ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270818อรรถกถาชาดก 270825
เล่มที่ 27 ข้อ 825อ่านชาดก 270831อ่านชาดก 272519
อรรถกถา กโปตกชาดก
ว่าด้วย โภคะของมนุษย์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุโลภรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อิทานิ โขมฺหิ ดังนี้.
เรื่องภิกษุโลภได้ให้พิสดารแล้ว โดยเรื่องราวมิใช่น้อยเลย.
ส่วนในชาดกนี้ พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้โลภจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ. จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เธอก็เป็นคนโลภมาแล้ว ก็เพราะความเป็นคนโลภ จึงได้ถึงความสิ้นชีวิต แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกพิราบ อยู่ในกระเช้าที่เขาทำเป็นรังนก ในโรงครัวของท่านพาราณสีเศรษฐี. ครั้งนั้น มีกาตัวหนึ่งอยากได้เนื้อปลา จึงกระทำไมตรีกับนกพิราบนั้น ได้อยู่ในกระเช้ารังนั้นเหมือนกัน.
วันหนึ่ง กานั้นเห็นเนื้อปลามากมาย คิดว่าจักกินเนื้อปลานี้ จึงนอนถอนใจอยู่ในกระเช้าที่เป็นรังนั่นแหละ แม้นกพิราบจะกล่าวว่า มาเถอะสหาย พวกเราจักไปหากินกัน ก็กล่าวว่า ฉันมึนเมาเพราะอาหารไม่ย่อย ท่านจงไปเถอะ
เมื่อนกพิราบนั้นไปแล้ว คิดอยู่ว่า เสี้ยนหนามคือศัตรูของเราไปแล้ว บัดนี้ เราจักกินเนื้อปลาได้ตามชอบใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
บัดนี้ เราเป็นสุข ไม่มีโรค นกพิราบผู้เป็นเสี้ยนหนามในหทัย บินไปแล้ว บัดนี้ เราจักกระทำความยินดีแห่งหทัย เพราะเหตุว่าชิ้นเนื้อและแกงจะทำให้เราเกิดกำลัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิปฺปติโต แปลว่า ออกไปแล้ว.
บทว่า กโปโต ได้แก่ นกพิราบ.
บทว่า กาหามิทานิ แปลว่า บัดนี้เราจักกระทำ.
บทว่า ตถา หิ มํ มํสสากํ พเลติ ความว่า เพราะเนื้อและแกงที่เหลือ ย่อมทำกำลังให้แก่เราโดยแท้. อธิบายว่า เนื้อและแกงย่อมทำความอุตสาหะแก่เรา เสมือนจะพูดว่าจงลุกขึ้นกินเถิด.

กานั้น เมื่อพ่อครัวทอดเนื้อปลาแล้วออกไปเช็ดเหงื่อออกจากตัว จึงออกจากกระเช้าแล้ว แอบอยู่ในภาชนะใส่เครื่องปรุงอาหารให้มีรส ภาชนะใส่เครื่องเทศ ทำให้เกิดเสียงดังกริ้กๆ พ่อครัวจึงมาจับกาถอนขนออกหมด แล้วบดขิงสดกับแป้งและเมล็ดผักกาด ขยำกระเทียมเข้ากับเปรียงบูด ทาจนทั่วตัว แล้วเราะกระเบื้องอันหนึ่ง เจาะให้ทะลุร้อยด้ายผูกไว้ที่คอกานั้น ใส่มันเข้าไว้ในรังกระเช้าตามเดิม ได้ไปแล้ว.
นกพิราบกลับมาเห็นดังนั้น เมื่อจะทำการเยาะเย้ยว่า นี่นกยางอะไรมานอนอยู่ในกระเช้าของสหายเรา ก็สหายของเรานั้นดุร้าย กลับมาแล้วจะพึงฆ่าเจ้าเสีย
จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
นี่นกยางอะไรมีหงอน ขี้ขโมยเป็นปู่นก โลดเต้นอยู่ แน่ะนกยาง ท่านจงออกมาข้างนอกเสีย กาผู้เป็นสหายของเราดุร้าย.


คาถานั้นมีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.

กาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
ท่านได้เห็นเรามีขนอันพ่อครัวถอนหมด แล้วทาด้วยแป้งเช่นนี้ ไม่ควรจะหัวเราะเยาะเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลํ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า ปฏิเสธ.
บทว่า ชคฺฆิตาเส*(บาลีว่า ชคฺฆิตาเย) แปลว่า หัวเราะ. ท่านกล่าวอธิบายนี้ไว้ว่า บัดนี้ ท่านเห็นเราได้รับทุกข์เช่นนี้ คืออย่างนี้ ไม่ควรจะหัวเราะ คือท่านอย่ากระทำการหัวเราะเยาะในกาลเช่นนี้.

นกพิราบนั้นกระทำการหัวเราะอยู่นั่นแล จึงกล่าวคาถาที่ ๔ อีกว่า :-
ท่านอาบดีแล้ว ลูบไล้ดีแล้ว เอิบอิ่มไปด้วยข้าวและน้ำ และมีแก้วไพฑูรย์อยู่ที่คอ ได้ไปกชังคละประเทศมาหรือ.


บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า กณฺเฐ จ เต เวฬุริโย นี้ นกพิราบหมายเอากระเบื้องนั่นแหละ กล่าวว่า แม้แก้วไพฑูรย์ของท่านนี้ ก็ประดับอยู่ที่คอ ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ท่านไม่แสดงแก้วไพฑูรย์นี้แก่เราเลย.
ด้วยบทว่า กชงฺคลํ นี้ เมืองพาราณสีเท่านั้น ท่านประสงค์เอาว่า กชังคละประเทศ ในที่นี้ นกพิราบถามว่า ท่านออกจากที่นี้ไป ได้ไปยังภายในเมืองมาหรือ?

ลำดับนั้น กาจึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-
คนผู้เป็นมิตรหรือเป็นศัตรูของท่านก็ตาม อย่าได้ไปกชังคละประเทศเลย เพราะในกชังคละประเทศนั้น คนทั้งหลายถอนขนของเราออกแล้วผูกกระเบื้องกลมไว้ที่คอ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิญฺชานิ ได้แก่ ขนหางทั้งหลาย.
บทว่า ตตฺถ ลายิตฺวา ความว่า ในนครพาราณสีนั้น ชนทั้งหลายถอน.
บทว่า วฏฺฏนํ ได้แก่ กระเบื้อง.

นกพิราบได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า:-
แน่ะสหาย ท่านจะประสบสภาพเห็นปานนี้อีก เพราะปกติของท่านเป็นเช่นนี้ ธรรมดาของบริโภคของมนุษย์ ไม่เป็นของที่พวกนกจะกินได้ง่ายเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุนปาปชฺชสี ความว่า ท่านจักถึงสภาพเห็นปานนี้แม้อีก เพราะปกติของท่านเห็นปานนี้.

นกพิราบนั้นโอวาทกานั้น ด้วยประการดังนี้แล้วก็ไม่อยู่ในที่นั้น ได้กางปีกบินไปที่อื่นแล้ว. ฝ่ายกาก็ถึงความสิ้นชีวิตอยู่ในที่นั้นนั่นเอง.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งสี่ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้โลภได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล.
กาในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุผู้โลภ ในบัดนี้
ส่วนนกพิราบในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากโปตกชาดกที่ ๕

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ทีฆีตีโกสลชาดก ว่าด้วย เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร
๒. มิคโปตกชาดก ว่าด้วย คำพูดที่ทำให้หายเศร้าโศก
๓. มูสิกชาดก ว่าด้วย ควรเรียนทุกอย่างแต่ไม่ควรใช้ทุกอย่าง
๔. จุลลธนุคคหชาดก ว่าด้วย จุลลธนุคคหบัณฑิต
๕. กโปตกชาดก ว่าด้วย โภคะของมนุษย์
จบ อัฑฒวรรฒที่ ๓

รวมวรรคที่มีในปัญจกนิบาตนี้ คือ
๑. มณิกุณฑลวรรค
๒. วรรณาโรหวรรค
๓. อัฑฒวรรค.
จบ อรรถกถาปัญจกนิบาต
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา กโปตกชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270818อรรถกถาชาดก 270825
เล่มที่ 27 ข้อ 825อ่านชาดก 270831อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=3796&Z=3824
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]