ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 506 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 510 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 514 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกราชชาดก
ว่าด้วย คุณธรรมคือขันติและตบะ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเสวกข้าราชสำนักของพระเจ้าโกศลคนหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อนุตฺตเร กามคุเณ สมิทฺเธ ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบันได้กล่าวไว้แล้วใน เสยยชาดก ในหนหลังนั้นแล.
               ก็ในชาดกนี้ พระศาสดาตรัสว่า มิใช่ท่านเท่านั้น ที่นำเอาประโยชน์มาโดยสิ่งอันมิใช่ประโยชน์ แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ก็ได้นำเอาประโยชน์มาโดยสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ตน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล อำมาตย์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระเจ้าพาราณสีประทุษร้ายในราชสำนัก พระราชาทรงเห็นโทษของเขาโดยประจักษ์ จึงทรงให้ขับไล่เสวกนั้นจากแว่นแคว้น เสวกนั้นจึงไปอุปัฏฐากพระเจ้าโกศลพระนามว่า ทุพภิเสน.
               เหตุการณ์ทั้งปวงนั้นได้กล่าวไว้ แล้วใน มหาสีลวชาดก ทั้งนั้น.
               ส่วนในชาดกนี้ พระเจ้าทุพภิเสนให้จับพระเจ้าพาราณสีผู้ประทับนั่งในท่ามกลางอำมาตย์ ณ ท้องพระโรง แล้วใส่สาแหรกแขวนห้อยพระเศียร ณ เบื้องบนธรณีประตู พระเจ้าพาราณสีทรงเจริญเมตตาปรารภพระราชาโจร กระทำกสิณบริกรรม ยังฌานให้บังเกิดแล้ว เครื่องพันธนาการขาด. แต่นั้น พระราชาประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศ ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในร่างกายของราชาโจร พระองค์ทรงบ่นว่าร้อนๆ แล้วกลิ้งไปกลิ้งมาบนภาคพื้น.
               เมื่อพระราชาโจรตรัสอย่างนี้ว่า นี้เหตุอะไร.
               อำมาตย์ทั้งหลายจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงทำพระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้หาความผิดมิได้เห็นปานนี้ ให้ห้อยพระเศียรลง ณ เบื้องธรณีประตู พระเจ้าข้า.
               พระราชาโจรตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงรีบไปปล่อยพระราชาพระองค์นั้น.
               ราชบุรุษทั้งหลายไปแล้ว ได้เห็นพระราชาทรงนั่งขัดสมาธิในอากาศ จึงกลับมากราบทูลแก่พระเจ้าทุพภิเสน. พระเจ้าทุพภิเสนนั้นจึงรีบเสด็จไปไหว้พระเจ้าพาราณสีนั้นให้ทรงอดโทษ
               แล้วตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-

               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเอกราช ในกาลก่อนพระองค์เสวยกามคุณอันบริบูรณ์อย่างยิ่งอยู่ มาบัดนี้ พระองค์ถูกโยนลงในบ่ออันขรุขระ เหตุไรพระองค์จึงยังไม่ลดละพระฉวีวรรณ และพระกำลังกายอันมีอยู่แต่เก่าก่อน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสิ แปลว่า อยู่แล้ว. พระเจ้าทุพภิเสนตรัสเรียกพระโพธิสัตว์โดยพระนามว่า เอกราช. บทว่า โสทานิ ตัดบทเป็น โส ตฺวํ อิทานิ แปลว่า บัดนี้ พระองค์นั้น. บทว่า ทุคฺเค แปลว่า ไม่สม่ำเสมอ. บทว่า นรกมฺหิ ได้แก่ ในหลุม คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาที่ที่ถูกแขวน. บทว่า นปฺปชเห วณฺณพลํ นี้ พระเจ้าทุพภิเสนตรัสถามว่า พระองค์แม้ถูกโยนไปในที่อันไม่สม่ำเสมอเห็นปานนี้ ก็มิได้ทรงลดละพระฉวีวรรณอันมีอยู่แต่เก่าก่อน และพระกำลังกาย.

               พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสคาถาที่เหลือว่า

               ข้าแต่พระเจ้าทุพภิเสน ขันติและตบะเป็นคุณธรรมที่หม่อมฉันปรารถนามาแต่เดิมแล้ว บัดนี้ หม่อมฉันได้สิ่งที่ปรารถนานั้นแล้ว เหตุไรจะละฉวีวรรณและกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเสียเล่า.

               ข้าแต่พระองค์ผู้เปรื่องยศ มีปรีชาญาณทนทานได้พิเศษ ทราบมาว่า กิจที่จะพึงทำทุกอย่าง หม่อมฉันทำให้สำเร็จแล้ว ทั้งได้ยศอันยิ่งใหญ่อันมีในกาลก่อน หม่อมฉันจึงไม่ละฉวีวรรณและกำลังกาย อันมีอยู่แต่เก่าก่อน.

               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งปวงชน สัตบุรุษทั้งหลายบรรเทาความสุขด้วยความทุกข์ หรือบรรเทาความทุกข์อันยากที่จะอดทนได้นั้นด้วยความสุข เพราะเป็นผู้มีจิตเยือกเย็นยิ่งนักในสุขและทุกข์ทั้งสอง จึงเป็นผู้มีจิตเที่ยงตรงดังตราชูทั้งในความสุขและความทุกข์.


               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขนฺติ ได้แก่ อธิวาสนขันติ. บทว่า ตโป ได้แก่ การประพฤติตบะ. บทว่า สมฺปฏฺฐิตา ได้แก่ ปรารถนาแล้ว คือปรารถนาเฉพาะแล้ว. พระเจ้าพาราณสีตรัสเรียกพระราชาโจรนั้นโดยพระนามว่า ทุพภิเสน. บทว่า ตนฺทานิ ลทฺธาน ความว่า บัดนี้ เราได้ความปรารถนานั้นแล้ว.
               บทว่า ชเห ความว่า เพราะเหตุไรเราจะละ ท่านแสดงความว่า เพราะบุคคลผู้มีความทุกข์หรือโทมนัสก็ตาม จะต้องละทุกข์หรือโทมนัสนั้น พระเจ้าพาราณสี เมื่อจะแสดงสมบัติของพระองค์ ตามที่ทรงได้ฟังตามกันมาจึงตรัสว่า ทราบมาว่า กิจที่ควรทำทุกอย่างหม่อมฉันทำให้สำเร็จแล้ว ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า กิจที่หม่อมฉันจะพึงทำทุกอย่าง คือการให้ทาน การรักษาศีล และการรักษาอุโบสถ หม่อมฉันทำเสร็จแล้วในกาลก่อนทีเดียว.
               บทว่า ยสสฺสินํ ปญฺญวนฺตํ วิสยฺห ความว่า ชื่อว่าผู้เปรื่องยศ เพราะบริวารสมบัติ ชื่อว่ามีปัญญาญาณ เพราะถึงพร้อมด้วยปัญญา ชื่อว่าผู้อดทนได้พิเศษ เพราะเป็นผู้อันใครๆ ไม่อาจข่มได้. เมื่อเป็นอย่างนี้ บททั้ง ๓ นี้ จึงเป็นอาลปนะคือคำสำหรับเรียกทั้งนั้น. ก็ศัพท์ว่า นํ ในคาถานี้ เป็นนิบาต. และลงนิคหิตที่ ต ศัพท์ ( คือลง ตํ ศัพท์ ) โดยทำพยัญชนะให้ไพเราะสละสลวย.
               บทว่า ยโส จ คือ ยศนั่นแหละ. บทว่า ลทฺธา ปุริมํ ได้แก่ ได้ยศที่ไม่เคยได้มาก่อน คือในกาลก่อน. บทว่า อุฬารํ ได้แก่ ใหญ่ พระเจ้าพาราณสีตรัสหมายเอาการเกิดฌานด้วยเมตตาภาวนาอันเป็นเครื่องข่มกิเลส. บทว่า นปฺปชเห ความว่า ได้ยศเห็นปานนี้แล้ว เพราะเหตุไร จักละผิวพรรณและกำลังกายอันมีแต่เก่าก่อนเสียเล่า. บทว่า ทุกฺเขน ความว่า บรรเทาสุขในราชสมบัติของหม่อมฉันด้วยความทุกข์ เพราะโยนลงไปในนรกที่พระองค์ทำให้เกิดขึ้น. บทว่า สุเขน วา ตํ ทุกฺขํ ได้แก่ หรือว่า บรรเทาทุกข์นั้นด้วยสุขอันเกิดแต่ฌาน. บทว่าอุภยตฺถ สนฺโต ความว่า สัตบุรุษทั้งหลายผู้เป็นเช่นกับเรานั้น มีสภาวะดับเย็นยิ่งแล้ว คือมีตนเป็นกลางในส่วนแม้ทั้งสองนี้ ย่อมเป็นผู้เที่ยงตรง คือย่อมเป็นเช่นเดียว ไม่มีอาการผิดแผกเลยในสุขและทุกข์.

               พระเจ้าทุพภิเสนได้ทรงสดับดังนี้แล้ว จึงขอให้พระโพธิสัตว์อดโทษแล้วตรัสว่า พระองค์เท่านั้นจงครองราชสมบัติของพระองค์ หม่อมฉันจักคอยป้องกันพวกโจรแก่พระองค์ แล้วลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้ประทุษร้ายคนนั้นแล้วเสด็จหลีกไป.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงมอบราชสมบัติแก่อำมาตย์ทั้งหลาย แล้วบวชเป็นฤาษี ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า.
               พระเจ้าทุพภิเสนในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์
               ส่วนพระเจ้าพาราณสี คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาเอกราชชาดกที่ ๓

.. อรรถกถา เอกราชชาดก ว่าด้วย คุณธรรมคือขันติและตบะ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 506 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 510 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 514 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2643&Z=2658
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=4985
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=4985
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :