ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270327อรรถกถาชาดก 270329
เล่มที่ 27 ข้อ 329อ่านชาดก 270332อ่านชาดก 272519
อรรถกถา มหาปิงคลชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าปิงคละผู้ร้ายกาจ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สพฺโพ ชโน ดังนี้.
เมื่อพระเทวทัตผูกอาฆาตพระศาสดา จมลงไปในแผ่นดิน ใกล้ซุ้มพระทวารพระเชตวันมหาวิหาร ล่วงไปได้เก้าเดือน ชาวกรุงสาวัตถีและชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้น ต่างร่าเริงยินดีว่า พระเทวทัตผู้เป็นเสี้ยนหนามของพระพุทธองค์ ถูกแผ่นดินสูบแล้ว บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำจัดศัตรูได้แล้ว ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นและหมู่ยักษ์ ภูตและเทวดาทั้งหลาย ต่างก็พากันรื่นเริงยินดี กล่าวกันอย่างนั้นเหมือนกัน.
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เมื่อพระเทวทัตจมลงในแผ่นดิน มหาชนต่างก็ดีใจว่า พระเทวทัตผู้เป็นเสี้ยนหนามของพระพุทธองค์ถูกแผ่นดินสูบแล้ว. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวทัตตาย มหาชนยินดี ร่าเริง มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนมหาชนก็ยินดี ร่าเริงเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่ามหาปิงคละ เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีโดยอธรรม ไม่เรียบร้อย ทำบาปกรรมด้วยอคติมีฉันทาคติเป็นต้น รีดนาทาเร้นมหาชนด้วยอาชญา ภาษีอากรริบเงินทองเป็นต้น ดุจท่อนอ้อยที่เครื่องยนต์หีบอ้อยฉะนั้น. พระเจ้ามหาปิงคละนั้นเป็นผู้กักขฬะหยาบช้าหุนหัน ไม่มีแม้แต่เพียงความเอ็นดูในผู้อื่นเลย ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของพวกสตรี บุตรธิดาในพระราชวัง แม้ของอำมาตย์ พราหมณ์และคหบดีเป็นต้น เปรียบเหมือนธุลีเข้าตา เหมือนกรวดที่ก้อนข้าว และเหมือนหนามที่ตำส้นเท้าฉะนั้น.
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโอรสของพระเจ้ามหาปิงคละ พระเจ้ามหาปิงคละเสวยราชสมบัติมานานแล้ว ก็เสด็จสวรรคต. เมื่อพระเจ้าปิงคละเสด็จสวรรคตแล้ว ชาวกรุงพาราณสีทั้งสิ้นก็ร่าเริงยินดี ยิ้มแย้มแจ่มใสกันยกใหญ่ เผาศพพระเจ้ามหาปิงคละด้วยฟืนพันเล่มเกวียน ดับเชิงตะกอนด้วยน้ำหลายพันหม้อ แล้วอภิเษกพระโพธิสัตว์ขึ้นครองราชย์ ต่างก็ร่าเริงยินดีว่า เราได้พระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว เที่ยวตีกลอง แห่กันครึกครื้น ตกแต่งพระนครด้วยธงทิวต่างๆ ทำปะรำตามประตูบ้านทุกประตู นั่งกินเลี้ยงกันที่ปะรำอันได้ตกแต่งแล้ว มีพื้นโปรยปรายด้วยข้าวตอกและดอกไม้.
แม้พระโพธิสัตว์ก็ประทับนั่งทรงยศอันยิ่งใหญ่ ท่ามกลางบัลลังก์ซึ่งกั้นด้วยเศวตฉัตร ณ ท้องพระโรงอันประดับประดาแล้ว. พวกอำมาตย์ พราหมณ์ คหบดีและเจ้าพนักงานและยามประตูเป็นต้น ต่างก็ยืนแวดล้อมพระราชาอยู่.
ลำดับนั้น มียามประตูนายหนึ่งยืนอยู่ในที่ไม่ไกล ได้ถอนใจสะอื้นร้องไห้อยู่. พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นยามประตูนั้น จึงถามว่า ดูก่อนยามประตู เมื่อพระบิดาของเราสวรรคตแล้ว ชนทั้งปวงต่างก็ร่าเริงยินดี เที่ยวเล่นมหรสพกัน ส่วนท่านกลับยืนร้องไห้ เมื่อจะตรัสถามว่า พระบิดาของเราเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของท่านนักหรือ
จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
ชนทั้งปวงถูกพระเจ้าปิงคละเบียดเบียนแล้ว เมื่อพระเจ้าปิงคละนั้นสวรรคตแล้ว ชนทั้งหลายต่างก็พากันยินดี ดูก่อนนายประตูพระเจ้าปิงคละผู้ไม่มีพระเนตรดำ เป็นที่รักของท่านหรือ เพราะเหตุไร ท่านจึงร้องไห้.


ในบทเหล่านั้น บทว่า หึสิโต ได้แก่ ถูกเบียดเบียนด้วยอาชญาและภาษีอากรนานาประการ.
บทว่า ปิงฺคเลน แปลว่า มีตาเหลือง นัยว่าพระเจ้าปิงคละนั้นมีพระเนตรทั้งสองข้างเหลือง มีสีเหมือนตานกพิราบ จึงมีชื่อว่า ปิงคละ.
บทว่า ปจฺจยํ เวทยนฺติ คือ พากันยินดี.
บทว่า อกณฺหเนตฺโต คือ มีพระเนตรเหลือง.
บทว่า กสฺมา น ตฺวํ คือ ท่านร้องไห้ทำไม.

นายประตูนั้นฟังคำพระโพธิสัตว์ จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้ เพราะพระเจ้ามหาปิงคละสวรรคต แต่ร้องไห้เพราะเกรงว่า ศีรษะของข้าพระองค์เป็นสุขแล้ว เพราะพระเจ้าปิงคละเมื่อเสด็จลงและเสด็จขึ้นปราสาท ทรงเขกศีรษะข้าพระองค์เที่ยวละแปด เที่ยวละแปด ดุจเคาะด้วยค้อนของช้างทองฉะนั้น พระองค์เสด็จไปสู่ปรโลกแล้ว จะเขกศีรษะพวกนายนิรยบาลบ้าง พญายมบ้าง เหมือนกับเขกศีรษะข้าพระองค์ ทีนั้น พวกนายนิรยบาลคิดว่า พระเจ้าปิงคละนี้เบียดเบียนพวกเรานัก จักนำมาปล่อยคืนที่นี้อีก เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ก็จะพึงเขกศีรษะข้าพระองค์อีก
เมื่อจะประกาศความนี้ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
พระเจ้าปิงคละผู้ไม่มีพระเนตรดำ จะเป็นที่รักของข้าพระพุทธเจ้า ก็หามิได้ แต่ข้าพระพุทธเจ้ากลัวว่า พระเจ้าปิงคละนั้นจะกลับมาอีก


ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะตรัสปลอบใจนายประตูผู้นั้นว่า พระราชาพระองค์นั้นถูกเผาด้วยฟืนพันเล่มเกวียน ถูกเอาน้ำรดตั้งร้อยหม้อ แม้บริเวณป่าช้าของพระราชานั้นก็ล้อมรั้วรอบแล้ว และตามปกติผู้ไปสู่ปรโลกแล้วก็ไปที่อื่นทีเดียว เขาจะไม่กลับมาด้วยร่างกายนั้นอีก ท่านอย่ากลัวเลย.
จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
พระเจ้าปิงคละนั้น พวกเราช่วยกันเผาแล้วด้วยฟืนพันเล่มเกวียน รดด้วยน้ำหลายร้อยหม้อ พื้นที่ดินนั้นเราป้องกันไว้อย่างดีแล้ว ท่านอย่ากลัวเลย พระเจ้าปิงคละจักไม่เสด็จกลับมาอีก.


ตั้งแต่นั้น นายประตูก็ได้รับความโล่งใจ พระโพธิสัตว์เสวยราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น แล้วก็เสด็จไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
พระเจ้าปิงคละในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้
ส่วนพระโอรส คือ เราตถาคต นี้แล.

จบ อรรถกถามหาปิงคลชาดกที่ ๑๐
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
-----------------------------------------------------

๑. อุปาหนชาดก ว่าด้วย อนารยชนย่อมใช้ศิลปะในทางผิด
๒. วีณาถูณชาดก ว่าด้วย รักคนผิด
๓. วิกัณณกชาดก ว่าด้วย คนเห็นแก่อามิสย่อมเดือดร้อน
๔. อสิตาภุชาดก ว่าด้วย โลภมากลาภหาย
๕. วัจฉนขชาดก ว่าด้วย ดาบสผู้มีเล็บงาม
๖. พกชาดก ว่าด้วย นกเจ้าเล่ห์
๗. สาเกตชาดก ว่าด้วย เหตุให้เกิดความรัก
๘. เอกปทชาดก ว่าด้วย ความเพียรทำให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง
๙. หริตมาตชาดก ว่าด้วย ผู้มีอิสรภาพ
๑๐. มหาปิงคลชาดก ว่าด้วย พระเจ้าปิงคละผู้ร้ายกาจ

จบ อุปาหนวรรคที่ ๙
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา มหาปิงคลชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270327อรรถกถาชาดก 270329
เล่มที่ 27 ข้อ 329อ่านชาดก 270332อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=1865&Z=1886
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๐  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]