ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270534อรรถกถาชาดก 270538
เล่มที่ 27 ข้อ 538อ่านชาดก 270542อ่านชาดก 272519
อรรถกถา สัยหชาดก
ว่าด้วย การแสวงหาที่ประเสริฐ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึก จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สสมุทฺทปริสาสํ ดังนี้
ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถี เห็นหญิงตกแต่งประดับประดามีรูปร่างงดงามคนหนึ่ง เป็นผู้กระสันอยากสึก ไม่ยินดีในพระศาสนา.
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพากันแสดงภิกษุนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุนั้นถูกพระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้กระสันอยากสึกจริงหรือ? จึงกราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า. เมื่อพระศาสดาตรัสว่า ใครทำให้เธอกระสันอยากสึก จึงกราบทูลเนื้อความนั้น.
พระศาสดาตรัสว่า เธอบวชในศาสนา อันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เพราะเหตุไร จึงกระสันอยากสึก บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน แม้จะได้ตำแหน่งปุโรหิตก็ยังปฏิเสธตำแหน่งนั้นแล้วไปบวช.
ครั้นตรัสแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในท้องนางพราหมณีของปุโรหิต คลอดในวันเดียวกันกับพระโอรสของพระราชา. พระราชาตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า ใครๆ ผู้เกิดในวันเดียวกันกับโอรสของเรา มีอยู่หรือหนอ? อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช มีพระเจ้าข้า คือบุตรของปุโรหิต. พระราชาจึงทรงสั่งเอาบุตรของปุโรหิตนั้นมามอบให้แม่นมทั้งหลาย ให้ประคบประหงมร่วมกันกับพระราชโอรส. เครื่องประดับและเครื่องดื่ม เครื่องบริโภคของกุมารแม้ทั้งสอง ได้เป็นเช่นเดียวกันทีเดียว.
พระราชกุมารและกุมารเหล่านั้นเจริญวัย แล้วไปเมืองตักกสิลาเรียนศิลปะทั้งปวงร่วมกันแล้วกลับมา. พระราชาได้พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรส พระโพธิสัตว์ได้มียศยิ่งใหญ่ จำเดิมแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์กับพระราชโอรสก็กินร่วมกัน ดื่มร่วมกันนอนร่วมกัน ความวิสาสะคุ้นเคยกันและกันได้มั่นคงแน่นแฟ้น.
ในกาลต่อมา เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระราชโอรสได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ทรงเสวยสมบัติใหญ่.
พระโพธิสัตว์คิดว่า สหายของเราได้ครองราชย์ ก็ในขณะที่ทรงกำหนดตำแหน่งนั่นแหละ คงจักพระราชทานตำแหน่งปุโรหิตแก่เรา เราจะประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน เราจักบวชพอกพูนความวิเวก พระโพธิสัตว์นั้นไหว้บิดามารดาให้อนุญาตการบรรพชาแล้ว สละสมบัติใหญ่ ผู้เดียวเท่านั้นออกไปหิมวันตประเทศ สร้างบรรณศาลาอยู่ในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ บวชเป็นฤาษี ทำอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดแล้วเล่นฌานอยู่.
ในกาลนั้น พระราชาหวนระลึกถึงพระโพธิสัตว์นั้นจึงถามว่า สหายของเราไม่ปรากฎเขาไปไหนเสีย. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลถึงความที่พระโพธิสัตว์นั้นบวชแล้วกราบทูลว่า ได้ยินว่า สหายของพระองค์อยู่ในไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์.
พระราชาตรัสถามตำแหน่งแห่งที่อยู่ของพระโพธิสัตว์นั้นแล้วตรัสกะสัยหอำมาตย์ ท่านจงมา จงพาสหายของเรามา เราจักให้ตำแหน่งปุโรหิตแก่สหายของเรานั้น.
สัยหอำมาตย์นั้นรับพระดำรัสแล้วออกจากนครพาราณสีถึงปัจจันตคามโดยลำดับ แล้วตั้งค่าย ณ บ้านปัจจันตคามนั้น แล้วไปยังสถานที่อยู่ของพระโพธิสัตว์พร้อมกับพวกพรานป่า เห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่ประตูบรรณศาลา เหมือนรูปทองจึงไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กระทำปฏิสันถาร แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พระราชามีพระประสงค์จะพระราชทานตำแหน่งปุโรหิตแก่ท่าน ทรงหวังให้ท่านกลับมา.
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ตำแหน่งปุโรหิตจงพักไว้ก่อน เราแม้จะได้ราชสมบัติในแคว้นกาสี โกศล และชมพูทวีปทั้งสิ้น หรือเฉพาะสิริแห่งพระเจ้าจักรพรรดิก็ตาม ก็จักไม่ปรารถนา ก็บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่กลับถือเอากิเลสทั้งหลาย ซึ่งละแล้วครั้งเดียวอีก เพราะสิ่งที่ละทิ้งไปแล้วครั้งเดียวเป็นเช่นกับก้อนเขฬะที่ถ่มไปแล้ว
จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
บัณฑิตไม่พึงปรารถนาพื้นแผ่นดิน มีสัณฐานดุจกุณฑลท่ามกลางสาคร มีมหาสมุทรล้อมอยู่โดยรอบ พร้อมด้วยการนินทา ดูก่อนสัยหะอำมาตย์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด.
ดูก่อนพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ การได้ทรัพย์ และการเลี้ยงชีพด้วยการทำตนให้ตกต่ำ หรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม.
ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิต ถือบาตรเที่ยวภิกขาจาร ความเลี้ยงชีวิตนั้นนั่นแหละประเสริฐกว่า การแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมจะประเสริฐกว่าอะไร
ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิต ถือบาตรเที่ยวภิกขาจาร ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก นั้นประเสริฐกว่าราชสมบัติเสียอีก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สสมุทฺทปริสาสํ ความว่า บริวาร ท่านเรียกว่า ปริสาสะ. แม้กับบริวารกล่าวคือสมุทร พร้อมด้วยภูเขาจักรวาล ซึ่งตั้งล้อมสมุทร.
บทว่า สาครกุณฺฑลํ ความว่า เป็นดังกุณฑลคือต่างหูของสาครนั้น เพราะตั้งอยู่โดยเป็นเกาะในท่ามกลางสาคร.
บทว่า นินฺทายได้แก่ ด้วยการนินทาดังนี้ว่า ละทิ้งการบวชอันสมบูรณ์ด้วยสุขในฌานแล้วถือเอาอิสริยยศ. พระโพธิสัตว์เรียกอำมาตย์นั้นโดยชื่อว่า สัยหะ.
บทว่า วิชานาหิ แปลว่า ท่านจงรู้ธรรม.
บทว่า ยา วุตฺติ วินิปาเตน ความว่า การได้ยศ การได้ทรัพย์ และการเลี้ยงชีพอันใดที่เราได้ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง ย่อมมีได้ด้วยการทำตนให้ตกต่ำ กล่าวคือการยังตนให้ตกไปจากความสุขในฌาน หรือด้วยการไปจากที่นี้แล้ว ประพฤติไม่เป็นธรรมแห่งเราผู้มัวเมาด้วยความมัวเมาในยศ เราติเตียนความเลี้ยงชีพนั้น.
บทว่า ปตฺตมาทาย ได้แก่ ถือภาชนะเพื่อภิกษา. บทว่า อนาคาโร ความว่า เราเป็นผู้เว้นจากเรือน เที่ยวไปในตระกูลของคนอื่น. บทว่า สาเอว ชีวิกา ความว่า ความเป็นอยู่ของเรานั้นนั่นแหละ ประเสริฐกว่า คือเลิศกว่า. บทว่า ยา จาธมฺเมน ได้แก่ และการแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมอันใด. ท่านกล่าวอธิบายว่า ความเป็นอยู่นี้นั่นแลดีกว่าการแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมนั้น. บทว่า อหึสยํ แปลว่า ไม่เบียดเบียน. บทว่า อปิ รชฺเชน ความว่า เราถือกระเบื้องสำเร็จการเลี้ยงชีพโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างนี้ ประเสริฐคือสูงสุด แม้กว่าความเป็นพระราชา.

พระโพธิสัตว์นั้นห้ามปรามสัยหะอำมาตย์แม้ผู้จะอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายสัยหะอำมาตย์ ครั้นไม่ได้ความตกลงปลงใจของพระโพธิสัตว์ จึงไหว้พระโพธิสัตว์แล้ว ไปกราบทูลแก่พระราชาถึงความที่พระโพธิสัตว์นั้นไม่กลับมา.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย แล้วประชุมชาดก
ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันจะสึก ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ชนเป็นอันมากแม้อื่นอีกได้กระทำให้แจ้งโสดาปัตติผลเป็นต้น.
พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์
สัยหะอำมาตย์ในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร
ส่วนบุตรของปุโรหิตในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


จบ อรรถกถาสัยหชาดกที่ ๑๐

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จุลลกาลิงคชาดก ว่าด้วย เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้
๒. มหาอัสสาโรหชาดก ว่าด้วย การทำความดีไว้ในปางก่อน
๓. เอกราชชาดก ว่าด้วย คุณธรรมคือขันติและตบะ
๔. ทัททรชาดก ว่าด้วย ไม่ควรถือตัวในที่ที่เขาไม่รู้จัก
๕. สีลวีมังสชาดก ว่าด้วย ความลับไม่มีในโลก
๖. สุชาตาชาดก ว่าด้วย ได้รับโทษเพราะประมาท
๗. ปลาสชาดก ว่าด้วย ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ที่โคนไม้
๘. ชวสกุณชาดก ว่าด้วย ผู้ไม่มีกตัญญูไม่ควรคบ
๙. ฉวชาดก ว่าด้วย การนั่งที่ไม่สมควร
๑๐. สัยหชาดก ว่าด้วย การแสวงหาที่ประเสริฐ

จบ กาลิงควรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา สัยหชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270534อรรถกถาชาดก 270538
เล่มที่ 27 ข้อ 538อ่านชาดก 270542อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=2741&Z=2762
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]