ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 502 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 506 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 510 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มหาอัสสาโรหชาดก
ว่าด้วย การทำความดีไว้ในปางก่อน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระอานันทเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อเทยฺเยสุ ททํ ทานํ ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบันได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               แม้ในชาดกนี้ พระศาสดาตรัสว่า แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายก็ได้กระทำแล้วด้วยอำนาจอุปการะเกื้อหนุนแก่ตน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระราชาในนครพาราณสีครองราชสมบัติโดยธรรม ให้ทาน รักษาศีล. พระเจ้าพาราณสีนั้นทรงพระดำริว่า จักทรงปราบชายแดนที่กำเริบให้สงบ จึงทรงแวดล้อมด้วยพลโยธาเสด็จไปปราบ ทรงพ่ายแพ้ จึงทรงขึ้นม้าเสด็จหนีไปถึงปัจจันตคามบ้านชายแดนแห่งหนึ่ง ชน ๓๐ คนผู้เป็นราชเสวกอยู่ในบ้านปัจจันคามนั้น คนเหล่านั้นประชุมกันที่ท่ามกลางบ้านแต่เช้าตรู่กระทำกิจการในบ้าน.
               ขณะนั้น พระราชาเสด็จขึ้นทรงม้าที่ฝึกแล้ว ทั้งพระองค์ทรงประดับและตกแต่งด้วยเครื่องออกศึก เสด็จเข้าไปภายในบ้านทางประตูบ้าน. คนเหล่านั้นคิดว่า นี่อะไรกัน จึงกลัวพากันหนีเข้าเรือนของตนๆ.
               ก็ในคนเหล่านั้น มีคนหนึ่งไม่ไปบ้านตน ทำการต้อนรับพระราชาแล้วถามว่า ข้าพเจ้าได้ยินข่าวว่า พระราชาเสด็จไปปัจจันตชนบท ท่านเป็นใคร เป็นราชบุรุษหรือจารบุรุษ. พระราชาตรัสว่า ดูก่อนสหาย เราเป็นราชบุรุษ.
               คนผู้นั้นจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงมา แล้วพาพระราชานั้นไปเรือนให้นั่งบนตั่งของตน แล้วกล่าวว่า นางผู้เจริญเธอจงมา จงล้างเท้าของสหาย ครั้นให้ภรรยาล้างพระบาทของพระราชานั้นแล้ว ให้อาหารตามสมควรแก่กำลังของตน แล้วปูลาดที่นอนโดยพูดว่า ท่านจงพักสักครู่หนึ่ง. พระราชาทรงบรรทมแล้ว. ฝ่ายชายเจ้าของบ้านได้เปลื้องเครื่องเกราะของม้าออกให้เดินได้ถนัด ให้ดื่มน้ำ เอาน้ำมันทาหลังแล้วให้หญ้า. เขาปฏิบัติพระราชาอย่างนี้ได้ ๓-๔ วัน เมื่อพระราชาตรัสว่า สหาย เราจักไปละ จึงได้กระทำกิจทั้งปวงอันเหมาะสมที่จะพึงทำแก่พระราชาและม้าอีกครั้ง.
               พระราชาเสวยแล้ว เมื่อจะเสด็จไปได้ตรัสว่า ดูก่อนสหาย เราชื่อมหาอัสสาโรหะ บ้านของเราอยู่กลางพระนคร ถ้าท่านมายังพระนครด้วยกิจอะไรๆ ท่านจงยืนที่ประตูด้านทักษิณแล้วกล่าวกะนายประตูว่า คนชื่อมหาอัสสาโรหะอยู่บ้านหลังไหน แล้วพึงพานายประตูไปยังบ้านของเรา ตรัสดังนี้ แล้วก็เสด็จหลีกไป.
               ฝ่ายหมู่พลโยธาไม่เห็นพระราชา จึงตั้งค่ายพักอยู่นอกพระนคร ครั้นเห็นพระราชาแล้วต่างพากันลุกรับแวดล้อม. พระราชาเมื่อจะเสด็จเข้าพระนครได้ประทับยืนที่ระหว่างประตู รับสั่งให้เรียกนายประตูมา ให้มหาชนถอยออกไปแล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ชาวบ้านปัจจันตคามคนหนึ่งมีความประสงค์จะมาพบเรา มาแล้วจักถามเธอว่า เรือนของนายมหาอัสสาโรหะอยู่ที่ไหน เธอพึงจับมือเขาไว้แล้วนำมาแสดงเราให้เขาเห็น ในกาลนั้น เธอจักได้ทรัพย์พันหนึ่ง.
               ครั้นตรัสสั่งแล้วพระองค์ก็เสด็จเข้ายังพระราชนิเวศน์ ส่วนบุรุษนั้นก็ยังไม่มาเฝ้า. เมื่อบุรุษนั้นไม่มาเฝ้า พระราชาจึงให้เพิ่มพลีในบ้านที่เขาอยู่ เมื่อเพิ่มพลีแล้ว เขาก็ยังไม่มาเฝ้า. เมื่อเป็นอย่างนั้น จึงทรงให้เพิ่มพลี แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม เขาก็ยังไม่มาเฝ้าอยู่นั่นเอง.
               ลำดับนั้น ชาวบ้านทั้งหลายจึงประชุมกันแล้ว พูดกะบุรุษนั้นว่า
               ข้าแต่นาย นับตั้งแต่นายอัสสาโรหะของท่านมา พวกเราถูกกดขี่ด้วยพลีจนไม่อาจโงศีรษะขึ้นได้ ท่านจงไป จงบอกแก่นายมหาอัสสาโรหะของท่านให้ช่วยปลดเปลื้องพลีของพวกเรา.
               บุรุษนั้นกล่าวว่า ดีละ เราจักไปแต่ว่าเราไม่อาจมีมือเปล่าไป สหายของเรามีเด็ก ๒ คน ท่านทั้งหลายจงจัดแจงเครื่องนุ่งเครื่องห่มและเครื่องประดับเพื่อเด็ก ๒ คนนั้น เพื่อภรรยาของเขาและเพื่อสหายเรา. ชาวบ้านเหล่านั้นกล่าวว่าได้ พวกเราจักจัดแจงให้ แล้วพากันจัดแจงเครื่องบรรณาการทุกอย่าง. บุรุษนั้นถือเอาเครื่องบรรณาการนั้น และขนมทอดในเรือนของตนไป ครั้นถึงประตูด้านทิศใต้ จึงถามนายประตูว่า ดูก่อนสหาย เรือนของนายมหาอัสสาโรหะอยู่ที่ไหน? นายประตูนั้นกล่าวว่า ท่านจงมา เราจักแสดงแก่ท่าน แล้วจับมือเขาพาไปยังประตูพระราชนิเวศน์ แล้วส่งข่าวให้ทรงทราบว่า นายประตูพาบุรุษชาวบ้านปัจจันตคามมา.
               พระราชาพอได้ทรงสดับก็เสด็จลุกขึ้นจากพระอาสน์ ตรัสว่า แม้สหายของเราเฉพาะมากับนายประตูนั้นเท่านั้น จงเข้ามาเถิด แล้วทรงทำการต้อนรับ พอทรงเห็นเท่านั้น จึงทรงทักทายบุรุษนั้นแล้วตรัสถามว่า หญิงสหายและพวกเด็กๆ ของเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือ แล้วทรงจับมือพาขึ้นท้องพระโรง ให้นั่งบนอาสน์ภายใต้เศวตฉัตร รับสั่งให้เรียกพระอัครมเหสีมาแล้วตรัสว่า พระนางผู้เจริญ เธอจงล้างเท้าแม้แห่งสหายของเรา.
               พระอัครมเหสีนั้นได้ทรงล้างเท้าบุรุษผู้นั้น พระราชาทรงรดน้ำด้วยพระสุวรรณภิงคาร พระเทวีทรงล้างเท้าแล้วทาด้วยน้ำมันหอม.
               พระราชาตรัสถามว่า สหาย ของกินสำหรับพวกเราชนิดไรๆ มีบ้างไหม?
               บุรุษนั้นกล่าวว่า มี แล้วนำขนมออกมาจากกระทอ.
               พระราชาทรงรับด้วยจานทอง เมื่อจะทำการสงเคราะห์เอาน้ำใจเขา จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงกินขนมที่สหายเรานำมา แล้วได้ประทานแก่พระเทวีและอำมาตย์ทั้งหลาย แม้พระองค์เองก็ทรงเสวย.
               ฝ่ายบุรุษนั้นก็แสดงเครื่องบรรณาการแม้อย่างอื่นถวาย. เพื่อจะทรงสงเคราะห์เขา พระราชาจึงทรงเปลื้องผ้ากาสิกพัสตร์แล้วทรงนุ่งคู่ผ้าที่เขานำมาถวาย. ฝ่ายพระเทวีก็ทรงเปลื้องผ้ากาสิกสาฎกและเครื่องอาภรณ์ทั้งหลาย แล้วทรงนุ่งผ้าสาฎกที่เขานำมา แล้วทรงประดับเครื่องอาภรณ์.
               ลำดับนั้น พระราชาให้บุรุษสหายนั้นบริโภคโภชนะอันควรแก่พระราชา แล้วทรงสั่งอำมาตย์คนหนึ่งว่า ท่านจงไป จงให้ช่างกระทำการโกนหนวดแก่บุรุษนี้ ตามทำนองที่ทำแก่เรานั่นแหละแล้วให้อาบด้วยน้ำหอม ให้นุ่งผ้ากาสิกพัสตร์อันมีค่าแสนหนึ่ง ให้ประดับด้วยเครื่องอลังการสำหรับพระราชา แล้วจงนำมา. อำมาตย์นั้นได้กระทำเหมือนอย่างนั้น.
               พระราชาให้เที่ยวตีกลองป่าวร้องในพระนคร ให้อำมาตย์ทั้งหลายประชุมกัน แล้วให้พาดด้ายแดงกลางเศวตฉัตร แล้วพระราชทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งแก่บุรุษผู้สหายนั้น. จำเดิมแต่นั้น พระราชาทั้งสองนั้นก็ทรงร่วมเสวย ร่วมดื่ม ร่วมบรรทมด้วยกัน ความวิสสาสะคุ้นเคยได้แน่นแฟ้นอันใครๆ ให้แตกแยกไม่ได้.
               ลำดับนั้น พระราชารับสั่งให้เรียกบุตรและภรรยาของบุรุษผู้สหายนั้นมา ได้ให้สร้างนิเวศน์ในภายในพระนครพระราชทาน พระราชาทั้งสองนั้นต่างสมัครสมานรื่นเริงบันเทิงใจ ครองราชสมบัติ.
               ต่อมาอำมาตย์ทั้งหลายพากันโกรธ พระเจ้าพาราณสีนั้นจึงทูลพระราชโอรสว่า ข้าแต่พระราชกุมาร พระราชาได้ประทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งแก่คฤหบดีนี้ ร่วมเสวย ร่วมดื่มกับคฤหบดีนั้น ซ้ำให้พวกเด็กๆ ไหว้ ข้าพระบาททั้งหลายไม่ทราบถึงกรรมที่คฤหบดีนี้กระทำ พระราชาทรงกระทำอะไร ข้าพระบาททั้งหลายรู้สึกละอาย ขอพระองค์จงทูลพระราชาด้วยเถิด.
               พระราชโอรสนั้นรับคำแล้ว จึงกราบทูลเรื่องราวนั้นทั้งหมดแด่พระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ทรงกระทำอย่างนี้เลย.
               พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า ดูก่อนพ่อ บิดาแม้ในการรบ แม้ในกาลนั้นได้อยู่ ณ ที่ไหน เจ้าทราบหรือไม่เล่า.
               พระราชโอรสกราบทูลว่า ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า บิดาไปอยู่ในเรือนของคฤหบดีนี้ปลอดภัย แล้วกลับมาครองราชสมบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร บิดาจึงจักไม่ให้สมบัติแก่ผู้มีอุปการะแก่เราเล่า.
               พระโพธิสัตว์ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ก็บุคคลใดให้แก่คนผู้ไม่ควรให้ ไม่ให้แก่บุคคลผู้ควรให้ บุคคลนั้นถึงภัยอันตรายเข้า จะไม่ได้อุปการะเกื้อหนุนอะไรเลย
               เมื่อจะทรงแสดงต่อไป จึงตรัสคาถาเหล่านี้ว่า :-
               ผู้ใดให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่เพิ่มให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงจะได้รับทุกข์ในคราวมีอันตราย ก็ไม่ได้สหาย ช่วยเหลือ.
               ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ เพิ่มให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงได้รับทุกข์ในคราวมีอันตราย ย่อมได้สหาย ช่วยเหลือ.
               การแสดงคุณวิเศษแห่งความเกี่ยวพัน และความสนิทสนมกันฉันท์มิตร ในชนทั้งหลายผู้ไม่มีอารยธรรม เป็นคนมักโอ้อวดย่อมไร้ผล การแสดงคุณวิเศษแห่งความเกี่ยวพันและความสนิทสนมกันฉันท์มิตร ในอารยชนทั้งหลายผู้ซื่อตรงคงที่ แม้เล็กน้อยก็ย่อมมีผลมาก.
               ผู้ใดได้ทำความดีงามไว้ก่อน ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำกิจที่ทำได้แสนยากในโลก ภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำก็ตาม ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชายิ่งนัก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเทยฺเยสุ ได้แก่ ผู้ไม่เคยทำอุปการะมาก่อน.
               บทว่า เทยฺเยสุ ได้แก่ ผู้ทำอุปการะมาแล้ว.
               บทว่า นปฺปเวจฺฉติ แปลว่า ไม่ให้เข้าไป คือ ไม่ให้.
               บทว่า อาปาสุ แปลว่า ในคราวมีอันตราย.
               บทว่า พฺยสนํ ได้แก่ ความทุกข์.
               บทว่า สญฺโญคสมฺโภควิเสสทสฺสนํ ความว่า การแสดงความวิเศษคือการแสดงคุณของการเกี่ยวพันกันและการกินอยู่ร่วมกัน ที่มิตรกระทำไว้ทั้งหมดนี้ที่ว่า ผู้นี้กระทำดีแก่เราแล้ว ย่อมพินาศ คือฉิบหายไป ในชนผู้ชื่อว่าอนารยชน เพราะเป็นผู้มีธรรมไม่หมดจด ชื่อว่าผู้โอ้อวด เพราะความเป็นคนหลอกลวง.
               บทว่า อริเยสุ ได้แก่ ชื่อว่าผู้ประเสริฐ คือผู้บริสุทธิ์ เพราะรู้คุณที่เขาทำไว้แก่ตน.
               บทว่า อญฺชเสสุ ได้แก่ ชื่อว่าผู้ซื่อตรง คือผู้ไม่คดโกง เพราะเหตุนั้นนั่นเอง.
               บทว่า อณุมฺปิ แปลว่า แม้มีประมาณน้อย.
               บทว่า ตาทิสุ ความว่า สิ่งที่กระทำในบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้ซื่อตรง เช่นนั้น แม้จะน้อยก็มีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดี ย่อมมีผลรุ่งเรืองแผ่ไพศาล แต่สิ่งที่กระทำในคนผู้ลามกนอกนี้ แม้จะมาก ก็ย่อมพินาศฉิบหายเหมือนพืชที่หว่านลงในไฟฉะนั้น.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               พืชย่อมมอดไหม้ไม่งอกงามในไฟแม้ฉันใด กิจที่ทำในอสัตบุรุษย่อมพินาศไม่งอกงามฉันนั้น ส่วนที่ทำในชนผู้มีความกตัญญู มีศีล มีความประพฤติเยี่ยงอารยชน ย่อมไม่ฉิบหายไปในที่นั้นๆ เหมือนพืชที่หว่านในนาดีฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ ได้แก่ ผู้กระทำอุปการะไว้ก่อน.
               บทว่า อกา แปลว่า ได้กระทำแล้ว. อธิบายว่า ผู้นี้ได้กระทำ ชื่อว่าสิ่งที่ทำได้แสนยากในโลก.
               บทว่า ปจฺฉา กยิรา ความว่า บุคคลนั้นจะได้กระทำหรือไม่ได้กระทำคุณความดีอะไรๆ อื่นในภายหลัง เพราะคุณความดีที่ทำไว้ก่อนนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า อจฺจนฺตํ ปูชนารโห ความว่า ย่อมควรสักการะสัมมานะทุกอย่าง.

               ก็พวกอำมาตย์และราชโอรสได้ฟังดังนี้แล้ว ก็มิได้กล่าวอะไรๆ อีกแล.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               บุรุษชาวบ้านปัจจันตคามในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               ส่วนพระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถามหาอัสสาโรหชาดกที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาอัสสาโรหชาดก ว่าด้วย การทำความดีไว้ในปางก่อน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 502 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 506 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 510 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2630&Z=2642
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=4863
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=4863
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :