ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๒. มหาชนกชาดก
พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
[๔๔๒] ใครนี่ เมื่อมองไม่เห็นฝั่ง ก็ยังกระทำความเพียรว่ายอยู่ในท่ามกลางมหา- สมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นัก. [๔๔๓] ดูกรเทวดา เราพิจารณาเห็นวัตรของโลกและอานิสงส์แห่งความพยายาม เพราะฉะนั้น ถึงจะไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ในท่ามกลาง มหาสมุทร. [๔๔๔] ฝั่งมหาสมุทรอันลึกประมาณไม่ได้ ย่อมไม่ปรากฏ ความพยายามอย่าง ลูกผู้ชายของท่านย่อมเปล่าประโยชน์ ท่านยังไม่ทันจะถึงฝั่งก็จักต้องตาย เป็นแน่. [๔๔๕] บุคคลผู้กระทำความเพียรอยู่ แม้จะตาย ก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ คือ ไม่ถูก ติเตียนในระหว่างหมู่ญาติ เทวดาและพรหมทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลเมื่อ กระทำกิจของบุรุษอยู่ ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง. [๔๔๖] การงานอันใดยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล มี ความลำบากเกิดขึ้น ความปรากฏแก่บุคคลผู้กระทำความพยายามในอัน มิใช่ฐานะใด จะมีประโยชน์อะไรด้วยความพยายามในอันมิใช่ฐานะนั้น. [๔๔๗] ดูกรเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่า การงานนี้ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายามแล้ว ไม่ป้องกันอันตราย ชื่อว่าไม่พึงรักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นพึงละความ เพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้านนั้น ดูกร เทวดา คนบางพวกในโลกนี้ เห็นอยู่ซึ่งผลแห่งความประสงค์ จึง ประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จก็ตาม ไม่สำเร็จก็ตาม ดูกรเทวดา ท่านย่อมเห็นผลแห่งการงานอันประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ พากันจมลงในมหาสมุทร เราคนเดียวเท่านั้นพยายามว่ายข้ามอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้เรา เรานั้นจักพยายามตามสติกำลังจักทำ ความเพียรที่บุรุษพึงกระทำ ไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร. [๔๔๘] ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพ ทั้งลึก ทั้งกว้างเห็นปานนี้ ด้วยการกระทำความเพียรของบุรุษ ท่านนั้น จงไปในสถานที่ซึ่งใจของท่านยินดีเถิด. [๔๔๙] ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุมนี้ คือ ขุมทรัพย์ที่อาทิตย์ขึ้น ๑ ขุมทรัพย์ที่ อาทิตย์ตก ๑ ขุมทรัพย์ภายใน ๑ ขุมทรัพย์ภายนอก ๑ ขุมทรัพย์ไม่ใช่ ภายในไม่ใช่ภายนอก ๑ ขุมทรัพย์ขาขึ้น ๑ ขุมทรัพย์ขาลง ๑ ขุมทรัพย์ ที่ไม้รังทั้งสี่ ๑ ขุมทรัพย์ในที่หนึ่งโยชน์โดยรอบ ๑ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา ทั้งสอง ๑ ขุมทรัพย์ที่ปลายทาง ๑ ขุมทรัพย์ที่น้ำ ๑ ขุมทรัพย์ที่ยอด ต้นไม้ ๑ ธนูหนักพันแรงคน ๑ บัลลังก์สี่เหลี่ยมหัวนอนอยู่เหลี่ยม ไหน ๑ คนผู้ยังเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี ๑. [๔๕๐] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนได้เป็นพระ- ราชาตามที่เราปรารถนา บุรุษเป็นบัณฑิต พึงหวังร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนอันน้ำพัดไปสู่บก บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป ไม่พึง เบื่อหน่าย เราเห็นตนได้เป็นพระราชาตามที่เราปรารถนา บุรุษผู้เป็น บัณฑิตพึงพยายามร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนอันน้ำพัดไปสู่บก นรชนผู้มีปัญญาแม้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว ไม่พึงตัดความหวังเพื่อการมา แห่งความสุขเสีย จริงอยู่ บุคคลเป็นอันมาก อันผัสสะที่ไม่เป็น ประโยชน์กระทบกระทั่งก็ดี อันผัสสะที่เป็นประโยชน์กระทบกระทั่งก็ดี บุคคลเหล่านั้นไม่ตรึกถึงความข้อนี้ จึงเข้าถึงความตาย ความคิดที่ยังมิได้ คิดก็มีอยู่บ้าง ความคิดที่คิดแล้วเสื่อมหายไปบ้าง โภคะทั้งหลายของ สตรีหรือบุรุษ หาสำเร็จด้วยความคิดไม่. [๔๕๑] ดูกรท่านผู้เจริญ พระราชาผู้ครอบครองภาคพื้นทั้งปวง ผู้เป็นใหญ่ในทิศ ไม่ทรงเป็นเหมือนแต่ก่อน บัดนี้ไม่ทอดพระเนตรการฟ้อนรำ ไม่ทรง ใส่พระทัยในการขับร้อง ไม่ทอดพระเนตรฝูงเนื้อ ไม่เสด็จประพาส พระราชอุทยาน ไม่ทอดพระเนตรฝูงหงส์ พระองค์ประทับนิ่งเฉยเหมือน คนใบ้ ไม่ทรงว่าราชการอะไรๆ. [๔๕๒] นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข มีศีลอันปกปิด ปราศจากเครื่องผูก คือ กิเลส ทั้งหนุ่มทั้งแก่ มีตัณหาอันก้าวล่วงแล้ว อยู่ ณ อารามของ ใครหนอในวันนี้ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนักปราชญ์เหล่านั้น ผู้แสวงหา คุณใหญ่ นักปราชญ์เหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวายอยู่ในโลก อันถึงซึ่งความ ขวนขวาย นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเสียซึ่งข่าย คือ ตัณหาอันมั่นคงแห่ง มฤตยูผู้มีมารยาอย่างยิ่ง ทำลายเสียด้วยญาณไปอยู่ ใครจะพึงนำเราไป ให้ถึงสถานที่อยู่แห่งนักปราชญ์เหล่านั้นได้. [๔๕๓] เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ ซึ่งนายช่างผู้ฉลาดจัดการ สร้างแบ่งไว้เป็นส่วนๆ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไร หนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์กว้างขวางรุ่งเรืองโดย ประการทั้งปวง ออกบวชได้ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไร เราจึงจักละพระนครมิถิลาอันสมบูรณ์ ซึ่งมีปราการและเสาค่ายเรียงราย ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละ พระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ ซึ่งมีป้อมคูและซุ้มประตูมั่นคง ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอัน บริบูรณ์ มีทางหลวงหลายสายตัดไว้เรียบร้อย ออกบวชได้ ความดำรินั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ ซึ่ง จัดร้านตลาดไว้เรียบร้อย ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไร หนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ ซึ่งมีโค ม้า และรถ เบียดเสียดกัน ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จเมื่อไรหนอ เมื่อไร เราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ มีสวนสาธารณะและวนสถาน เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ มีหมู่ไม้ในพระราชอุทยาน เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ มีปราสาทราชมนเทียรอัน งดงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้ เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ มีปราการสาม ชั้น พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ อันพระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ พระนามว่าโสมนัสทรงสร้างไว้ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้ เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละวิเทหรัฐอันบริบูรณ์ มีการสะสมธัญญา- หารเป็นต้นไว้พร้อมมูล อันพระเจ้าวิเทหราชทรงปกครองโดยธรรม ออก บวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละวิเทหรัฐ อันบริบูรณ์ อันอริราชศัตรูไม่สามารถผจญได้ อันพระเจ้าวิเทหราชทรง ปกครองโดยธรรม ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระราชมนเทียรอันน่ารื่นรมย์ ที่นายช่างผู้ชาญฉลาด จัดสร้างไว้เป็นส่วนๆ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระราชมนเทียรอันน่ารื่นรมย์ ที่ฉาบทาด้วยปูนขาว และดินเหนียว ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อ ไรเราจึงจักละพระราชมนเทียรอันรื่นรมย์ มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ ออก บวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระ- ตำหนักยอด อันนายช่างผู้ชาญฉลาดจัดสร้างไว้เป็นส่วนๆ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระตำหนักยอด อันฉาบทาด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จ ได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละพระตำหนักยอด อันมีกลิ่นหอมฟุ้งจรุง ใจ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละ พระตำหนักยอด อันนายช่างผู้ชาญฉลาดทาสีไว้สวยงาม ประพรมด้วย จุรณแก่นจันทน์ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละบัลลังก์ทองอันลาดด้วยผ้าโกเชาว์อย่างวิจิตร ออกบวช ได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละบัลลังก์แก้ว มณีอันลาดด้วยผ้าโกเชาว์อย่างวิจิตร ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จ ได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าโขมพัสตร์ ออก บวชได้ ผ้าโกทุมพรพัสตร์ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไร เราจึงจักละสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ มีนกจากพรากมาส่งเสียงพร่ำ- เพรียกอยู่ ดาดาษด้วยดอกมณฑา ดอกปทุม และดอกอุบล ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละกองช้างอันประดับ ประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีสายรัดทองคำ เป็นช้างตระกูลมาตังคะ มีเครื่องปกตระพองและตาข่ายทอง มีนายควาญผู้ถือโตมรและของ้าว ขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไร จึงจักละกองม้าอันประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เป็นม้าต้น ตระกูลสินธพชาติอาชาไนย เป็นพาหนะเร็ว อันนายสารถีถือแส้และ ธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไร เราจึงจักละกองรถอันผูกสอดเครื่องรบ ติดธงประจำหุ้มด้วยหนังเสือ เหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถี สวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้ เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละรถทองมีเครื่องครบครัน ติดธงประจำหุ้ม ด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ ความดำรินั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละรถเงิน ... รถม้า ... รถอูฐ ... รถโค ... รถแกะ ... รถแพะ ... รถมฤค ซึ่งมีเครื่องครบครัน ติดธงประจำหุ้ม ด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงอัน นายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นประจำ ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จ ได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละกองฝึกช้างผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ ทั้งปวง สวมเกราะเขียว กล้าหาญ ถือโตมรและของ้าว ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละกองม้า ... กองฝึก รถอันประดับเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะเขียว กล้าหาญ ถือธนู และแล่ง ... กองธนู อันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะเขียว กล้าหาญ ถือธนูและแล่ง ... พวกราชบุตรผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ ทั้งปวง สวมเกราะอันวิจิตร กล้าหาญ ถือกฤตทอง ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละหมู่พราหมณ์ผู้- ครองผ้า ประดับประดา ลูบไล้ตัวด้วยจุรณจันทน์เหลือง ทรงผ้าเนื้อดีอัน มาแต่แคว้นกาสี ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละหมู่อำมาตย์ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวม เกราะเหลือง กล้าหาญ เดินไปข้างหน้าเป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวช ได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละนางสนม- กำนัลประมาณ ๗๐๐ คน อันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ออก บวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละนาง สนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ละมุนละไมสะโอดสะอง ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละนางสนมกำนัล ประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ว่านอนสอนง่าย เจรจาไพเราะน่ารัก ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักละถาดทองคำหนัก ร้อยปัลละ จำหลักลวดลายตั้งร้อย ออกบวชได้ ความดำรินั้นจักสำเร็จ ได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรหนอกองช้างอันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีสายรัดทองคำ เป็นช้างตระกูลมาตังคะ มีเครื่องปกกะพองและตาข่าย ทอง อันนายควาญผู้ถือโตมรและของ้าวขึ้นขี่ประจำ ที่เคยขี่ติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรกองม้าอัน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เป็นม้าต้นตระกูลสินธพชาติอาชาไนย เป็นพาหนะเร็ว อันนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ ที่เคยติดตาม เรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรกอง- รถ ซึ่งผูกสอดเครื่องรบติดธงประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือ- โคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถีสวมเกราะถือธนู ขึ้นขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จ ได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรรถทองซึ่งมีเครื่องครบครัน ติดธงประจำหุ้มด้วย หนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนาย สารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรรถเงิน ... รถม้า ... รถอูฐ ... รถโค ... รถแพะ ... รถแกะ ... รถมฤค ซึ่งมีเครื่องครบครัน ติดธงประจำหุ้มด้วย หนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนาย สารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจึงจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรกองฝึกช้าง ผู้ประดับด้วย เครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะเขียว กล้าหาญ ถือโตมรและของ้าว ซึ่งเคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไร หนอ เมื่อไรกองฝึกม้า อันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวม เกราะเขียว กล้าหาญ ถือแส้และธนู ... กองฝึกรถ อันประดับด้วยเครื่อง อลังการทั้งปวง สวมเกราะเขียว กล้าหาญ ถือธนูและแล่งธนู ... กองฝึก ธนู ... พวกราชบุตร ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะอัน วิจิตร กล้าหาญ ถือกฤตทอง ซึ่งเคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรหมู่พราหมณ์ผู้ครองผ้า ประ- ดับประดา ลูบไล้ตัวด้วยจุรณจันทน์เหลือง ทรงผ้าเนื้อดีแคว้นกาสี ซึ่งเคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไร หนอ เมื่อไรหมู่อำมาตย์ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะ เหลือง กล้าหาญ เดินไปข้างหน้าเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเคยติดตาม เรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไร นางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการ ทั้งปวง ซึ่งเคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้ เมื่อไรหนอ เมื่อไรนางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง ที่เคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจัก สำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรนางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ว่านอน สอนง่าย เจรจาไพเราะน่ารัก ซึ่งเคยติดตามเรา จึงจักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักได้ปลงผมห่มผ้า สังฆาฏิอุ้มบาตรเที่ยวบิณฑบาต ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจักได้ทรงผ้าสังฆาฏิอันทำด้วยผ้าบังสุกุล ซึ่งเขาทิ้งไว้ที่หนทาง ใหญ่ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรฝนตกตลอด ๗ วัน เราจึงจักมีจีวรเปียกชุ่มเที่ยวบิณฑบาต ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไร หนอ เมื่อไรเราจึงจักได้จาริกไปตามต้นไม้ตามราวป่า ตลอดทั้งกลางวัน กลางคืน เที่ยวไปโดยไม่ต้องห่วงหลัง ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไร หนอ เมื่อไรเราจึงจักละความกลัวและความขลาดได้เด็ดขาด เที่ยวไป ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง ตามซอกเขาและลำธาร ความดำรินั้นจักสำเร็จ ได้เมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจึงจักได้ทำจิตให้ตรง ดังคนดีดพิณ ดีดสาย- พิณทั้ง ๗ สายให้เป็นเสียงรื่นรมย์ใจ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไร หนอ เมื่อไรเราจึงจักตัดเสียได้ซึ่งกามสังโยชน์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่ เป็นของมนุษย์ เหมือนช่างหนังตัดรองเท้าโดยรอบ ฉะนั้น. [๔๕๔] นางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คนนั้น ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ต่างประคองพาหารำพันว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกเกล้า- กระหม่อมฉันไว้ นางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ล้วนละมุนละไม สะโอดสะอง ต่างประคองพาหารำพันว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรง ละทิ้งพวกเกล้ากระหม่อมฉันไว้ นางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ล้วน ว่านอนสอนง่าย เจรจาไพเราะน่ารัก ต่างประคองพาหารำพันว่า เพราะ เหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกเกล้ากระหม่อมฉันไว้ พระราชาทรง ละนางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คนเหล่านั้น ล้วนประดับประดาด้วย อลังการทั้งปวง เสด็จมุ่งผนวชแต่พระองค์เดียว พระราชาทรงละนาง สนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คนเหล่านั้น ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง เสด็จมุ่งผนวชแต่พระองค์เดียว พระราชาทรงละนางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คนเหล่านั้น ผู้ว่านอนสอนง่าย เจรจาไพเราะน่ารัก เสด็จมุ่งผนวช แต่พระองค์เดียว ทรงละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปัลละ จำหลัก ลวดลายตั้งร้อย ทรงอุ้มบาตรดิน เป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒. [๔๕๕] คลังทั้งหลาย คือ คลังเงิน คลังทอง คลังแก้วมุกดา คลังแก้วไพฑูรย์ คลังแก้วมณี คลังสังข์ คลังไข่มุกด์ คลังผ้า คลังจันทน์เหลือง คลังหนัง คลังงาช้าง คลังพัสดุ คลังทองแดง คลังเหล็ก เป็นอัน มาก มีเปลวไฟเสมอเป็นอันเดียวกัน น่ากลัว แม้จัดไว้คนละส่วน ไฟก็ไหม้หมด ข้าแต่พระราชาขอเชิญเสด็จกลับก่อนเถิด พระราช- ทรัพย์ของพระองค์อย่าพินาศเสียเลย. [๔๕๖] เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล เป็นสุขดีจริงหนอ เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิง เผาอยู่ อะไรหน่อยหนึ่งของเรามิได้ถูกเพลิงเผา. [๔๕๗] เกิดพวกโจรในดงขึ้นแล้ว พากันมาปล้นแว่นแคว้นของพระองค์ ข้าแต่ พระราชา ขอเชิญเสด็จกลับเถิด แว่นแคว้นนี้อย่าพินาศเสียเลย. [๔๕๘] เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล เป็นสุขดีจริงหนอ เมื่อแว่นแคว้นถูกปล้น อะไรหน่อยหนึ่งของเรามิได้ถูกปล้น เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล เป็น สุขดีจริงหนอ เราทั้งหลายจักมีปีติเป็นภักษา เหมือนดังเทพเจ้าเหล่า อาภัสสระ ฉะนั้น. [๔๕๙] เสียงอันกึกก้องของหมู่ชนเป็นอันมากนี้ เพราะอะไร นั่นใครหนอ มากับท่านเหมือนเล่นกันอยู่ในบ้าน ดูกรสมณะ อาตมภาพขอถามท่าน มหาชนนี้ติดตามท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร. [๔๖๐] มหาชนนี้ติดตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขาไปในที่นี้ ข้าพเจ้าผู้ล่วงเสียซึ่ง เขตแดน คือ กิเลส ออกบวชเพื่อบรรลุถึงมโนธรรม คือ ญาณของ พระมุนี แต่ยังเจือด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลายอยู่ พระผู้เป็นเจ้ารู้อยู่ จะถามทำไม. [๔๖๑] พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระอันครองผ้ากาสาวะนี้ อย่าได้สำคัญว่าเราข้าม พ้นเขตแดน คือ กิเลสแล้ว กรรม คือ กิเลสนี้ จะพึงข้ามได้ด้วย การทรงเพศบรรพชิตก็หาไม่ เพราะอันตราย คือ กิเลสของพระองค์ยัง มีอยู่มาก. [๔๖๒] อันตรายอะไรหนอ จะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ ไม่ ปรารถนากามทั้งหลายในมนุษยโลกและในเทวโลก. [๔๖๓] อันตรายเป็นอันมากแล คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วง- เหงา ความไม่ยินดี ความเมาอาหาร ตั้งอยู่ในสรีระของพระองค์. [๔๖๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ ข้าพเจ้าขอถามท่าน ผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ. [๔๖๕] ชนทั้งหลายรู้จักอาตมาโดยชื่อว่านารทะ โดยโคตรว่ากัสสปะ อาตมามา ในสำนักของพระองค์ด้วยความสำคัญว่าการสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นความดี พระองค์จงทรงมีความยินดีในบรรพชานี้ วิหารธรรมจงเกิด แก่พระองค์ กิจอันใดยังพร่องด้วยศีล การบริกรรมและฌาน พระองค์ จงทรงบำเพ็ญกิจนั้น ให้บริบูรณ์ด้วยความอดทนและความสงบระงับ อย่าถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ จงทรงคลายออกเสียซึ่งความยุบลงและ ความฟูขึ้น จงทรงกระทำโดยเคารพซึ่งกุศลกรรมบถวิชชาและสมณธรรม แล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์. [๔๖๖] ดูกรพระชนก พระองค์ทรงละช้าง ม้า ชาวนครและชนบทเป็นอันมาก เสด็จออกผนวชทรงยินดีแล้วในบาตร ชาวชนบท มิตรอำมาตย์และ พระประยูรญาติเหล่านั้น ได้กระทำความผิดให้แก่พระองค์หรือหนอ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรนั้น. [๔๖๗] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามิได้เคยเอาชนะพระประยูรญาติ อะไรๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหนๆ โดยอธรรมเลย แม้พระยูรญาติ ก็มิได้เคยเอาชนะข้าพเจ้าโดยอธรรม. [๔๖๘] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เห็นประเพณีของโลก เห็น โลกถูกกิเลสขบกัด ถูกกิเลสทำให้เป็นดังเปือกตม จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็น เครื่องเปรียบเทียบว่า ปุถุชนจมอยู่แล้วในกิเลสวัตถุใด สัตว์เป็นอันมาก ย่อมถูกประหาร และถูกฆ่าในกิเลสวัตถุนั้น ดังนี้ จึงได้บวชเป็นภิกษุ. [๔๖๙] ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกอรรถสั่งสอนพระองค์ คำอันสะอาดนี้เป็นคำ ของใคร ดูกรพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เพราะพระองค์หาได้ตรัสบอกดาบส ผู้เป็นกรรมวาทีหรือสมณะคือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชาซึ่ง เป็นไปล่วงทุกข์ไม่. [๔๗๐] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ แม้ข้าพเจ้าจะสักการะสมณะและพราหมณ์ โดยส่วนเดียว แต่ไม่เคยเข้าใกล้ไต่ถามอะไรๆ ในกาลไหนๆ เลย ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ ข้าพเจ้ารุ่งเรืองด้วยศิริ ไปยังราชอุทยานด้วย อานุภาพใหญ่ เมื่อชาวพนักงานกำลังขับเพลงประโคมดนตรีอยู่ ข้าพเจ้า นั้นได้เห็นต้นมะม่วงกำลังมีผลอยู่ภายนอกกำแพง ในพระราชอุทยาน อันกึกก้องด้วยการประโคมดนตรี ประกอบด้วยคนขับและคนประโคม ข้าพเจ้าละต้นมะม่วงอันมีศิรินั้น ที่มนุษย์ทั้งหลายผู้ปรารถนาผลฟาดตีอยู่ ลงจากคอช้างเข้าไปยังโคนต้นมะม่วงที่มีผลและไม่มีผล ข้าพเจ้าเห็นต้น มะม่วงอันมีผล ที่บุคคลเบียดเบียนหักแล้วปราศจากใบและก้าน และ ได้เห็นต้นมะม่วงอีกต้นหนึ่งมีใบเขียวสดงดงาม ศัตรูทั้งหลายย่อมกำจัด แม้พวกเราผู้เป็นอิสระ ผู้มีศัตรูดุจหนามเป็นอันมาก เปรียบเหมือนต้น มะม่วงมีผลอันมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว ฉะนั้นคนย่อมฆ่าเสือ เหลืองเพราะหนัง ย่อมฆ่าช้างเพราะงา ย่อมฆ่าคนมั่งคั่งเพราะทรัพย์ ใครเล่าจักฆ่าคนที่ไม่มีเรือน ไม่มีสันถวะคือตัณหา ต้นมะม่วง ๒ ต้น คือ ต้นหนึ่งมีผลและต้นหนึ่งไม่มีผล เป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า. [๔๗๑] คนทั้งปวง คือ กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ตกใจว่า พระราชาทรงผนวชเสียแล้ว ขอพระองค์ทรงปลอบประชุมชนให้เบาใจ ทรงตั้งความคุ้มครอง ทรงอภิเษกพระราชโอรสในราชสมบัติแล้ว จึง ทรงผนวชในภายหลังเถิด. [๔๗๒] เราได้สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์และพระประยูรญาติทั้งหลายแล้ว ทีฆาวุราชกุมารผู้ผดุงรัฐ เป็นบุตรของชาววิเทหรัฐมีอยู่ ประชาบดีชาว วิเทหรัฐ จักอภิเษกบุตรเหล่านั้นให้เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลา. [๔๗๓] มาเถิด อาตมาจักให้เธอศึกษาตามคำที่อาตมาชอบ เมื่อเธอให้โอรส ครองราชสมบัติแล้วพร่ำสอนเรื่องราชสมบัติด้วยคิดว่าลูกของเราเป็นพระ ราชา ก็จะทำบาปทุจริตเป็นอันมากด้วยกาย วาจาและใจ อันเป็นเหตุ ให้ไปสู่ทุคติ การยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้ซึ่งสำเร็จ มาแต่ผู้อื่นนี้ เป็นธรรมของนักปราชญ์. [๔๗๔] กุลบุตรผู้ฉลาดแม้ใด ไม่พึงบริโภคอาหารในภัตตกาลที่ ๕ เพียงดังใกล้ จะตาย หรือพึงตายด้วยความหิว กุลบุตรผู้ฉลาดนั้น ก็ไม่พึงบริโภค ก้อนข้าวอันคลุกฝุ่นไม่สะอาดเลยมิใช่หรือ ข้าแต่พระมหาชนก พระองค์ เสวยได้ซึ่งก้อนเนื้อ อันเป็นเดนสุนัข ไม่สะอาดน่าเกลียดนัก. [๔๗๕] ดูกรพระนางสีวลี บิณฑบาตใด เป็นของอันบุคคลผู้ครองเรือนหรือ สุนัขสละแล้ว บิณฑบาตนั้น ชื่อว่าไม่เป็นอาหารของอาตมาก็หามิได้ ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่ได้มาแล้วโดยธรรม ของบริโภค ทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่าไม่มีโทษ. [๔๗๖] ดูกรนางกุมาริกาผู้นอนใกล้มารดา ผู้ประดับประดาเป็นนิตย์ เพราะเหตุไร กำไลมือ ของเธอข้างหนึ่งจึงมีเสียงดัง อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง. [๔๗๗] ข้าแต่สมณะ กำไลมือสองอันซึ่งสวมอยู่ที่มือของดิฉันนี้ เพราะกำไล สองอันกระทบกันจึงมีเสียงดัง กำไลมือสองอันจึงมีเสียงดัง กำไลมือ อันหนึ่งสรวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉัน ไม่มีอันที่สอง จึงไม่เกิดเสียงดัง ราวกะว่ามุนีสงบนิ่งอยู่ บุคคลสองคนถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียว จักวิวาทกับใคร ท่านผู้ปรารถนาสวรรค์จงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด. [๔๗๘] ดูกรพระนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ นางกุมาริกา เป็นเพียงสาวใช้มาติเตียนเรา ความประพฤติของเราทั้งสอง อาตมาเป็น บรรพชิต เธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุแห่งคำติเตียน ดูกรนางผู้เจริญ ทางสองแพร่งนี้ อันเราทั้งสองผู้เดินทางสัญจรมาแล้ว เธอจงถือเอาทางหนึ่ง อาตมาก็จักถือเอาอีกทางหนึ่ง เธออย่าเรียกอาตมา ว่า เป็นพระสวามีของเธอและอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นพระมเหสี ของอาตมาอีก เมื่อกษัตริย์ทั้งสองตรัสข้อความนี้ ต่างก็เสด็จเข้าไปยัง ถูณนคร เมื่อใกล้เวลาภัตตกาล พระราชาประทับอยู่ ณ ซุ้มประตูของ นายช่างศร นายช่างศรหลับตาข้างหนึ่ง เล็งลูกศรอันคดที่ตนดัดให้ตรง ด้วยตาข้างหนึ่ง. [๔๗๙] ดูกรนายช่างศร ท่านจงฟังอาตมา ท่านหลับตาข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรอันคด ด้วยนัยน์ตาข้างหนึ่งด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ ด้วยประการนั้นหรือหนอ. [๔๘๐] ข้าแต่สมณะ การเล็งด้วยนัยน์ตาทั้งสองปรากฏว่าเหมือนพร่าไปไม่ถึงคด ข้างหน้า ย่อมไม่สำเร็จความดัดให้ตรง ถ้าหลับนัยน์ตาข้างหนึ่งเล็งดูที่ คดด้วยนัยน์ตาข้างหนึ่ง เล็งได้ถึงที่คดข้างหน้า ย่อมสำเร็จความดัดให้ ตรง บุคคลสองคนถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียวจักวิวาทกับใคร ท่านผู้ปรารถนาสวรรค์ จงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด. [๔๘๑] ดูกรพระนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นายช่างศรกล่าวแล้วหรือยัง นายช่างศร เป็นเพียงคนใช้มาติเตียนเรา ความประพฤติของเราทั้งสอง คือ อาตมา เป็นบรรพชิต เธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุแห่งคำติเตียน ดูกรนางผู้เจริญ ทางสองแพร่งนี้ อันเราทั้งสองผู้เดินทางสัญจรมาแล้ว เธอจงถือเอาทางหนึ่ง อาตมาก็จะถือเอาอีกทางหนึ่ง เธออย่าเรียกอาตมา ว่า เป็นพระสวามีของเธอและอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นพระมเหสี ของอาตมาอีก หญ้ามุงกระต่ายที่เราถอนขึ้นแล้วนี้ ไม่อาจจะสืบต่อกันอีก ได้ ฉันใด แม้เราก็ไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น อาตมาจักอยู่ผู้เดียว เธอก็จงอยู่ผู้เดียวเถิด พระนางสีวลี.
จบ มหาชนกชาดกที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๒๘๗๑-๓๒๐๐ หน้าที่ ๑๑๒-๑๒๔. https://84000.org/tipitaka/atita10/v.php?B=28&A=2871&Z=3200&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/atita10/m_siri.php?B=28&siri=14              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=442              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [442-481] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=28&item=442&items=40              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=1078              The Pali Tipitaka in Roman :- [442-481] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=28&item=442&items=40              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=1078              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja539/en/cowell-rouse

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :