ขณะนั้นแผ่นดินก็ลุกโพลง หลาวก็ลุกโพลง สรีระของพระราชานั้นก็ลุกโพลง พระราชาร้องเอ็ดอึง ถูกเผาไหม้อยู่ในนรกนั้น.
พระมหาสัตว์บันดาลให้แผ่นดินแยกออกเป็นสองภาค แล้วชี้ให้เห็นนรกนั้น รู้ว่ามหาชนหวาดกลัว จึงบันดาลให้อันตรธานไป.

บทว่า ขณฺฑโส ความว่า พระเจ้ากลาพุได้ให้เชือดเฉือนมือเท้าทั้ง ๔ หูและจมูกของขันติวาทีดาบส ทำให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่.
บทว่า อทูสกํ ได้แก่ ผู้หาความผิดมิได้.
พระเจ้ากลาพุ ครั้นให้เชือดเฉือนอย่างนั้นแล้ว ตรัสสั่งให้เฆี่ยนด้วยหวายเส้นควบสำหรับประหารพันที ให้จับชฎาดาบสคร่ามาให้นอนคู้ แล้วเอาพระปราษณีประหารที่หลัง ทำให้ถึงทุกขเวทนาใหญ่.
บทว่า กลาพุวีจึ ความว่า พระเจ้ากลาพุนั้นก็เข้าถึงอเวจีนรก.
บทว่า กฏุกํ ความว่า เข้าถึงนรกอันมีเวทนากล้าเห็นปานนี้ ถูกเผาไหม้อยู่ในระหว่างเปลวไฟทั้ง ๖.
อนึ่งเรื่องของพระเจ้ากลาพุโดยพิสดาร ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วใน ขันติวาทีชาดก นั่นเอง.
บทว่า อญฺญานิ ปาปิฏฺฐตรานิ เจตฺถ ความว่า กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต ฟัง (นรกเหล่านี้) และนรกอื่นอันหยาบช้ากว่านรกเหล่านี้.
บทว่า ธมฺมญฺจเร ความว่า ดูก่อนท้าวสักกเทวราช กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตรู้ชัดว่า นรกทั้ง ๔ เหล่านี้ และพระราชา ๔ องค์เหล่านี้ บังเกิดในนรกทั้งสิ้นเท่านี้ ก็หามิได้ ที่แท้แม้นรกแม้อื่น และพระราชาแม้อื่นก็บังเกิดแล้วในนรกเหมือนกัน ดังนี้แล้ว พึงประพฤติธรรมในสมณพราหมณ์ คือถวายจตุปัจจัย จัดการรักษาป้องกันโดยชอบธรรม.

เมื่อพระมหาสัตว์แสดงสถานที่บังเกิดของพระราชาทั้งสี่อย่างนี้แล้ว พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ ก็สิ้นความสงสัย. ต่อแต่นั้น ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะตรัสถามปัญหาที่เหลือ ๔ ข้อต่อไป จึงตรัสคาถาความว่า
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน ขอถามปัญหาข้ออื่นกะท่าน ขอเชิญท่านกล่าวแก้ปัญหานั้นด้วย.
บัณฑิตเรียกคนเช่นไรว่ามีศีล เรียกคนเช่นไรว่ามีปัญญา เรียกคนเช่นไรว่าสัตบุรุษ สิริย่อมไม่ละคนเช่นไรหนอ?


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตํวิธํ โน สิริ โน ชหาติ ความว่า สิริอันบุคคลได้แล้วย่อมไม่ละบุรุษเช่นไรกัน?

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะวิสัชนาปัญหาของท้าวสักกเทวราช ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาความว่า
บุคคลใดในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจาและใจ ไม่ทำบาปกรรมอะไรๆ ไม่พูดพล่อยๆ เพราะเหตุแห่งตน บัณฑิตเรียกบุคคลเช่นนั้นว่าเป็นผู้มีศีล.
บุคคลใดคิดปัญหาอันลึกซึ้งได้ด้วยใจ ไม่ทำกรรมอันหยาบช้าอันหาประโยชน์มิได้ ไม่ปิดทางแห่งประโยชน์ อันมาถึงตามกาล บัณฑิตเรียกบุคคลเช่นนั้นว่ามีปัญญา.
บุคคลใดแลเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีปัญญา มีกัลยาณมิตร และมีความภักดีมั่นคง ช่วยทำกิจของมิตรผู้ตกยากโดยเต็มใจ บัณฑิตเรียกบุคคลเช่นนั้นว่าสัตบุรุษ.
บุคคลใดประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งปวงเหล่านี้ คือเป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยน แจกทานด้วยดี รู้ความประสงค์ สิริย่อมไม่ละบุคคลเช่นนั้นผู้สงเคราะห์ มีวาจาอ่อนหวาน สละสลวย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเยน เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งความสุจริตทางไตรทวาร.
บทว่า น อตฺตเหตุ นี้ เป็นหัวข้อแห่งเทศนาเท่านั้น.
อธิบายว่า ไม่พูดเหลาะแหละ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่น เพราะเหตุแห่งทรัพย์ เพราะเหตุแห่งยศ เพราะเหตุแห่งลาภ หรือเพราะเหตุมุ่งอามิส.
ถึงเนื้อความนี้จะสำเร็จด้วยบทนี้ว่า สำรวมด้วยวาจา ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นเพื่อแสดงเนื้อความให้หนัก ควรทราบว่าท่านกล่าวอย่างนี้อีกว่า ก็ความชั่วที่จะชื่อว่าคนผู้มักพูดเท็จไม่ทำไม่มี.
บทว่า คมฺภีรปญฺหํ ความว่า (บุคคลใดคิดค้น) ปัญหาอันลึกซึ้ง ลี้ลับ กำบัง ทั้งโดยอรรถและบาลี เช่นเดียวกับปัญหาที่มา ในสัตตุภัสตชาดก สัมภวชาดก และอุมมังคชาดก.
บทว่า มนสา วิจินฺตยํ ความว่า บุคคลใดคิดค้นได้ด้วยใจ แทงตลอดเนื้อความ สามารถเพื่อจะกล่าวแก้ กระทำให้ปรากฏดุจยังพระจันทร์พระอาทิตย์ให้ตั้งขึ้นตั้งพันดวง.
บทว่า นจฺจาหิตํ ความว่า และบุคคลใดไม่กระทำกรรม อันไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลยิ่ง คือล่วงเลยประโยชน์ หยาบช้าเผ็ดร้อนสาหัส.
อนึ่ง เพื่อจะยังเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้ง ควรกล่าว ภูริปัญหา ว่า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สร้างบาปกรรม เพราะเหตุแห่งความสุขของตน สัตบุรุษทั้งหลายแม้อันทุกข์ถูกต้อง พลั้งพลาดลง ย่อมไม่ละธรรมเพราะความรักและความชัง.
บทว่า กาลคตํ ความว่า บุคคลใดเมื่อยังทานเป็นต้นเหล่านี้ให้ถึงพร้อมด้วยคิดว่า กาลนี้เป็นกาลควรให้ทาน เป็นกาลที่จะรักษาศีล เป็นกาลเข้าจำอุโบสถ เป็นกาลตั้งมั่นในสรณะ เป็นการกระทำบรรพชา เป็นกาลบำเพ็ญสมณธรรม เป็นวาระที่ควรบำเพ็ญวิปัสสนา ชื่อว่าย่อมไม่ริดรอน คือไม่ยังทางแห่งประโยชน์อันมาถึงโดยกาลให้เสื่อมไป.
บทว่า ตถาวิธํ ความว่า ดูก่อนท้าวสักกะ พระสัพพัญญูพุทธะก็ดี พระปัจเจกพุทธะก็ดี พระมหาสัตว์ก็ดี เมื่อจะกล่าวถึงคนมีปัญญา ย่อมกล่าวถึงบุคคลเห็นปานนี้.
ในบทว่า โย เว นั้น มีอธิบายดังนี้ บุคคลใดรู้จักคุณอันผู้อื่นทำแล้วแก่ตน ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญู อนึ่ง ครั้นรู้อย่างนี้แล้วทำการตอบแทนคุณของเขาที่ได้ทำคุณไว้แก่ตน ชื่อว่าเป็นผู้กตเวที.
บทว่า ทุกฺขิตสฺส ความว่า บุคคลใดยกความทุกข์แห่งสหายของตนผู้ถึงทุกข์ขึ้นไว้ในตน ช่วยทำให้กิจอันเกิดขึ้นแก่สหายนั้น ด้วยมือของตนโดยเคารพ พระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมกล่าวบุคคลนั้น ผู้เห็นปานนี้ว่าเป็นสัตบุรุษ อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาสัตบุรุษทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เพราะฉะนั้น ควรกล่าวถึงชาดก เช่น สตปตชาดก จุลลหังสชาดก และมหาหังสชาดกเป็นต้น.
บทว่า เอเตหิ สพฺเพหิ ความว่า ดูก่อนท้าวสักกเทวราช บุคคลใดเข้าถึงด้วยคุณสมบัติ มีศีลเป็นต้น ดังที่กล่าวแล้วในหนหลังเหล่านี้ทั้งหมด.
บทว่า สทฺโธ ความว่า ประกอบด้วยโอกัปปนสัทธา (ศรัทธาคือความเชื่อมั่น).
บทว่า มุทุ ได้แก่ เป็นผู้มีปกติพูดจาน่ารัก.
บทว่า สํวิภาคี ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้จำแนกแจกทานด้วยดี เพราะความเป็นผู้ยินดียิ่งในการจำแนกศีลจำแนกทาน ชื่อว่าวทัญญู ผู้รู้ถ้อยคำ เพราะสามารถรู้ถ้อยคำของยาจก แล้วจึงให้.
บทว่า สงฺคาหกํ ความว่า ชื่อว่าผู้สงเคราะห์ เพราะสงเคราะห์ชนนั้นๆ ด้วยสังคหวัตถุ ๔. ชื่อว่ามีวาจาสละสลวย เพราะกล่าวถ้อยคำไพเราะ. ชื่อว่ามีวาจาอ่อนหวาน เพราะมีถ้อยคำเกลี้ยงเกลา.
บทว่า ตถาวิธํ โน ความว่า สิริ กล่าวคือยศและลาภอันเลิศที่ได้แล้ว ย่อมไม่ละบุคคลเช่นนั้น คือสิริของบุคคลนั้นย่อมไม่พินาศไป.

พระมหาสัตว์เจ้าวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อ ดุจยังพระจันทร์อันเต็มดวงให้ตั้งขึ้นบนพื้นท้องฟ้าฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้ ถัดจากนั้นไป เป็นปุจฉาและวิสัชนาปัญหาที่เหลือ.
ท้าวสักกเทวราช ตรัสคาถาความว่า
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน ขอถามปัญหาข้ออื่นกะท่าน ขอเชิญท่านกล่าวแก้ปัญหานั้นด้วย นักปราชญ์ย่อมกล่าวศีล สิริ ธรรมของสัตบุรุษและปัญญาว่า ข้อไหนประเสริฐกว่ากัน?

พระมหาสัตว์ทูลว่า
แท้จริง ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมกล่าวว่า ปัญญานั่นแหละประเสริฐสุด ดุจพระจันทร์ประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลายฉะนั้น ศีล สิริ และธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา.

ท้าวสักกะตรัสถามว่า
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน ขอถามปัญหาข้ออื่นกะท่าน ขอเชิญท่านกล่าวปัญหานั้น บุคคลในโลกนี้ทำอย่างไร ทำด้วยอุบายอย่างไร ประพฤติอะไร เสพอะไร จึงจะได้ปัญญา ขอท่านได้โปรดบอกปฏิปทาแห่งปัญญา ณ บัดนี้ว่า นรชนทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีปัญญา.

ท่านสรภังคศาสดาทูลว่า
บุคคลควรคบหาท่านผู้รู้ทั้งหลาย ละเอียดลออ เป็นพหูสูต ควรเป็นนักเรียน นักสอบถาม พึงตั้งใจฟังคำสุภาษิตโดยเคารพ นรชนทำอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้มีปัญญา.
ผู้มีปัญญานั้นย่อมพิจารณาเห็นกามคุณทั้งหลาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ และโดยความเป็นโรค ผู้เห็นแจ้งอย่างนี้ ย่อมละความพอใจในกามทั้งหลาย อันเป็นทุกข์ มีภัยใหญ่หลวงเสียได้.
ผู้นั้นปราศจากราคะแล้ว กำจัดโทสะได้ พึงเจริญเมตตาจิตอันหาประมาณมิได้ งดอาชญาในสัตว์ทุกจำพวกแล้ว ไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงพรหมสถาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลํ ได้แก่ อาจารศีล.
บทว่า สิริ ได้แก่ อิสริยยศ. บทว่า สตญฺจ ธมฺมํ ได้แก่ สัปปุริสธรรม.
บทว่า ปญฺญํ ความว่า ท้าวสักกะตรัสถามว่า ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมกล่าวถึงบรรดาธรรม ๔ ประการเหล่านี้ อย่างนี้ว่าอย่างไหนประเสริฐกว่ากัน?
บทว่า ปญฺญา หิ ความว่า พระมหาสัตว์ทูลว่า ดูก่อนท้าวสักกะ ในธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ชื่อว่าปัญญานี้นั้น คนฉลาดทั้งหลายเช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น กล่าวว่าประเสริฐสุด เหมือนดวงดาวแวดล้อมดวงจันทร์ ดวงจันทร์นั่นแหละสูงสุดกว่าดวงดาวเหล่านั้นฉันใด ธรรมแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้คือศีล สิริ และธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายก็ฉันนั้น.
บทว่า อนฺวายกา ปญฺญวโต ภวนฺติ ความว่า ย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้น คือเป็นบริวารของปัญญานั่นเอง.
คำว่า กถํกโร เป็นต้น เป็นไวพจน์ของกันและกันเท่านั้น.
บทว่า กถํกโร ความว่า ท้าวสักกะตรัสถามว่า บุคคลกระทำอยู่ซึ่งกรรมอะไร ประพฤติอะไร เสพคือคบหาซึ่งกรรมอะไร ย่อมได้ซึ่งปัญญาในโลกนี้ทีเดียว ท่านโปรดบอกปฏิปทาแห่งปัญญาอย่างเดียว ข้าพเจ้าใคร่จะรู้ สัตว์ผู้ต้องตายเป็นสภาพ ทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้ชื่อว่ามีปัญญา.
บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ บัณฑิต ผู้ถึงซึ่งความเจริญด้วยความรู้.
บทว่า นิปุเณ ความว่า ผู้สามารถรู้เหตุการณ์อันสุขุม.
บทว่า เอวํกโร ความว่า ท่านสรภังคศาสดาตอบว่า บุคคลใด สมาคม คบหา นั่งใกล้ซึ่งบุคคลผู้มีประการดังกล่าวมาแล้วอย่างนี้ ย่อมเล่าเรียนบาลี สอบถามอรรถาธิบายเนืองๆ เงี่ยโสตลงสดับคำสุภาษิตโดยเคารพ ดุจบุคคลจารึกรอยลงบนแผ่นหิน หรือดุจเอาตุ่มทองรองรับมันเหลวของราชสีห์ฉะนั้น บุคคลผู้กระทำอย่างนี้ย่อมเป็นผู้มีปัญญา พระมหาสัตว์กล่าวปฏิปทาแห่งปัญญาอย่างนี้ คล้ายกับยังพระอาทิตย์ให้อุทัยขึ้นจากปราจีนโลกธาตุ เมื่อจะกล่าวคุณของปัญญานั้นในบัดนี้ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า บุคคลผู้มีปัญญานั้น ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามคุเณ ความว่า บุคคลผู้มีปัญญานั้นย่อมเห็น คือพิจารณาส่วนแห่งกามทั้งหลาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า มีแล้วเหมือนไม่มี
โดยความเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งในปัจจุบัน และสัมปรายิกภพ
โดยความเป็นโรค เพราะความมีพร้อมแห่งโรค คือทุกข์เก้าสิบแปดประการ อาศัยกามเกิดขึ้น.
บทว่า โส เอวํวิปสฺสิ ความว่า เมื่อบุคคลเล็งเห็นความไม่เที่ยงเป็นต้นของกามทั้งหลาย โดยเหตุเหล่านี้ รู้ชัดว่า ที่สุดแห่งทุกข์อันอาศัยกามเกิดขึ้นไม่มี การละกามอย่างเดียวเท่านั้นเป็นสุข แล้วย่อมละเสียได้ ซึ่งความพอใจในกามอันเป็นทุกข์ เป็นภัยใหญ่.
บทว่า ส วีตราโค ความว่า ดูก่อนท้าวสักกะ บุคคลนั้นปราศจากราคะอย่างนี้ กำจัดซึ่งโทษอันเกิดขึ้น ด้วยอำนาจอาฆาตวัตถุเก้าประการเป็นสภาพแล้ว พึงเจริญเมตตาจิต ครั้นเจริญเมตตาจิต ชื่อว่าไม่มีประมาณเพราะมีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์แล้ว เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อม ใครๆ จะตำหนิไม่ได้ ย่อมบังเกิดในพรหมโลก.

เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวโทษแห่งกามทั้งหลายอยู่อย่างนี้ พระราชาแม้ทั้งสามองค์เหล่านั้นพร้อมด้วยพลนิกาย ต่างละความกำหนัดยินดีในเบญจกามคุณได้ด้วยตทังคปหาน.
พระมหาสัตว์รู้ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาด้วยสามารถแห่งความร่าเริงของชนเหล่านั้นว่า
การเสด็จมาของมหาบพิตรผู้มีพระนามว่าอัฏฐกะ ภีมรถะและกาลิงคราชผู้มีพระเดชานุภาพฟุ้งเฟื่องไป เป็นการมาอย่างมหิทธิฤทธิ์ ทุกๆ พระองค์ทรงละกามราคะได้แล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหิทฺธิยํ ความว่า การมาอันมีมหิทธิฤทธิ์ คือกว้างขวางรุ่งเรืองใหญ่.
บทว่า ตวมฏฺฐกา ความว่า ของพระองค์ผู้มีพระนามว่าอัฏฐกะ.
บทว่า ปหีโน ความว่า กามราคะอันทุกพระองค์ทรงละได้แล้ว ด้วยตทังคปหาน.

พระราชาทั้งหลายทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว เมื่อจะทรงชมเชยพระมหาสัตว์เจ้า จึงพากันตรัสคาถาความว่า
ท่านเป็นผู้รู้จิตผู้อื่น ข้อนั้นก็เป็นอย่างนั้นแหละ ข้าพเจ้าทุกคนละกามราคะได้แล้ว ขอท่านจงให้โอกาสเพื่อความอนุเคราะห์ตามที่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้ถึงคติของท่านได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุคฺคหาย ความว่า พระราชาทั้งหลายพากันตรัสว่า ท่านโปรดกระทำโอกาสเพื่อประโยชน์แก่การบรรพชาของพวกข้าพเจ้า อย่างที่พวกข้าพเจ้าบวชแล้วจะพึงตรัสรู้ คือบรรลุความสำเร็จตามคติของท่าน ได้แก่พึงแทงตลอดได้ซึ่งคุณอันท่านแทงตลอดแล้ว.

ลำดับนั้น เมื่อพระมหาสัตว์จะกระทำโอกาสแก่พระราชาเหล่านั้น
จึงกล่าวคาถาต่อไปความว่า
อาตมาให้โอกาสเพื่อความอนุเคราะห์ เพราะมหาบพิตรทั้งหลายละกามราคะได้อย่างนั้นแล้ว จงยังกายให้ซาบซ่านด้วยปีติอันไพบูลย์ ตามที่มหาบพิตรทั้งหลายจะทรงทราบถึงคติของอาตมา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผราถ กายํ ความว่า ยังกายให้ซาบซ่านด้วยปีติอันเกิดแต่ฌานอันไพบูลย์.

พระราชาเหล่านั้นทรงสดับเช่นนั้น เมื่อจะทรงยอมรับจึงตรัสคาถาความว่า
ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ข้าพเจ้าทั้งหลายจักทำตามคำสั่งสอนที่ท่านกล่าวทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะยังกายให้ซาบซ่านด้วยปีติอันไพบูลย์ ตามที่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้ถึงคติของท่าน.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงให้บรรพชาแก่พระราชาเหล่านั้นพร้อมทั้งพลนิกาย
เมื่อจะส่งหมู่ฤาษีไป จึงกล่าวคาถาความว่า
ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฤาษีทั้งหลายผู้มีคุณความดี ทำการบูชานี้แก่กีสวัจฉดาบสแล้ว จงพากันไปยังที่อยู่ของตนๆ เถิด ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในฌาน มีจิตตั้งมั่นทุกเมื่อเถิด ความยินดีนี้เป็นคุณชาติประเสริฐสุดของบรรพชิต.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คจฺฉนฺตุ ความว่า พระมหาสัตว์กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงไปยังสถานที่อยู่เป็นต้นของตนๆ เถิด.

พระฤาษีทั้งหลายรับคำของพระมหาสัตว์แล้ว ต่างนมัสการลา ลอยขึ้นสู่อากาศ กลับไปยังสถานที่อยู่ของตนๆ.
ฝ่ายท้าวสักกเทวราชเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทำการชมเชยพระมหาสัตว์เจ้า ประคองอัญชลี นมัสการพระมหาสัตว์ ดุจนอบน้อมอยู่ซึ่งพระอาทิตย์ พร้อมด้วยเทพบริษัทเสด็จหลีกไป.

พระศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ความว่า
ชนเหล่านั้นได้ฟังคาถาอันประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ฤาษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้ว เกิดปีติโสมนัส พากันอนุโมทนาอยู่ เทวดาทั้งหลายผู้มียศต่างก็พากันกลับไปสู่เทพบุรี.
คาถาเหล่านี้มีอรรถพยัญชนะดี อันฤาษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้ว คนใดคนหนึ่งฟังคาถาเหล่านี้ ให้มีประโยชน์ พึงได้คุณพิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ครั้นแล้วพึงบรรลุถึงสถานที่อันมัจจุราชมองไม่เห็น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปรมตฺถสญฺหิตา ความว่า คาถาเหล่านี้ ชื่อว่าอาศัยซึ่งพระนิพพาน เพราะแสดงถึงความไม่เที่ยงเป็นต้น.
พระบรมศาสดา เมื่อทรงสรรเสริญคำสุภาษิตอันให้ซึ่งพระนิพพาน ของท่านสรภังคศาสดา จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อิมา (คาถาเหล่านี้) ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถวตี ความว่า คาถาเหล่านี้ ชื่อว่าอาศัยประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะอรรถว่าให้ซึ่งพระนิพพาน.
บทว่า สุพฺยญฺชนา แปลว่า มีพยัญชนะบริสุทธิ์.
บทว่า สุภาสิตา ความว่า อันฤาษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวทำให้น่าฟังด้วยดี คือกล่าวไว้ดีแล้ว.
บทว่า อฏฺฐิกตฺวา ความว่า บุคคลใดเป็นผู้มีความต้องการ เพราะทำความเป็นประโยชน์แก่ตน พึงฟังโดยเคารพ.
บทว่า ปุพฺพาปริยํ ความว่า ปฐมฌานเป็นคุณวิเศษเบื้องต้น ทุติยฌานเป็นคุณวิเศษเบื้องปลาย จะพึงได้คุณวิเศษอันตั้งอยู่โดยความเป็นเบื้องต้นเบื้องปลาย ด้วยสามารถแห่งสมาบัติ ๘ ด้วยสามารถแห่งมรรค ๔ อย่างนี้.
บทว่า อทสฺสนํ ความว่า และจะพึงได้พระอรหัตผล อันเป็นคุณวิเศษเบื้องปลาย แล้วบรรลุพระนิพพานในที่สุด เพราะว่า บุคคลผู้บรรลุพระนิพพานแล้ว ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าไปสู่สถานที่ซึ่งมฤตยูราชมองไม่เห็น.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยอรหัตผลอย่างนี้แล้ว ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน ฝนดอกไม้ก็ตกลงในสุสานที่เผาพระโมคคัลลานะ ดังนี้ แล้วทรงประกาศอริยสัจ
เมื่อจะทรงประชุมชาดก จึงตรัสพระคาถาความว่า
สาลิสสระดาบสในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระสารีบุตร
เมณฑิสสรดาบสได้มาเป็น พระกัสสป
ปัพพตดาบสได้มาเป็น พระอนุรุทธะ
เทวลดาบสได้มาเป็น พระกัจจายนะ
อนุสิสสดาบสได้มาเป็น พระอานนท์
กีสวัจฉดาบสได้มาเป็น พระโกลิตะ คือพระโมคคัลลานะ
นารทดาบสได้มาเป็น พระปุณณมันตานีบุตร
บริษัทที่เหลือได้มาเป็น พุทธบริษัท
สรภังคดาบสโพธิสัตว์ได้มาเป็น เราตถาคต
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้.

จบอรรถกถาสรภังคชาดกที่ ๒
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา สรภังคชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272438อรรถกถาชาดก 272446
เล่มที่ 27 ข้อ 2446อ่านชาดก 272478อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=10186&Z=10323
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๘  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]