ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270773อรรถกถาชาดก 270778
เล่มที่ 27 ข้อ 778อ่านชาดก 270783อ่านชาดก 272519
อรรถกถา คุมพิยชาดก
ว่าด้วย เปรียบวัตถุกามเหมือนยาพิษ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึก จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า มธุวณฺณํ มธุรสํ ดังนี้.
ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอกระสันจะสึกจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า. จึงตรัสถามว่า เพราะเห็นอะไร? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า เพราะเห็นมาตุคามผู้ประดับแต่งตัว พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่าเบญจกามคุณเหล่านั้น เป็นเสมือนน้ำผึ้งที่ยักษ์ชื่อว่าคุมพิยะ ตนหนึ่งใส่น้ำผึ้งวางไว้ที่หนทาง อันภิกษุนั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลสัตถวาหะคือพ่อค้าเกวียน พอเจริญวัย จึงเอาเกวียน ๕๐๐ เล่ม บรรทุกสินค้าจากเมืองพาราณสีไปเพื่อค้าขาย บรรลุถึงประตูดงชื่อมหาวัตตนี จึงให้พวกเกวียนประชุมกันแล้วให้โอวาทว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ในหนทางนี้ มีใบไม้ดอกไม้และผลไม้เป็นต้นมีพิษ ท่านทั้งหลายเมื่อจะกินอะไรที่ไม่เคยกิน ยังไม่ได้ถามข้าพเจ้า อย่าเพิ่งกิน แม้พวกอมนุษย์ก็จะใส่ยาพิษวางห่อภัตชิ้นน้ำอ้อย และผลไม้เป็นต้นไว้ในหนทาง พวกท่านยังไม่ได้ถามข้าพเจ้า จงอย่ากินห่อภัตเป็นต้นแม้เหล่านั้น ดังนี้แล้วก็เดินทางไป.
ครั้งนั้น ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าคุมพิยะลาดใบไม้วางก้อนน้ำอ้อย ผสมยาพิษอย่างแรงไว้ในหนทาง ในที่ท่ามกลางดง. ส่วนตนเองเที่ยวเคาะต้นไม้ในที่ใกล้ทางทำที่หาน้ำผึ้งอยู่. พวกคนที่ไม่รู้คิดว่า เขาคงจะวางไว้เพื่อต้องการบุญ จึงกินเข้าไปแล้วก็ถึงแก่ความสิ้นชีวิต. พวกอมนุษย์จึงพากันมากินคนเหล่านั้น แม้มนุษย์ชาวเกวียนของพระโพธิสัตว์เห็นสิ่งของเหล่านั้น บางพวกมีสันดานละโมบ ไม่อาจอดกลั้นได้ก็กินเข้าไป พวกที่มีชาติกำเนิดเป็นคนฉลาดคิดว่า จักถามก่อนแล้วจึงจะกิน จึงได้ถือเอาไปแล้วยืนอยู่.
พระโพธิสัตว์เห็นชนเหล่านั้นแล้วจึงให้ทิ้งสิ่งของที่อยู่ในมือเสีย. คนเหล่าใดกินเข้าไปก่อนแล้ว คนเหล่านั้นก็ตายไป คนเหล่าใดกินเข้าไปครึ่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์จึงให้ยาสำรอกแก่คนเหล่านั้นแล้วได้ให้รสหวานสี่อย่าง ในเวลาที่สำรอกออกแล้ว ดังนั้น ชนเหล่านั้นจึงได้รอดชีวิตด้วยอานุภาพของพระโพธิสัตว์นั้น
พระโพธิสัตว์ไปถึงที่ที่ปรารถนาโดยปลอดภัย แล้วจำหน่ายสินค้า ได้กลับมายังเรือนของตนตามเดิม.
พระศาสดาเมื่อจะตรัสเนื้อความนั้น จึงได้ตรัสอภิสัมพุทธคาถา คือคาถาที่ตรัสในเวลาที่ได้ตรัสรู้แล้วเหล่านี้ว่า :-
ยักษ์ชื่อคุมพิยะเที่ยวหาเหยื่อของตนอยู่ ได้วางยาพิษอันมีสี กลิ่นและรสเหมือนน้ำผึ้งไว้ในป่า.
สัตว์เหล่าใด มาสำคัญว่าน้ำผึ้ง กินยาพิษนั้นเข้าไป ยาพิษนั้นเป็นของร้ายแรงแก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นต้องพากันเข้าถึงความตาย เพราะยาพิษนั้น.
ส่วนสัตว์เหล่าใด พิจารณาดูรู้ว่าเป็นยาพิษแล้วละเว้นเสีย สัตว์เหล่านั้น เมื่อสัตว์ที่บริโภคยาพิษเข้าไปกระสับกระส่ายอยู่ ถูกยาพิษแผดเผาอยู่ ตัวเองก็เป็นผู้มีความสุข ดับความทุกข์ได้เสีย.
วัตถุกามทั้งหลายฝังอยู่ในมนุษย์ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นยาพิษ เหมือนยาพิษอันยักษ์วางไว้ที่หนทางฉะนั้น กามคุณนี้นับว่าเป็นเหยื่อของสัตว์โลก และนับว่าเป็นเครื่องผูกมัดสัตวโลกไว้ มฤตยูมีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย.
บัณฑิตเหล่าใดผู้มีความร้อนใจ ย่อมละเว้นกามคุณเหล่านี้ อันเป็นเครื่องบำรุงปรุงกิเลสเสียได้ในกาลทุกเมื่อ บัณฑิตเหล่านั้นนับว่า ได้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องในโลกแล้ว เหมือนกับผู้ละเว้นยาพิษที่ยักษ์วางไว้ในหนทางใหญ่ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คุมฺพิโย ได้แก่ ยักษ์ผู้ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะเที่ยวไปในพุ่มไม้ในป่านั้น.
บทว่า ฆาสเมสาโน ได้แก่ ผู้แสวงหาเหยื่อของตนอยู่อย่างนี้ว่า เราจักกินคนที่กินยาพิษนั้นตาย.
บทว่า โอทหี ความว่า วางยาพิษนั้นอันมีสี กลิ่น และรส เสมอด้วยน้ำผึ้ง.
บทว่า กฏุกํ อาสิ ความว่า ได้เป็นยาพิษร้ายแรง.
บทว่า มรณํ เตนุปาคมุํ ความว่า สัตว์เหล่านั้นเข้าถึงความตายเพราะยาพิษนั้น.
บทว่า อาตุเรสุ ได้แก่ ผู้จวนจะตายเพราะกำลังยาพิษ.
บทว่า ทยฺหมาเนสุ ได้แก่ ผู้อันเดชของยาพิษนั้นแหละแผดเผาอยู่.
บทว่า วิสกามา สโมหิตา ความว่า แม้ในจำพวกมนุษย์ วัตตุกาม ๕ มีรูปเป็นต้นนี้นั้นแหละ ฝัง คือวางอยู่ในที่นั้นๆ วัตถุกาม ๕ นั้นพึงทราบว่าเป็นยาพิษ เหมือนยาพิษที่ยักษ์ฝัง คือวางไว้ในหนทางใหญ่ในดงวัตตทีนั้น ฉะนั้น.
บทว่า อามิสํ พนฺธนญฺเจตํ ความว่า ธรรมดาว่า กามคุณห้านี้ ชื่อว่าเป็นเหยื่ออันนายพรานเบ็ด คือมารใส่ล่อชาวโลกผู้เป็นสัตว์ที่มีอันจะต้องตายเป็นสภาวะนี้ และชื่อว่าเป็นเครื่องจองจำมีประการต่างๆ มีชื่อเป็นต้นเป็นประเภท เพราะไม่ยอมให้ออกไปจากภพน้อยภพใหญ่ ด้วยประการอย่างนี้.
บทว่า มจฺจุวโส คุหาสโย ความว่า ความตายชื่อว่ามัจจุวสะ เพราะมีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่.
บทว่า เอวเมว อิเม กาเม ได้แก่ กามเหล่านี้ที่ฝังอยู่ในร่างกายนั้นๆ เหมือนยาพิษที่ยักษ์วางไว้ในหนทางใหญ่ในดงชื่อว่าวัตตนี ฉะนั้น.
บทว่า อาตุรา ความว่า มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตใกล้จะตาย ชื่อว่าผู้ร้อนใจกระสับกระส่าย เพราะมีความตายโดยแท้.
บทว่า ปริจาริเก ได้แก่ บำเรอกิเลส คือผูกมัดกิเลสไว้.
บทว่า เย สทา ปริวชฺชนฺติ ความว่า มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตเหล่าใดผู้มีประการดังกล่าวแล้ว งดเว้นกามทั้งหลายเห็นปานนี้ ได้เป็นนิจ.
บทว่า สงฺคํ โลเก ได้แก่ กิเลสชาตชนิดราคะเป็นต้น ซึ่งได้นามว่าเครื่องข้อง เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก.
บทว่า อุปจฺจคา ความว่า บัณฑิตเหล่านั้นพึงทราบว่า ชื่อว่าผู้ล่วงไปได้แล้ว. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ย่อมก้าวล่วงไป.

พระศาสดา ครั้นทรงประกาศสัจจะแล้ว จึงทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันจะสึกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
พ่อค้าเกวียนในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาคุมพิยชาดกที่ ๖
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา คุมพิยชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270773อรรถกถาชาดก 270778
เล่มที่ 27 ข้อ 778อ่านชาดก 270783อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=3630&Z=3648
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]