ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270217อรรถกถาชาดก 270219
เล่มที่ 27 ข้อ 219อ่านชาดก 270221อ่านชาดก 272519
อรรถกถา อนภิรติชาดก
จิตขุ่นมัว-ไม่ขุ่นมัว

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกุมารพราหมณ์คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยโถทเก อาวิเล อปฺปสนฺเน ดังนี้.
ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี มีกุมารพราหมณ์คนหนึ่งเรียนจบไตรเพท สอนมนต์พวกกุมารกษัตริย์และกุมารพราหมณ์เป็นอันมาก. ต่อมาเขาอยู่ครอบครองเรือน ตกอยู่ในอำนาจราคะ โทสะ โมหะ คิดแต่เรื่องผ้า เครื่องประดับ ทาส ทาสี นา สวน โค กระบือ บุตรและภรรยาเป็นต้น จึงมีจิตขุ่นมัว ไม่อาจสอบทานมนต์โดยลำดับได้ มนต์ทั้งหลายเลอะเลือนไปทั้งข้างหน้าข้างหลัง.
วันหนึ่ง เขาถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นหลายอย่างไปพระเชตวัน บูชาพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนหนึ่ง. พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเขา แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนมาณพ เธอยังสอนมนต์อยู่หรือ มนต์ของเธอยังคล่องอยู่หรือ. กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เมื่อก่อนมนต์ของข้าพระองค์ยังคล่องดีอยู่ ตั้งแต่ข้าพระองค์ครองฆราวาส จิตของข้าพระองค์ขุ่นมัว ด้วยเหตุนั้น มนต์ของข้าพระองค์จึงไม่คล่องแคล่ว.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ดูก่อนมาณพ มิใช่แต่เวลานี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน มนต์ของเธอคล่องแคล่ว ในเวลาจิตของเธอไม่ขุ่นมัว แต่ในเวลาที่จิตขุ่นมัวด้วยราคะเป็นต้น มนต์ของเธอก็เลอะเลือน.
เมื่อเขาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ครั้นเจริญวัย ได้ไปเรียนมนต์ในเมืองตักกสิลา เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สอนมนต์กะขัตติยกุมารและพรหมณกุมารเป็นอันมากในกรุงพาราณสี. พราหมณ์มาณพคนหนึ่งในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น ได้ศึกษาไตรเพทจนชำนาญ แม้แต่บทเดียวก็ไม่มีสงสัย ได้เป็นอาจารย์สอนมนต์.
ต่อมา พราหมณ์มาณพอยู่ครองฆราวาส กลับมีจิตขุ่นมัว ไม่สามารถร่ายมนต์ได้ เพราะคิดแต่การครองเรือน. ครั้นอาจารย์ถามว่า มาณพ มนต์ของท่านยังคล่องแคล่วอยู่หรือ. เมื่อเขาตอบว่า ตั้งแต่ครองฆราวาส จิตของข้าพเจ้าขุ่นมัว ไม่สามารถร่ายมนต์ได้ จึงกล่าวว่า เมื่อจิตขุ่นมัวแล้ว มนต์ที่เรียนแม้เชี่ยวชาญก็เลือนได้ แต่เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว จะไม่มีเลอะเลือนเลย แล้วกล่าวคาถาสองคาถาว่า :-
เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.
เมื่อน้ำไม่ขุ่น ใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อมเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลย่อมเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.


ในบทเหล่านั้น บทว่า อาวิเล คือขุ่นด้วยเปือกตม. บทว่า อปฺปสนฺเน คือไม่ใสเพราะขุ่นนั่นเอง. บทว่า สิปฺปิกสมฺพุกํ ได้แก่ หอยกาบและหอยโข่ง. บทว่า มจฺฉคุมฺพํ ได้แก่ ฝูงปลา. บทว่า เอวํ อาวิลมฺหิ ความว่า เมื่อจิตขุ่นมัวด้วยราคะเป็นต้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า อตฺตทตฺถํ ปรตฺถํ ได้แก่ ไม่เห็นประโยชน์ตน ไม่เห็นประโยชน์ผู้อื่น. บทว่า โส ปสฺสติ ความว่า เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุรุษนั้นย่อมเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้นเหมือนกัน.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ทรงประชุมชาดก เมื่อจบอริยสัจ พราหมณ์กุมารตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
มาณพในครั้งนั้น ได้เป็นมาณพนี้แล ในครั้งนี้
ส่วนอาจารย์ คือ เราตถาคต นี้แล.


จบ อรรถกถาอนภิรติชาดกที่ ๕
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา อนภิรติชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270217อรรถกถาชาดก 270219
เล่มที่ 27 ข้อ 219อ่านชาดก 270221อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=1343&Z=1351
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]