ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา มหานารทกัสสปชาดก
พระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี

หน้าต่างที่   ๒ / ๓.

[๘๕๕] ก็พระนางรุจาราชธิดานั้นประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง เสด็จไป ณ ท่ามกลางหญิงสหาย เพียงดังสายฟ้าแลบ ออกจากกลีบเมฆ เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท. พระนางรุจาราชธิดาเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมพระชนกนาถ ผู้ทรงยินดีในวินัย แล้วประทับอยู่ ณ ตั่งอันวิจิตรด้วยทองคำส่วนหนึ่ง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเตริตา แปลว่า เหมือนสายฟ้าแลบ.
บทว่า อพฺภมิว ได้แก่ แลบออกจากภายในกลีบเมฆ.
บทว่า ปาวิสิ ความว่า เสด็จเข้าไปสู่จันทกปราสาท อันเป็นที่ประทับของพระชนกนาถ.
บทว่า สุวณฺณขจิเต ได้แก่ ที่ตั่งอันล้วนแล้วด้วยทองคำ อันวิจิตรด้วยรัตนะ ๗.

[๘๕๖] ก็พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตร เห็นพระนางรุจาราชธิดา ผู้ประทับอยู่ท่ามกลางหญิงสหาย. ซึ่งเป็นดังสมาคมแห่งนางเทพอัปสร จึงตรัสถามว่า ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท และยังประพาสอยู่ในอุทยาน เล่นน้ำในสระโบกขรณี เพลิดเพลินอยู่หรือ. เขายังนำเอาของเสวยมากอย่าง มาให้ลูกหญิงเสมอหรือ. ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก ยังเก็บดอกไม้ต่างๆ ชนิดมาร้อยพวงมาลัย. และยังช่วยกันทำเรือนหลังเล็กๆ เล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ. ลูกหญิงขาดแคลนอะไรบ้าง เขารีบนำสิ่งของมาให้ ทันใจลูกอยู่หรือ. ลูกรักผู้มีพักตร์อันผ่องใส จงบอกความชอบใจแก่พ่อเถิด แม้สิ่งนั้นจะเสมอดวงจันทร์ พ่อก็จักให้เกิดแก่ลูกจนได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺฉรานํว สงฺคมํ ความว่า ทอดพระเนตรเห็นสมาคมนั้น เหมือนสมาคมแห่งนางเทพอัปสร.
บทว่า ปาสาเท ความว่า ดูก่อนลูก เจ้าย่อมยินดีเพลิดเพลิน ในรติวัฑฒปราสาท อันเสมอเวชยันตปราสาท ซึ่งพ่อสร้างไว้เพื่อเจ้าอยู่หรือ.
บทว่า อนฺโต โปกฺขณึ ปติ ความว่า เฉพาะเรื่องภายในนี้ ลูกยังประพาสสระโบกขรณี อันมีส่วนเปรียบด้วยนันทโบกขรณีซึ่งพ่อสร้างไว้เพื่อลูก เจ้ายังเล่นน้ำรื่นรมย์ยินดีอยู่หรือ.
บทว่า มาลยํ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า ลูกเอ๋ย พ่อจะส่งผอบดอกไม้ ๒๕ กล่องแก่เจ้าทุกวันๆ พวกเจ้าผู้เป็นกุมาริกาทั้งหมด ยังเก็บดอกไม้ร้อยพวงมาลัยนั้น เล่นเพลิดเพลินอยู่เป็นนิตย์หรือ. ยังทำเรือนเฉพาะหลังเล็ก เล่นเพลิดเพลิน อยู่หรือ. พวกเจ้ายังกระทำเรือนดอกไม้ ห้องดอกไม้ ที่นั่งดอกไม้และที่นอนดอกไม้ เหมือนอย่างแข่งขันกันโดยเฉพาะอย่างนี้ว่า เราจะทำให้ดีกว่า อยู่หรือ.
บทว่า วิกลํ แปลว่า ขาดแคลน. บทว่า มนํ กรสฺสุ ความว่า จงยังจิตให้เกิด.
บทว่า กุฏมุขี ความว่า พระเจ้าวิเทหราชตรัสกะพระนางรุจานั้นอย่างนั้น เพราะพระนางเป็นผู้มีพักตร์อันผ่องใส ด้วยปลายเมล็ดพันธุ์ผักกาด.
จริงอยู่ หญิงทั้งหลายทำสีหน้าให้ผ่องใส ทาหน้าด้วยปลายเมล็ดพันธุ์ผักกาดก่อน เพื่อกำจัดต่อมที่หน้า ที่มีโลหิตเสีย ประทุษร้าย แต่นั้นย่อมฉาบทาด้วยผงดิน เพื่อกระทำโลหิตให้สม่ำเสมอ แต่นั้นด้วยปลายเมล็ดงา เพื่อทำผิวให้ผ่องใส.
บทว่า จนฺทสมํ หิ เต ความว่า ชื่อว่าหน้าอันงดงามกว่าดวงจันทร์หาได้ยาก ย่อมไม่มี เจ้าชอบใจในของเช่นนั้นจงบอกพ่อ พ่อจะได้ให้จัดแจงให้แก่ลูก.

[๘๕๗] พระนางรุจาราชธิดาได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา กระหม่อมฉันย่อมได้ของทุกๆ อย่าง ในสำนักของทูลกระหม่อม พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์ ขอราชบุรุษทั้งหลายจงนำพระราชทรัพย์หนึ่งพันมาให้ กระหม่อมฉันจักให้ทานแก่วนิพกทั้งปวง ตามที่ให้มาแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพวนิสฺวหํ ความว่า กระหม่อมฉันจักให้ทานในบรรดาวนิพกทั้งปวง.

[๘๕๘] พระเจ้าอังคติราชได้สดับพระดำรัสของพระนางรุจาราชธิดา แล้วตรัสว่า ลูกหญิงทำทรัพย์ให้พินาศเสียเป็นอันมาก หาผลประโยชน์มิได้ ลูกหญิงยังรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์ ลูกหญิงไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์ บุญไม่มีแก่ผู้ไม่บริโภค.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า องฺคติมพฺรวิ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าอังคติราชนั้น แม้พระราชธิดาเคยทูลขอ ก็ได้ให้ทรัพย์หนึ่งพัน ด้วยตรัสว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงให้ทาน แม้ถูกพระราชธิดาทูลขอในวันนั้นก็ไม่ให้ เพราะถือมิจฉาทิฏฐิ จึงได้ตรัสคำนี้มีอาทิว่า ลูกหญิงทำให้ฉิบหายเสียเป็นอันมาก.
บทว่า นิยเตตํ อภุตฺตพฺพํ ความว่า ชะรอยว่า เจ้าไม่บริโภคอาหารนี้แน่นอน ผู้บริโภคก็ดี ไม่บริโภคก็ดี บุญย่อมไม่มี คนทั้งปวงพึงบริสุทธิ์ได้โดยไม่ล่วงเลย ๘๔ มหากัปแล.

แม้วีชกบุรุษได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตร ในกาลนั้นแล้ว ถอนหายใจฮึดฮัดร้องไห้น้ำตาไหล. ลูกหญิงรุจาเอ๋ย ตราบที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ อย่าอดอาหารเลย ปรโลกไม่มี ลูกหญิงจะลำบากไปทำไม ไร้ประโยชน์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วีชโกปิ ความว่า พระเจ้าอังคติราชทรงนำแม้ เรื่องแห่งวีชกบุรุษ มาเป็นอุทาหรณ์แก่พระราชธิดาว่า แม้วีชกบุรุษกระทำกัลยาณกรรมในกาลก่อน เพราะผลแห่งกรรมนั้น จึงบังเกิดในท้องของนางทาสี.
บทว่า นตฺถิ ภทฺเท ความว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ คุณาจารย์กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้ไม่มี โลกอื่นไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี. สัตว์ทั้งหลายผู้ผุดเกิดไม่มี. สมณพราหมณ์ผู้ยินดีในความพร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติชอบย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้น เมื่อปรโลกมี โลกนี้ชื่อว่าพึงมี โลกนี้นั้นนั่นแลย่อมไม่มี. และเมื่อมารดาบิดามี บุตรธิดาที่ชื่อว่าจะพึงมี นั้นนั่นแลย่อมไม่มี. เมื่อธรรมมี สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่จะพึงมี นั้นนั่นแลย่อมไม่มี. ลูกจะให้ทานไปทำไม จะรักษาศีลไปทำไม เดือดร้อนไปทำไม ไร้ประโยชน์.

[๘๕๙] พระนางรุจาราชธิดา ผู้มีพระฉวีวรรณงดงามทรงทราบกฏธรรมดาในอดีต ๗ ชาติ ในอนาคต ๗ ชาติ ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว กราบทูลพระชนกนาถว่า แต่ก่อนกระหม่อมฉันได้ฟังมาเท่านั้น กระหม่อมฉันเห็นประจักษ์เองข้อนี้ว่า ผู้ใดเข้าไปเสพคนพาล ผู้นั้นก็เป็นพาลไปด้วย ผู้หลงอาศัยคนหลง ย่อมถึงความหลงยิ่งขึ้น อลาตเสนาบดี และนายวีชกะสมควรจะหลง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺพาปรํ ธมฺมํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระนางรุจาราชธิดาได้ทรงสดับพระดำรัสของพระชนกนาถ ทรงรู้ธรรมในก่อนคือในอดีต ๗ ชาติ และธรรมที่ยังไม่มาถึงคืออนาคต ๗ ชาติ ทรงพระประสงค์จะปลดเปลื้อง พระชนกนาถจากมิจฉาทิฏฐิ จึงตรัสคำนี้ มีอาทิว่า สุตเมว ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุปชฺชถ ความว่า ผู้ใดคบคนพาล ผู้นั้นก็สำเร็จเป็นคนพาลไปด้วย ดังนี้ คำนี้หม่อมฉันได้ยินมาก่อนแล้วทีเดียว แต่วันนี้หม่อมฉันเห็นประจักษ์แล้ว.
บทว่า มุฬฺโห หิ ความว่า แม้คนหลงด้วยอำนาจทิฏฐิ อาศัยคนหลงด้วยอำนาจทิฏฐิ ย่อมถึงความหลงยิ่งขึ้น หลงหนักขึ้น เหมือนคนหลงทางอาศัยคนหลงทาง ฉะนั้น.
บทว่า อลาเตน ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ การที่พระองค์อาศัยคุณาชีวกผู้เป็นพาล ไม่มีความละอาย เช่นกับเด็กชาวบ้าน แล้วมาหลงกับอลาตเสนาบดี ผู้เสื่อมจากชาติ โคตร ตระกูล ประเทศ ความเป็นใหญ่ บุญและปัญญา และกับวีชกทาส ผู้ไม่มีปัญญา ผู้มีปัญญาทราม ผู้เสื่อมแล้วโดยส่วนเดียว เป็นการไม่สมควร เป็นการไม่เหมาะสมเลย เหตุไฉน พระองค์จึงไปหลงกับคนเช่นนั้นเล่า.

พระนางรุจาราชธิดาทรงติเตียนชนทั้ง ๒ นั้นอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงสรรเสริญพระชนกนารถ ด้วยทรงประสงค์จะปลดเปลื้องจากมิจฉาทิฏฐิ จึงกราบทูลว่า
[๘๖๐] ขอเดชะ ก็พระองค์มีพระปรีชา ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดรู้ซึ่งอรรถ จะทรงเป็นเช่นกับพวกคนพาล เข้าถึงซึ่งทิฏฐิอันเลวได้อย่างไร ก็ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การบวชของคุณาชีวกก็ไม่มีประโยชน์ คุณาชีวกเป็นคนหลง งมงาย ย่อมถึงความเป็นคนเปลือย เหมือนตั๊กแตนหลงบินเข้ากองไฟ ฉะนั้น คนเป็นอันมากไม่รู้อะไร ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวกว่า ความหมดจดย่อมไม่มีด้วยสังสารวัฏ ก็เชื่อมั่นเสียก่อนทีเดียว จึงพากันปฏิเสธกรรมและผลของกรรม โทษคือความฉิบหายที่ยึดไว้ผิด ในเบื้องต้นก็ยากที่จะเปลื้องได้ เหมือนปลาติดเบ็ด ยากที่จะเปลื้องตนออกจากเบ็ดได้ ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สปฺปญฺโญ ความว่า ก็พระองค์เป็นผู้มีปัญญาด้วยปัญญาอันได้ด้วยการใส่ใจ ถึงยศวัย และปัญญาเครื่องทรงจำ และการสนทนาธรรม ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์. เพราะเหตุนั้นเหมือนกัน ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในเหตุ เพราะเหตุแห่งประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ โดยเป็นนักปราชญ์.
บทว่า พาเลหิ สทิโส ความว่า พระองค์เป็นผู้เข้าถึงทิฏฐิ อันเลวเหมือนคนเหล่านั้น อย่างไรจึงเป็นคนพาล.
บทว่า อปาปตํ ตัดเป็น อปิ อาปตํ อธิบายว่า ตกไปอยู่. พระราชธิดาตรัสอธิบายไว้ว่า ข้าแต่พระชนกนาถ เมื่อความบริสุทธิ์ด้วยสงสารมี. แม้คุณาชีวกก็ละกามคุณ ๕ แล้ว ถึงความเป็นคนเปลือยกาย ไม่มีสิริ ไม่มีความละอาย ไม่มีความแช่มชื่น เพราะความหลงด้วยสามารถแห่งโมหะ เหมือนตั๊กแตนเห็นไฟโพลงในส่วนแห่งราตรี ไม่รู้ถึงทุกข์อันมีกองไฟนั้นเป็นปัจจัย ตกไปในกองไฟนั้นถึงความทุกข์ใหญ่ ฉะนั้น.
บทว่า ปุเร นิวิฏฺฐา ความว่า ข้าแต่พระชนกนาถ ชนเป็นอันมากฟังคำของกัสสปโคตรว่า บริสุทธิ์ด้วยสงสาร เชื่อมั่นลงไปก่อนทีเดียว. เพราะถือว่า ผลของกรรมที่ทำดี และทำชั่วย่อมไม่มี. เมื่อไม่รู้ก็ยึดเอา สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วยความเห็นผิด จึงปฏิเสธกรรม. อธิบายว่า เมื่อปฏิเสธกรรมนั้น ก็ชื่อว่าปฏิเสธผลแห่งกรรม. เมื่อพวกเขายึดถือเอาโทษ อันเป็นความปราชัยแห่งพวกเขา ในชั้นต้นอย่างนี้ ก็เป็นอันชื่อว่า ยึดถือผิด.
บทว่า ทุมฺโมจยา พลิสา อมฺพุโช ว ความว่า ชนพาลเหล่านั้น เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ยึดถือความฉิบหาย ด้วยการเห็นผิดดำรงอยู่. ย่อมชื่อว่า ปลดเปลื้องออกจาก ความฉิบหายนั้นได้โดยยาก. เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเข้าไป ปลดเปลื้องออกจากเบ็ดได้ยาก ฉะนั้น.

พระนางรุจาราชธิดา ครั้นตรัสดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงพร่ำสอนพระราชาให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๘๖๑] ข้าแต่พระราชา กระหม่อมฉันจักยกตัวอย่างมาเปรียบถวาย เพื่อประโยชน์แก่ทูลกระหม่อม บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ บางพวกย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนเรือของพ่อค้า บรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมนำสินค้าอันหนักยิ่งไป จมลงในมหาสมุทร ฉันใด นรชนสั่งสมบาปกรรมทีละน้อยๆ ก็ย่อมพาเอาบาป อันหนักยิ่งไปจมลงในนรก ฉันนั้น.
ทูลกระหม่อมเพคะ อกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังไม่บริบูรณ์ก่อน อลาตเสนาบดียังสั่งสมบาปอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติอยู่ ขอเดชะ การที่อลาตเสนาบดีได้รับความสุขอยู่ในบัดนี้ เป็นผลบุญที่ตนทำไว้แล้วในปางก่อนนั่นเอง บุญของอลาตเสนาบดีนั้นจะหมดสิ้น อลาตเสนาบดีจึงมายินดีในอกุศลกรรมอันไม่ใช่คุณ หลีกละทางตรง เดินไปตามทางอ้อม.
นรชนสั่งสมบุญไว้แม้ทีละน้อยๆ ย่อมไปสู่เทวโลก เหมือนวีชกบุรุษผู้เป็นทาส ยินดีในกรรมอันงาม ย่อมมุ่งไปสู่สวรรค์ได้ เปรียบเหมือนตาชั่งที่กำลังชั่งของ ย่อมต่ำลงข้างหนึ่ง เมื่อเอาของหนักออกเสีย ข้างที่ต่ำก็จะสูงขึ้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิรเย ได้แก่ มหานรก ๘ ขุม อุสสทนรก ๑๖ ขุมและโลกันตนรก. บทว่า ภาโร ความว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม ท่านอลาตเสนาบดีนั้น มีอกุศลภาระยังไม่เพียบก่อน.
บทว่า ตสฺส ความว่า ข้อที่ท่านอลาตเสนาบดีนั้น ได้ความสุขเพราะบุญ นั่นเป็นปัจจัยนั้น เป็นผลแห่งบุญกรรมที่ตนทำไว้ ในชาติก่อน. ข้าแต่ทูลกระหม่อม ความจริงผลแห่งการฆ่าโค อันชื่อว่าเป็นบาปอกุศล จักเป็นผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ก็หาไม่ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เลย.
บทว่า อคุเณ รโต ความว่า จริงอย่างนั้น บัดนี้ เขาย่อมยินดีแต่ในอกุศลกรรม. บทว่า อุชุมคฺคํ ความว่า ละทางกุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า กุมฺมคฺคํ ความว่า แล่นไปสู่ทางอกุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นทางไปนรก. บทว่า โอหิเต ตุลมณฺฑเล ความว่า เมื่อเอาตราชั่งคล้องไว้เพื่อรับสิ่งของ. บทว่า อุนนฺเมติ ความว่า ย่อมยกให้สูงขึ้นข้างบน. บทว่า อาจินํ ความว่า เมื่อนรชนสั่งสมบุญทีละน้อยๆ ปลดบาปที่หนักลง. ยกกัลยาณกรรมขึ้นบนศีรษะแล้วไปสู่เทวโลก.
บทว่า สคฺคาติมาโน ความว่า มุ่งไปในสวรรค์ยินดียิ่งในกัลยาณกรรม อันเป็นสุขสำราญยังสัตว์ให้ถึงสวรรค์. บาลีว่า สคฺคาธิมาโน ดังนี้ก็มี อธิบายว่า มีจิตตั้งมั่นกระทำสวรรค์ไว้เป็นเบื้องหน้า.
บทว่า สาตเว รโต ความว่า วีชกทาสนั้นยินดีในกุศลกรรมอันน่าสำราญใจ มีผลชื่นใจ เวลาบาปกรรมนี้สิ้นไป เขาจักบังเกิดในเทวโลก เพราะผลแห่งกัลยาณกรรม. แต่บัดนี้เขาเข้าถึงความเป็นทาส ได้มีบาปกรรมที่เขาทำไว้ในกาลก่อน อันเป็นทางเป็นไปเช่นนั้น เพราะผลแห่งกัลยาณกรรม หามิได้. ในข้อนี้พึงถึงความตกลง ดังว่ามานี้แล.

พระนางรุจาราชธิดา เมื่อจะทรงประกาศความนี้ จึงได้ตรัสว่า
นายวีชกะผู้เป็นทาส เห็นทุกข์ในตนวันนี้ เพราะได้เสพบาปกรรมที่ตนทำไว้ในปางก่อน. บาปกรรมของเขาจะหมดสิ้น เขาจึงมายินดีในวินัยอย่างนี้. ทูลกระหม่อมอย่าคบหากัสสปคุณาชีวก ทรงดำเนินทางผิดเลย เพคะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา เหวุปฺปถมาคมา ความว่า พระนางรุจาราชธิดาทูลว่า ข้าแต่ทูลกะหม่อม ทูลกระหม่อมเข้าไปหากัสสปคุณาชีวก คนเปลือยนี้ ทูลกระหม่อมอย่าเข้าไปสู่ทางผิด อันเป็นทางไปนรก อย่าได้กระทำบาปเลยเพคะ.

บัดนี้ พระนางรุจาราชธิดา เมื่อจะทรงแสดงโทษในการซ่องเสพบาป และคุณในการคบหากับกัลยาณมิตรแก่พระราชา จึงตรัสว่า
[๘๖๒] ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบบุคคลใดๆ จะเป็นสัตบุรุษก็ตาม อสัตบุรุษก็ตาม ผู้มีศีลก็ตาม ผู้ไม่มีศีลก็ตาม เขาย่อมตกไปสู่อำนาจของผู้นั้น บุคคลทำบุคคลเช่นใดให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันก็ ย่อมเป็นเช่นนั้น. ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง ฉะนั้น นักปราชญ์ไม่ควรเป็นผู้มีคนลามก เป็นสหาย เพราะกลัวจะแปดเปื้อน
การเสพคนพาลย่อมเป็นเหมือน บุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น. ส่วนการคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อของหอม แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไป ฉะนั้น.
เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตน ดังใบไม้สำหรับห่อ จึงไม่คบหาสมาคมอสัตบุรุษ คบหาสมาคมสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ วา ได้แก่ สัตบุรุษก็ดี. บทว่า ยทิ วา อสํ ได้แก่ อสัตบุรุษก็ดี.
บทว่า สโร ทุฏฺโฐ กลาปํว ความว่า ข้าแต่พระราชบิดา มิตรชั่ว เมื่อเสพคบหากับคนอื่น และสนิทชิดเชื้อกับคนอื่น ย่อมจะทำบุรุษผู้ไม่ได้แปดเปื้อนกับบาป ให้มีอัธยาศัยเป็นเช่นเดียวกับตน. เข้าไปเปื้อน คือกระทำให้แปดเปื้อนบาป เหมือนกัน.
บทว่า วายนฺติ ความว่า แม้หญ้าคาเหล่านั้นที่ห่อของนั้น ก็ย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้งขจรไป.
บทว่า ตครญฺจ ความว่า ใบไม้ห่อกฤษณาและคันธชาตที่สมบูรณ์ ด้วยกลิ่นอย่างอื่น ย่อมมีกลิ่นหอมไปด้วย. บทว่า เอวํ ความว่า เข้าไปคบกับนักปราชญ์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จริงอยู่นักปราชญ์กระทำผู้คบกับตน ให้เป็นนักปราชญ์เหมือนกัน.
บทว่า ตสฺมา ปตฺตปุฏสฺเสว ความว่า เพราะเหตุที่ใบไม้ที่ห่อของหอมมีกฤษณาเป็นต้น ย่อมพลอยมีกลิ่นหอมไปด้วย ฉะนั้น. พึงรู้อย่างนี้ว่า แม้เราก็เป็นบัณฑิต เพราะการซ่องเสพกับบัณฑิต เหมือนใบไม้สำหรับห่อฉะนั้น.
บทว่า สมฺปากมตฺตโน ความว่า ครั้นรู้ความแก่กล้า ความแปรไป ความเป็นบัณฑิตของตนแล้ว พึงละอสัตบุรุษ คบหาแต่สัตบุรุษผู้เป็นบัณฑิต.
ในบทว่า นิรยํ เนนฺติ นี้ บัณฑิตพึงนำอุทาหรณ์ ด้วยอำนาจนิทานว่า ชื่อว่านำนรกมา ด้วยเรื่องพระเทวทัตเป็นต้น และนำสุคติมา ด้วยเรื่องพระสารีบุตรเถระเป็นต้น.

พระราชธิดา ครั้นทรงแสดงธรรมแก่พระชนกนาถด้วย ๖ คาถาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงทุกข์ อันตนเคยเสวยมาในอดีต จึงตรัสว่า
[๘๖๓] แม้กระหม่อมฉันก็ระลึกชาติ ที่ตนท่องเที่ยวมาแล้วได้ ๗ ชาติ และระลึกชาติที่ตนจุติจากชาตินี้แล้ว จักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ ข้าแต่พระจอมประชาชน ชาติที่ ๗ ของกระหม่อมฉันในอดีต กระหม่อมฉันเกิดเป็นบุตรนายช่างทองในแคว้นมคธ ราชคฤห์มหานคร กระหม่อมฉันได้คบหาสหายผู้ลามก ทำบาปกรรมไว้มาก เที่ยวคบชู้ภรรยาของชายอื่น เหมือนจะไม่ตาย กรรมนั้นยังไม่ให้ผล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดไว้.
ในกาลต่อมา ด้วยกรรมอื่นๆ กระหม่อมฉันนั้นได้เกิดในวังสรัฐ เมืองโกสัมพี เป็นบุตรคนเดียว ในสกุลเศรษฐี ผู้สมบูรณ์มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมาย คนทั้งหลายสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์ ในชาตินั้น กระหม่อมฉันได้คบหาสมาคมมิตรสหายผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต เขาได้แนะนำให้กระหม่อมฉันรักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดราตรีเป็นอันมาก กรรมนั้นยังไม่ได้ให้ผล ดังขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ.
ครั้นภายหลัง บรรดากรรมทั้งหลาย ปรทารกกรรม อันใดที่กระหม่อมฉันได้กระทำไว้ ในมคธรัฐ ผลแห่งกรรมนั้นมาถึงกระหม่อมฉันแล้ว เหมือนดื่มยาพิษอันร้ายแรง ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากตระกูลเศรษฐีนั้นแล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรก สิ้นกาลนาน เพราะกรรมของตน กระหม่อมฉันได้ระลึกถึงทุกข์ที่ได้เสวยในนรกนั้น ไม่ได้ความสุขเลย กระหม่อมฉันยังทุกข์เป็นอันมาก ให้สิ้นไปในนรกนั้นนานปี แล้วเกิดเป็นลาถูกเขาตอน อยู่ในภิณณาคตนคร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺต ความว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม ชื่อว่า โลกนี้และโลกหน้า และผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีและทำชั่ว ย่อมมี แต่สงสารไม่สามารถจะชำระ สัตว์ทั้งหลายให้หมดจดได้ ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจดด้วยกรรมเท่านั้น อลาตเสนาบดี และวีชกะผู้เป็นทาส ย่อมระลึกได้เพียงชาติเดียวเท่านั้น มิใช่แต่ท่านเหล่านั้นเท่านั้นที่ระลึกชาติได้ แม้กระหม่อมฉันก็ระลึกถึง ความที่ตนท่องเที่ยวในอดีตได้ถึง ๗ ชาติ ทั้งย่อมระลึกถึงชาติที่จะพึงไปจากนี้ แม้ในอนาคตถึง ๗ ชาติเหมือนกัน.
บทว่า ยา เม สา ความว่า ชาติที่ ๗ ในอดีตของหม่อมฉันก็มีอยู่.
บทว่า กมฺมารปุตฺโต ความว่า ในชาติที่ ๗ นั้นหม่อมฉันเกิดเป็นบุตรช่างทอง ในกรุงราชคฤห์ มคธรัฐ.
บทว่า ปรทารสฺส เหเฐนฺตา ได้แก่ เบียดเบียนภรรยาของคนอื่น คือผิดในภัณฑะที่คนเหล่าอื่นรักษาคุ้มครองไว้.
บทว่า อฏฺฐ เพราะกรรมชั่วนั้นที่หม่อมฉันทำในเวลานั้น ไม่ได้โอกาสได้ตั้งเก็บไว้ แต่เมื่อได้โอกาสจึงให้ผล เหมือนไฟอันเถ้าปิดไว้ฉะนั้น.
บทว่า วํสภูมิยํ แปลว่า ในวังสรัฐ. บทว่า เอกปตฺโต ความว่า หม่อมฉันได้เป็นบุตรคนเดียว ในตระกูลเศรษฐี มีสมบัติถึง ๘๐ โกฏิ.
บทว่า สาตเว รตํ ความว่า ยินดียิ่งในกัลยาณกรรม.
บทว่า โส มํ ได้แก่ เขาได้เป็นสหาย ได้ชักนำหม่อมฉันให้ตั้งอยู่ในสิ่งเป็นประโยชน์ คือในกุศลกรรม.
บทว่า ตํ กมฺมํ ความว่า กัลยาณกรรมของหม่อมฉันแม้นั้น ยังไม่ได้โอกาสในกาลนั้น ครั้นเมื่อได้โอกาสจึงให้ผล. บทว่า อุทกนฺติเก ความว่า ได้เป็นขุมทรัพย์ฝังไว้ในน้ำ.
บทว่า ยเมตํ ความว่า ลำดับในบรรดากรรมชั่ว มีประมาณเท่านี้ของหม่อมฉัน กรรมใดที่หม่อมฉัน กระทำแล้วในภรรยาของคนอื่น ในมคธรัฐ. ผลแห่งกรรมนั้นจึงติดตามมาถึงหม่อมฉัน.
ถามว่า เหมือนอะไร?
แก้ว่า เหมือนบุคคลบริโภคยาพิษ ฉะนั้น. อธิบายว่า กรรมนั้นย่อมถึงหม่อมฉัน เหมือนยาพิษที่ชั่วช้า กล้าแข็ง ร้ายกาจ กำเริบแก่บุคคลผู้บริโภค โภชนะอันมียาพิษ ฉะนั้น.
บทว่า ตโต ได้แก่ จากตระกูลเศรษฐีในกรุงโกสัมพีนั้น.
บทว่า ตํ สรํ ความว่า หม่อมฉัน เมื่อระลึกถึงทุกข์ที่หม่อมฉันเสวยในนรกนั้น ย่อมไม่ได้รับความสบายใจเลย หม่อมฉันย่อมเกิดแต่ความกลัวเท่านั้น.
บทว่า ภินฺนาคเต ความว่า ในภินนาคตรัฐ หรือในนครชื่อว่า ภินนาคตะ.
บทว่า อุทฺธตปฺผโล ได้แก่ พืชที่ถูกเขาตอน ก็แพะนั้นได้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง คนทั้งหลายแม้ขึ้นขี่หลังแพะ นำแพะนั้นไปเทียมแพะนั้น แม้ที่ยานน้อย.

พระนางรุจาราชธิดา เมื่อประกาศความนั้น จึงกล่าวว่า
[๘๖๔] กระหม่อมฉันพาลูกผู้ดีทั้งหลายไปด้วยหลังบ้าง ด้วยรถบ้าง นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือการที่หม่อมฉันคบชู้กับภรรยาของคนอื่น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาตปุตฺตา ได้แก่ บุตรแห่งอำมาตย์ทั้งหลาย.
บทว่า ตสฺส กมฺมสฺส ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ การที่หม่อมฉันหมกไหม้อยู่ในมหาโรรุวนรก และการที่หม่อมฉันถูกตอน ในกาลเป็นแพะ ทั้งหมดนั่นเป็นผลของกรรมนั้น คือกรรมที่หม่อมฉันคบชู้กับภรรยาของคนอื่น.

ก็แล ครั้นหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลานั้นแล้ว ก็ถือปฏิสนธิในกำเนิดลิงในป่า ครั้นในวันที่หม่อมฉันเกิด พวกลิงเหล่านั้นนำหม่อมฉันไปแสดงแก่ลิงผู้เป็นนายฝูง ลิงผู้เป็นนายฝูงกล่าวว่า จงนำบุตรมาให้เรา ดังนี้แล้ว จับไว้มั่นแล้วกัดลูกอัณฑะของลิงนั้น ถึงจะร้องเท่าไรก็ไม่ปล่อย.
เมื่อพระนางรุจาราชธิดาประกาศความนั้น จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระชนกนาถผู้ปกครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติลานั้นแล้ว ก็ไปเป็นลิงอยู่ในป่าสูง ถูกลิงนายฝูงคะนองปากขบกัดลูกอัณฑะ นั่นเป็นผลของการที่เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิลุจฺฉิตผโลเยว ความว่า หม่อมฉันถูกลิงนายฝูงคะนองปากในป่านั้น ขบกัดลูกอัณฑะเอาทีเดียว.

เมื่อพระนางรุจาราชธิดาจะทรงแสดงชาติอื่นๆ จึงทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิงนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นโค ในทสันนรัฐ. ถูกเขาตอน มีกำลังแข็งแรง. กระหม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่สิ้นกาลนาน นั่นเป็นผลของกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น. ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว มาบังเกิดเป็นกะเทย ในตระกูลที่มีโภคสมบัติมาก ในแคว้นวัชชี. จะได้เกิดเป็นมนุษย์ยากจริงๆ. นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือการที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น.
ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกะเทยนั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นนางอัปสร ในนันทนวัน ณ ดาวดึงส์พิภพ มีวรรณะน่าใคร่ มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง เป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะ. ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ เมื่อกระหม่อมฉันอยู่ในดาวดึงส์พิภพนั้น ระลึกชาติแม้ในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ ที่กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว จักไปเกิดต่อไป.
กุศลที่กระหม่อมฉันทำไว้ ในเมืองโกสัมพี ตามมาให้ผล. กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์. ข้าแต่พระมหาราชา กระหม่อมฉันเป็นผู้อันชนทั้งหลาย สักการะแล้วเป็นนิตย์ ตลอด ๗ ชาติ. กระหม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐชาติที่ ๗ กระหม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย เป็นเทพบุตร ผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา. แม้วันนี้นางอัปสรทั้งหลายก็ยังร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัย อยู่ในนันทนวัน. เทพบุตรนามว่าชวะ สามีกระหม่อมฉัน ยังรับพวงมาลัยอยู่.
๑๖ ปีในมนุษย์นี้ราวครู่หนึ่งของเทวดา. ๑๐๐ ปีในมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา. ดังที่ได้กราบทูลให้ทรงทราบมานี้ กรรมทั้งหลายย่อมติดตามไปทุกๆ ชาติ. แม้ตั้งอสงไขย ด้วยว่ากรรมจะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่วก็ตาม (ยังไม่ให้ผลแล้ว) ย่อมไม่พินาศไป.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสนฺเนสุ แปลว่า ในทสันนรัฐ. บทว่า ปสุ แปลว่า เป็นโค. บทว่า อหุ แก้เป็น อโหสิ แปลว่า ได้เป็นแล้ว. บทว่า นิลุจฺฉิโต ความว่า ในกาลที่หม่อมฉันเป็นลูกโคนั้นเอง พวกเขาได้ตอนพืชของหม่อมฉัน ด้วยคิดว่าจักเป็นที่ชอบใจ ด้วยประการฉะนี้. หม่อมฉันนั้นถูกเขาตอนแล้ว คือเป็นเหมือนคนมีกำลังดีถูกถอนพืช ฉะนั้น. บทว่า วชฺชีสุ กุลมาคโต นี้พระนางรุจาราชธิดาแสดงว่า หม่อมฉันจุติจากกำเนิดโคแล้ว บังเกิดในตระกูลคนผู้มีโภคะมากตระกูลหนึ่งในแคว้นวัชชี. ด้วยบทว่า เนวิตฺถี น ปุมา นี้ท่านกล่าวหมายถึงกะเทย. ภวเน ตาวตึสาหํ ความว่า หม่อมฉันเกิดในภพดาวดึงส์.
บทว่า ตตฺถ ฐิตาหํ เวเทห สรามิ ชาติโย อิมา ความว่า ได้ยินว่า พระนางรุจานั้นอยู่ในเทวโลกนั้นตรวจดูอยู่ว่า เรามาสู่เทวโลกเห็นปานนี้ มาจากไหนหนอ? เห็นแล้วซึ่งความเกิดในเทวโลกนั้น เพราะจุติจากความเป็นกะเทย ในตระกูลที่มีโภคะมาก ในแคว้นวัชชี. จากนั้น พระนางรุจาราชธิดาตรวจดูว่า เพราะกรรมอะไรหนอ เราจึงบังเกิดในที่อันน่ารื่นรมย์เช่นนี้. เห็นแล้วซึ่งกุศลมีทาน ที่ตนทำแล้วเป็นต้น ทำให้บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงโกสัมพี. ตรวจดูว่า เราบังเกิดในอัตภาพเป็นกะเทย ในภพอดีตเป็นลำดับ มาแต่ที่ไหน. ดังนี้ ได้รู้แล้วว่า ตนเคยเสวยทุกข์ใหญ่ ในกำเนิดโค ในทสันนรัฐ. เมื่อหวลระลึกถึงชาติต่อจากนั้น ได้เห็นตนถูกตอน ในกำเนิดลิง. เมื่อหวลระลึกชาติถัดจากนั้น จึงหวลระลึกถึงภาวะที่ตนถูกตอนพืชในกำเนิดแพะ ในภินนาคตะรัฐ. เมื่อหวลระลึกถัดจากชาตินั้น ได้ระลึกถึงภาวะที่ตนบังเกิดในโรรุวนรก.

ลำดับนั้น เมื่อพระนางรุจาราชธิดาระลึกถึง ภาวะที่ตนหมกไหม้ในนรก และทุกข์ที่ตนเสวยในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ความกลัวจึงเกิดขึ้น. ลำดับนั้น พระนางรุจาราชธิดา เมื่อหวลระลึกถึงชาติที่ ๖ ว่า เราเสวยทุกข์เห็นปานนี้ เพราะกรรมอะไรหนอ. จึงเห็นกัลยาณกรรมที่ตนกระทำ ในกรุงโกสัมพีในชาตินั้น. แล้วทรงตรวจดู ชาติที่ ๗ ได้เห็นกรรมคือ การคบชู้กับภรรยาคนอื่นที่ตนทำ เพราะอาศัยมิตรชั่ว ในมคธรัฐ. จึงได้รู้ว่า เราเสวยทุกข์ใหญ่นั้น เพราะผลแห่งกรรมนั้น.
ลำดับนั้น พระนางจึงตรวจดูว่า เราจุติจากชาตินี้แล้ว จักบังเกิดในภพไหนในอนาคต. ได้รู้ว่า เราจักบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกเทวราชนั่นแลอีก ดำรงอยู่ตลอดชีวิต. เมื่อพระนางได้ตรวจดูบ่อยๆ อย่างนี้. ได้ทราบว่าในอัตภาพที่ ๓ จักบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกเทวราชนั่นแล. ส่วนชาติที่ ๔ และที่ ๕ ก็เหมือนกัน. รู้ว่าเราจักบังเกิดเป็นอัครมเหสีของชวนะเทพบุตร ในเทวโลกนั้นนั่นเอง แล้วตรวจดูถัดจากชาตินั้นไป. รู้ว่าในอัตภาพที่ ๖ เราจุติจากภพดาวดึงส์นี้แล้ว จักบังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี ของพระเจ้าอังคติราช. เราจักมีนามว่า รุจา ดังนี้. จึงตรวจดูว่า ถัดจากชาตินั้นจักบังเกิด ณ ที่ไหน. รู้ว่าในชาติที่ ๗ จุติจากชาตินั้นแล้ว จักบังเกิดเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก ในภพดาวดึงส์. จักพ้นจากความเป็นหญิง. เพราะเหตุนั้น พระนางรุจาราชธิดาจึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงครอบครองวิเทหรัฐ หม่อมฉันอยู่ที่นั้นระลึกชาติได้ ๗ ชาติ. แม้ในอนาคตจุติจากชาตินี้ไปก็ระลึกได้ ๗ ชาติเหมือนกัน.

บทว่า ปริยาคตํ ความว่าโดยปริยาย ท่องเที่ยวไปมาตามวาระของตน.
บทว่า สตฺต ชจฺจา ความว่า พระนางตรัสว่า ๗ ชาติ คือในเทวโลก ๕ ชาติกับชาติที่เป็นกะเทยในแคว้นวัชชี. และในชาติที่ ๖ นี้ พระนางทรงแสดงไว้ว่า หม่อมฉันเป็นผู้อันเขาบูชาสักการะ เป็นนิตย์ตลอด ๗ ชาตินั้น.
บทว่า ฉฏฺฐา ว คติโย นี้ พระนางกล่าวว่า เราจักไม่พ้น ความเป็นหญิง ตลอด ๖ คติเหล่านี้ คือในเทวโลก ๕ คติ และในชาตินี้ ๑ คติ.
บทว่า สตฺตมี จ ความว่า จุติต่อจากนั้นแล้ว เป็นชาติที่ ๗. บทว่า สนฺตานมยํ ความว่า มีความสืบต่อที่ตนทำ ด้วยอำนาจขั้วเดียวกันเป็นต้น.
บทว่า คนฺเถนฺติ ความว่า เป็นเหมือนสืบต่อด้วยกัน. เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ทุกวันนี้นางบำเรอของเรา ก็ไม่รู้ความจุติของเราในนันทนวัน ย่อมร้อยพวงมาลัย เพื่อประโยชน์แก่เราเท่านั้น.
บทว่า โส เม มาลํ ปฏิจฺฉติ ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า โดยชาติอันเป็นลำดับ เทพบุตรนามว่าชวะ ผู้เป็นสวามีของหม่อมฉัน ย่อมรับพวงดอกไม้ที่หล่นจากต้น.
บทว่า โสฬส ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ว่าโดยชาติของหม่อมฉันจนบัดนี้ได้ ๑๖ ปี. แต่กาลประมาณเท่านี้ เหมือนกับกาลครู่หนึ่งของเทวดา ก็เพราะเหตุนั้นหญิงบำเรอเหล่านั้น จึงไม่รู้แม้ถึงการจุติของหม่อมฉัน ยังคงร้อยพวงมาลัย เพื่อหม่อมฉันอยู่เชียว.
บทว่า มานุสึ ความว่า อาศัยการนับปีของมนุษย์.
บทว่า สรโทสตํ ความว่า เป็น ๑๐๐ ปี (ของมนุษย์) เทวดาทั้งหลายมีอายุยืนอย่างนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ด้วยเหตุนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบปรโลก กรรมดีและกรรมชั่วว่ามีอยู่.
บทว่า อนฺเวนฺติ ความว่า กรรมดีและกรรมชั่ว ย่อมติดตามเราไปทุกๆ ชาติอย่างนี้.
บทว่า น หิ กมฺมํ วินสฺสติ ความว่า ทิฏฐเวทนียกรรม ย่อมให้ผลในอัตภาพนั้นนั่นเอง. อุปปัชชเวทนียกรรม ย่อมให้ผลในอัตภาพถัดไป ส่วนอปราปรเวทนียกรรมไม่ให้ผล จักไม่พินาศไป.
พระนางรุจาราชธิดาทรงหมายเอาอปราปรเวทนีกรรมนั้น จึงตรัสว่า กรรมจักไม่พินาศไปแล ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เพราะผลแห่งกรรมที่หม่อมฉันทำชู้กับภรรยาของคนอื่น. หม่อมฉันจึงหมกไหม้ในนรก แล้วเสวยทุกข์อย่างใหญ่ ในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน. ถ้าแม้บัดนี้ พระองค์ทรงเชื่อถ้อยคำของคุณาชีวก จักกระทำอย่างนี้. พระองค์ก็จักเสวยทุกข์ เหมือนที่หม่อมฉันเสวยแล้ว นั่นแล. เพราะเหตุนั้น พระองค์อย่าได้ทรงกระทำอย่างนั้นเลย.

ลำดับนั้น พระนางรุจาราชธิดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไปแก่พระราชบิดานั้น จึงตรัสว่า
[๘๖๕] ชายใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆ ชาติไป ก็พึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย เหมือนบุคคลล้างเท้าสะอาด. แล้วเว้นจากเปือกตม ฉะนั้น.
หญิงใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆชาติไป ก็พึงยำเกรงสามี เหมือนนางเทพอัปสร ผู้เป็นบาทบริจาริกายำเกรงพระอินทร์ ฉะนั้น.
ผู้ใดปรารถนา โภคทรัพย์ อายุ ยศและสุขอันเป็นทิพย์ ก็พึงเว้นบาปทั้งหลาย ประพฤติแต่สุจริตธรรม ๓ อย่าง. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ควรเป็นผู้ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ มีปัญญาเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน.
นรชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่เป็นคนมียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง. นรชนเหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ ในปางก่อนแล้วโดยไม่ต้องสงสัย. สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของตัว.
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริด้วยพระองค์เองเถิด. ข้าแต่พระจอมชน พระสนม (ผู้ทรงโฉมงดงาม) ปานดังนางเทพอัปสร ผู้ประดับประดา คลุมกายด้วยตาข่ายทอง เหล่านี้. พระองค์ทรงได้มา เพราะผลแห่งกรรมอะไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โหตุํ แปลว่า เพื่อเป็น. บทว่า สพฺพสมนฺตโภคา แปลว่า มีโภคะทุกอย่างบริบูรณ์.
บทว่า สุจิณฺณํ ได้แก่ สั่งสมไว้ด้วยดี คือกระทำกัลยาณกรรม.
บทว่า กมฺมสฺสกา เส ความว่า มีกรรมเป็นของแห่งตน คือเสวยผลของกรรมที่ตนทำนั่นเอง. ไม่ใช่กรรมที่มารดาบิดาทำแล้ว ให้ผลแก่บุตรธิดา. ไม่ใช่กรรมที่บุตรธิดาเหล่านั้นทำแล้ว ให้ผลแก่มารดาบิดา. กรรมที่คนนอกนั้นกระทำ จะให้ผลแก่คนนอกนั้นอย่างไร?
ศัพท์ว่า อิงฺฆ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า ประท้วง.
บทว่า อนุจินฺเตสิ แปลว่า พึงคิดบ่อยๆ.
บทว่า ยา เม อิมา ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ อันดับแรกพึงคิด ด้วยตนเองดังนี้ว่า หญิงที่บำรุงบำเรอพระองค์ ๑,๖๐๐ นางนี้นั้น พระองค์นอนหลับได้ หรือได้มาเพราะกระทำการปล้นในหนทาง หรือตัดช่องย่องเบาเป็นต้นได้มา หรือได้มาเพราะอาศัยกัลยาณกรรมเป็นต้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
พระนางรุจาราชกัญญายังพระเจ้าอังคติราชชนกนาถ ให้ทรงยินดี พระราชกุมารีผู้มีวัตรอันดีงาม กราบทูลทางสุคติแก่พระชนกนาถ ประหนึ่งบอกทางให้แก่คนหลงทาง และได้กราบทูลข้อธรรมถวาย โดยนัยต่างๆ ด้วยประการฉะนี้แล.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺเจวํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชกัญญานั้นทรงยังพระราชบิดา ให้ทรงยินดีด้วยถ้อยคำอันไพเราะเห็นปานนี้ ด้วยประการฉะนี้. ทูลบอกทางสุคติแด่พระชนกนาถนั้น เหมือนคนบอกหนทางแก่คนหลงทาง ฉะนั้น. และเมื่อจะทรงกล่าวธรรมแก่พระชนกนาถนั่นแหละได้ ทรงกล่าวสุจริตธรรมด้วยนัยต่างๆ. บทว่า สุพฺพตา แปลว่า ผู้มีวัตรอันดีงาม.

พระนางรุจาราชธิดาได้ทูลเล่าถึงชาติที่ตนเกิดมาแล้วในอดีต และแสดงธรรมถวายแด่พระชนกนาถ ตั้งแต่เช้าตลอดคืนยังรุ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์อย่าทรงถือถ้อยคำของคนเปลือยกาย ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลย โลกนี้มี โลกหน้ามี สมณพราหมณ์มี ผลของความดีความชั่วก็มี ขอพระองค์จงทรงเชื่อฟังคำของกัลยาณมิตร เช่นกระหม่อมฉันกล่าวนี้เถิด อย่าได้ทรงแล่นไป ในที่มิใช่ท่าเลย แม้เมื่อพระนางรุจาราชธิดากราบทูลถึงอย่างนี้ ก็ไม่อาจปลดเปลื้องพระชนกจากมิจฉาทิฏฐิได้ ส่วนพระเจ้าอังคติราชทรงสดับวาจาอันไพเราะของพระราชธิดานั้นแล้ว ทรงปลื้มพระราชหฤทัย.
จริงอยู่ มารดาบิดาย่อมรักเอ็นดูถ้อยคำของบุตรที่รัก แต่คำพูดนั้นหาทำให้บิดาละมิจฉาทิฏฐิได้ไม่ แม้ชาวพระนคร ก็ลือกระฉ่อนกันว่า พระนางรุจาราชธิดาทรงแสดงธรรม หวังจะให้พระชนกละมิจฉาทิฏฐิ มหาชนพากันดีใจว่า พระราชธิดาเป็นบัณฑิต ปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระชนกได้แล้ว จักถึงความสวัสดีแก่ชาวพระนครทั้งหลาย.
พระนางรุจาราชธิดา เมื่อไม่อาจปลุกพระชนกให้ตื่นได้ ก็ไม่ทรงละความพยายามเลย ทรงดำริหาช่องทางต่อไปว่า จักหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง มากระทำความสวัสดีแก่พระชนก แล้วประคองอัญชลีกรรมขึ้นเหนือพระเศียร นมัสการทิศทั้ง ๑๐ แล้วทรงอธิษฐานว่า ในโลกนี้ย่อมมีสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีท้าวโลกบาล ท้าวมหาพรหมเป็นผู้บริหารโลก ข้าพเจ้าขอเชิญท่านเหล่านั้นมาปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิของพระชนกนาถของข้าพเจ้า ด้วยกำลังตน เมื่อพระคุณของพระชนกนาถไม่มี ขอเชิญด้วยคุณด้วยกำลัง และด้วยความสัจของข้าพเจ้า จงมาช่วยปลดเปลื้องความเห็นผิดนี้ จงได้มาทำความสวัสดีแก่สากลโลก.

.. อรรถกถา มหานารทกัสสปชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑][๒] [๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]