ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270937อรรถกถาชาดก 270944
เล่มที่ 27 ข้อ 944อ่านชาดก 270951อ่านชาดก 272519
อรรถกถา อุปสิงฆปุปผกชาดก
ว่าด้วย คนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยเมตํ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้น เมื่อออกจากพระวิหารเชตวันไปอาศัยอยู่ป่าแห่งใดแห่งหนึ่งในโกศลรัฐ วันหนึ่งลงไปสู่สระบัวเห็นดอกบัวบานงาม จึงไปยืนดมดอกไม้อยู่ใต้ลม. ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ที่ไพรสณฑ์นั้น จึงให้ท่านสลดใจว่า ข้าแต่ท่านผู้เช่นกับด้วยเรา ท่านชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น ความคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งประเสริฐ เป็นองค์ ๑ ของการขโมย. เธอเป็นผู้ที่เทวดานั้นให้สลดใจแล้ว จึงมาที่พระเชตวันอีก ถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่งอยู่ ถูกพระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุเธออยู่ที่ไหน? ทูลว่า อยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่อโน้น เทวดาที่ไพรสณฑ์นั้นนั่นเองให้ข้าพระองค์สลดใจอย่างนี้.
ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่แต่เธอเท่านั้นที่ดมดอกไม้อยู่ ถูกเทวดาให้สลดใจ แม้บัณฑิตในกาลก่อนทั้งหลาย เทวดาก็เคยให้สลดใจมาแล้วเหมือนกัน เป็นผู้ที่ภิกษุนั้นทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่หมู่บ้านในแคว้นกาสี ตำบลหนึ่ง เติบโตแล้วได้เรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา ต่อมาได้บวชเป็นฤๅษี เข้าไปอาศัยสระบัวแห่งหนึ่งอยู่ วันหนึ่งลงไปสระนั้น ได้ยืนดมดอกบัวที่บานงดงาม.
ครั้งนั้น เทพธิดาตนหนึ่งสถิตอยู่ที่ลำต้นต้นไม้
เมื่อจะให้ท่านสลดใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ดูก่อนท่านผู้เช่นกับด้วยเรา ท่านดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำ ดอกบัวที่เขาไม่ได้ให้นี้ใด การดมนี้นั้นเป็นองค์ๆ หนึ่งของการขโมย ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกงฺคเมตํ ความว่า นั่นเป็นส่วนส่วนหนึ่ง.

ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
เราไม่ลัก เราไม่เด็ดดอกบัว แต่เรายืนดมอยู่ไกลๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรหนอ? จึงกล่าวหาว่าเราเป็นผู้ขโมยกลิ่น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารา สิงฺฆามิ ความว่า เรายืนดมอยู่ไกลๆ.
บทว่า วณฺเณน ได้แก่ เหตุ.

ขณะนั้น ชายคนหนึ่งขุดเหง้าบัวและเด็ดดอกบุณฑริกในสระนั้น พระโพธิสัตว์เห็นเขาแล้ว เมื่อจะเจรจากับเทพธิดานั้นว่า ท่านกล่าวหาเราผู้ยืนดมอยู่แต่ไกลว่าเป็นโจร แต่เหตุไร จึงไม่ว่าชายคนนั้น?
จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
ชายคนนี้ใด ขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบุณฑริก ชายคนนี้นั้น ผู้มีการงานเลอะเทอะอย่างนี้ แต่เหตุไรจึงไม่มีใครว่า?


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อากิณฺณกมฺมนฺโต ได้แก่ มีการงานหยาบ คือมีการงานทารุณ.

ลำดับนั้น เทวดา เมื่อจะบอกเหตุแห่งการพูดแก่พระโพธิสัตว์นั้น
จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ที่ ๕ ว่า :-
ชายผู้มีกรรมหยาบดาดดื่นแล้ว เปรอะเปื้อนบาป เหมือนผ้าอ้อม ข้าพเจ้าจึงไม่มีคำพูดอะไรในเรื่องนั้น แล้วข้าพเจ้าควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาได้
สำหรับคนผู้ไม่มีกิเลสดุจเนิน มีปกติแสวงหาความสะอาดเป็นนิจ บาปประมาณเท่าปลายขนทราย จะปรากฏแก่เขาประมาณเท่ากลีบเมฆทีเดียว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธาติโจลํว ความว่า คนนี้จะเป็นผู้เปื้อนไปด้วยบาปทีเดียว เหมือนกับผ้านุ่งของพี่เลี้ยงที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก มูตรและคูถ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่มีการว่าอะไรในเรื่องนั้น.
บทว่า ตญฺจารหามิ ความว่า แต่สมณะทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักเป็นผู้ใคร่ต่อโอวาท ข้าแต่สมณะ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาผู้ทำสิ่งที่ไม่สมควรแม้มีประมาณน้อย.
บทว่า อนงฺคณสฺส ได้แก่ ผู้เช่นกับท่านผู้หาโทษมิได้.
บทว่า อพฺภามตฺตํว ขายติ ความว่า บาปจะปรากฏเป็นสิ่งมีประมาณเท่าเมฆก้อนใหญ่ บัดนี้ เหตุไฉนท่านจึงจะทำโทษแบบนี้ให้เป็นอัพโภหาริก เป็นเหมือนไม่มีโทษไป.

ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้ถูกเทวดาให้สลดใจ ได้ถึงความสังเวชแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-
ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านรู้จักข้าพเจ้าแน่นอน และท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้า ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านจงตำหนิอีก เมื่อท่านเห็นโทษชนิดนี้ของเรา.


พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นต่อไป
พระโพธิสัตว์ร้องเรียกเทวดาว่ายักษ์.
บทว่า วชฺชาสิ ความว่า ท่านพึงว่ากล่าว.
บทว่า ยทา ปสฺสสิ เอทิสํ ความว่า พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เมื่อใดท่านเห็นโทษแบบนี้ของข้าพเจ้า เมื่อนั้นท่านพึงว่ากล่าวอย่างนี้ทีเดียว.

ลำดับนั้น เทพธิดาจึงกล่าวคาถาที่ ๗ แก่พระโพธิสัตว์ว่า :-
ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพเลย ทั้งเราไม่ได้เป็นลูกจ้างท่าน ข้าแต่ภิกษุ ตัวท่านเองควรรู้กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสุคติ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภตฺติกมฺหเส ความว่า เทพธิดาแสดงว่าข้าพเจ้าไม่เป็นลูกจ้างของท่าน คือไม่เป็นแม้ผู้ทำงานเพื่อสินจ้างของท่าน ข้าพเจ้าจักเทียวพิทักษ์รักษาท่านทุกเวลาด้วยเหตุอะไร?
บทว่า เยน คจฺเฉยฺย ความว่า ข้าแต่ภิกษุ ท่านจะพึงไปสู่สุคติด้วยกรรมอันใด ท่านนั่นแหละพึงรู้.

เทวดา ครั้นให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้ว ก็กลับเข้าสู่วิมานของตน.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ยังฌานให้เกิด แล้วได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.
เทพธิดาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอุบลวรรณาเถรี ในบัดนี้
ส่วนดาบสได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอุปสิงฆปุปผกชาดกที่ ๗
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา อุปสิงฆปุปผกชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270937อรรถกถาชาดก 270944
เล่มที่ 27 ข้อ 944อ่านชาดก 270951อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=4194&Z=4211
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]