ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270257อรรถกถาชาดก 270259
เล่มที่ 27 ข้อ 259อ่านชาดก 270261อ่านชาดก 272519
อรรถกถา คังเคยยชาดก
ว่าด้วย ผู้ชอบโอ้อวด

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นสหายสองรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โสภนฺติ มจฺฉา คงฺเคยฺยา ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุทั้งสองนั้นเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี บวชในศาสนาแล้ว มิได้บำเพ็ญอสุภภาวนา ชอบสรรเสริญรูป เที่ยวพร่ำเพ้อแต่เรื่องรูป.
วันหนึ่ง ภิกษุทั้งสองนั้นเกิดทุ่มเถียงกันเรื่องรูปว่า ท่านงาม เราก็งาม เห็นพระเถระแก่รูปหนึ่งนั่งอยู่ไม่ไกล พูดว่า พระเถระรูปนี้จักรู้ว่าเรางามหรือไม่งาม จึงเข้าไปหาท่านถามว่า ท่านขอรับ ผมทั้งสองนี้ใครงาม. พระเถระตอบว่า เรานี้แหละงามกว่าพวกท่าน. ภิกษุหนุ่มทั้งสองรูปคิดว่า หลวงตาแก่รูปนี้ไม่ตอบคำที่เราถาม กลับตอบคำที่เราไม่ได้ถาม จึงบริภาษแล้วหลีกไป.
กิริยาของภิกษุสองรูปนั้นได้ปรากฏในหมู่สงฆ์.
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ได้ข่าวว่า พระเถระผู้เฒ่าได้ทำให้ภิกษุหนุ่มอวดรูปโฉมทั้งสองนั้นได้อาย. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหนุ่มสองรูปนี้ มิใช่ยกยอรูปแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เธอทั้งสองก็เที่ยวพร่ำเพ้อรูปเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาอยู่ที่ฝั่งคงคา. ครั้งนั้น มีปลาสองตัวอยู่แม่น้ำคงคาตัวหนึ่ง อยู่แม่น้ำยมุนาตัวหนึ่ง ทุ่มเถียงกันเรื่องรูป ณ ที่แม่น้ำคงคาและยมุนามาบรรจบกันว่า เรางาม ท่านซิไม่งาม เห็นเต่าเกาะอยู่ที่แม่น้ำคงคา ไม่ไกลจากที่นั้นเท่าไร คิดกันว่า เต่านี้คงจักรู้ว่า พวกเรางามหรือไม่งาม จึงเข้าไปหาเต่านั้น แล้วถามว่า เต่าผู้เป็นสหาย ปลาตัวที่อยู่แม่น้ำคงคางาม หรือปลาตัวที่อยู่แม่น้ำยมุนางาม. เต่าตอบว่า ปลาตัวที่อยู่แม่น้ำคงคาก็งาม ตัวที่อยู่แม่น้ำยมุนาก็งาม แต่เรางามยิ่งกว่าเจ้าทั้งสองเสียอีก.
เมื่อจะประกาศความนี้ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
ปลาชื่อคังเคยยะก็งาม และปลาชื่อว่ายมุนาก็งาม แต่บุรุษ ๔ เท้ามีปริมณฑลเพียงดังต้นไทร มีคอยาวหน่อยหนึ่งผู้นี้ ย่อมรุ่งเรืองกว่าใครทั้งหมด.


ในบทเหล่านั้น บทว่า จตุปฺปทายํ พระเถระกล่าวหมายถึงตัวท่านเองว่า บุรุษผู้นี้มี ๔ เท้า.
บทว่า นิโคฺรธปริมณฺฑโล คือ มีปริมณฑลเพียงดังต้นไทรที่เกิดดีแล้ว.
บทว่า อีสกายตคีโว คือ มีคอยาวดุจงอนรถ.
บทว่า สพฺเพว อติโรจติ ความว่า เต่าผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรงกล่าวว่า ผู้นี้ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าใครทั้งหมด คือเรานี่แหละงามเกินพวกท่านทั้งหมด.

ปลาฟังคำเต่าแล้วกล่าวว่า เจ้าเต่าชั่วพ่อตัวดี เจ้าไม่ตอบคำที่เราถาม กลับไปตอบเป็นอย่างอื่นเสียนี่
แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ท่านไม่บอกเหตุที่เราถาม เราถามอย่างหนึ่ง ท่านบอกเสียอย่างหนึ่ง คนสรรเสริญตนเองนี้ ไม่ชอบใจเราเลย.


ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตปฺปสํสโก ได้แก่ คนชอบสรรเสริญตัวเอง คือยกย่องตัวเอง.
บทว่า นายํ อสฺมาก รุจฺจติ ความว่า เต่าชั่วตัวนี้ไม่ชอบใจ คือไม่พอใจเราเลย.

ปลาทั้งสองตัวพ่นน้ำใส่เต่าแล้ว ก็ได้ไปยังที่อยู่ของตนตามเดิม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
ปลาสองตัวในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุหนุ่มสองรูป ในครั้งนี้
เต่าได้เป็นภิกษุแก่
ส่วนรุกขเทวดาผู้เกิดที่ฝั่งคงคาผู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด คือ เราตถาคต นี้แล.

จบอรรถกถาคังเคยยชาดกที่ ๕
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา คังเคยยชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270257อรรถกถาชาดก 270259
เล่มที่ 27 ข้อ 259อ่านชาดก 270261อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=1536&Z=1543
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]