ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา มโหสถชาดก
พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่   ๓ / ๑๒.

จบปัญหาสิริกับกาลกรรณี
วันอื่น พระเจ้าวิเทหราชเสวยกระยาหารเช้าแล้ว เสด็จดำเนินไปมา ณ ระหว่างพื้นยาวแห่งปราสาท. เมื่อทอดพระเนตรออกไปทางช่องพระแกล ได้ทอดพระเนตรเห็นแพะหนึ่งสุนัขหนึ่ง ทำความเชยชิดเป็นมิตรกัน. ได้ยินว่า แพะนั้นกินหญ้า ในโรงช้างที่เขาทอดไว้หน้าช้าง ช้างยังมิได้จับ. ลำดับนั้น คนเลี้ยงช้างทั้งหลายตีแพะนั้นให้ออกไป. คนเลี้ยงช้างคนหนึ่งไล่ติดตามแพะนั้น ซึ่งร้องหนีไปโดยเร็ว เอาท่อนไม้ตีขวางลงที่หลังแพะ แพะนั้นแอ่นหลังได้ทุกขเวทนา. ไปนอนใกล้ตั่ง อาศัยฝาใหญ่ในพระราชคฤหาสน์. วันนั้น สุนัขเคี้ยวกินกระดูกและหนังเป็นต้น ที่ห้องเครื่องหลวงจนอ้วนพี. เมื่อพ่อครัวจัดภัตตาหาร แล้วออกไปข้างนอกผึ่งเหงื่อในสรีระ. มันได้กลิ่นปลาเนื้อ ไม่อาจอดกลั้นความอยาก ก็เข้าไปในห้องเครื่อง. ยังเครื่องปิดภาชนะให้ตกลงแล้วเคี้ยวกินเนื้อ. ฝ่ายพ่อครัวได้ยินเสียงภาชนะ ก็เข้าไปทางเสียงภาชนะ. เห็นสุนัขกำลังกินเนื้ออยู่ จึงปิดประตูตีสุนัขนั้นด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น. สุนัขนั้นก็ทิ้งเนื้อที่เคี้ยวกินจากปาก ร้องวิ่งหนีออกไป. พ่อครัวรู้ว่า สุนัขหนีออกไป จึงติดตามไปตีขวางที่หลังด้วยท่อนไม้. สุนัขก็แอ่นหลังยกเท้าข้างหนึ่งเข้าไปในที่แพะนอน. แพะถามสุนัขนั้นว่า เพื่อนแอ่นหลังยกเท้าข้างหนึ่งมา ด้วยเหตุไร. ลมเสียดแทงเพื่อนหรือ. ฝ่ายสุนัขก็ถามว่า เพื่อนแอ่นหลังนอนอยู่ ลมเสียดแทงเพื่อนหรือ. แพะบอกเรื่องของตนแก่สุนัข แม้สุนัขก็บอกอย่างนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น แพะถามสุนัขว่า เพื่อนสามารถจะไปสู่โรงครัวอีกหรือ. สุนัขตอบว่า ข้าไม่สามารถแล้ว เมื่อข้าไปชีวิตจะไม่มี. ก็เพื่อนสามารถจะไปสู่โรงช้างอีกหรือ. แพะตอบว่า ถึงข้าก็ไม่กล้าไปที่โรงช้างนั้น ถ้าข้าขืนไป ชีวิตก็จะไม่มี. สัตว์ทั้งสองคิดหาอุบายว่า บัดนี้ เราจะเป็นอยู่ได้อย่างไรหนอ. แพะจึงกล่าวกะสุนัขว่า ถ้าเราทั้งสองอาจอยู่ร่วมกัน อุบายก็มี คือตั้งแต่นี้ไป เจ้าจงไปโรงช้าง พวกคนเลี้ยงช้างจักไม่สงสัยในตัวเจ้า ด้วยเห็นว่า สัตว์นี้ไม่กินหญ้า เจ้าพึงนำหญ้ามาเพื่อข้า. ส่วนข้าจักเข้าไปในโรงครัว พ่อครัวจักไม่สงสัยในตัวข้า ด้วยเห็นว่า สัตว์นี้ไม่กินเนื้อ. ข้าก็จักนำเนื้อมาเพื่อเจ้า. สัตว์ทั้งสองตกลงกันว่า อุบายนี้เข้าที. สุนัขจึงไปโรงช้าง คาบฟ่อนหญ้า นำมาวางไว้ใกล้หลังฝาใหญ่. ฝ่ายแพะไปสู่ห้องเครื่อง คาบก้อนเนื้อเต็มปาก นำมาวางไว้ใกล้ที่นั้นเอง. สุนัขก็เคี้ยวกินเนื้อ แพะเคี้ยวกินหญ้า. สัตว์ทั้งสองนั้นพร้อมเพรียงชอบพอกันอยู่ใกล้หลังฝาใหญ่. พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตร เห็นความที่แพะและสุนัขทั้งสองนั้นชอบกันโดยเป็นเพื่อน. จึงทรงจินตนาการว่า เหตุการณ์ที่เรายังไม่เคยเห็น เราได้เห็นแล้วในวันนี้. แต่ก่อนมาสัตว์ทั้งสองนี้เป็นศัตรูกัน. บัดนี้ อยู่ร่วมกันได้ เราจักจับเหตุการณ์นี้ ทำเป็นปัญหาถามบัณฑิตทั้งหลาย. บัณฑิตใดไม่รู้ปัญหานี้ เราจักขับบัณฑิตนั้นจากแคว้น. แต่เราจักสักการะแก่บัณฑิตผู้รู้ เพราะบัณฑิตอื่นรู้อย่างนี้ไม่มี. วันนี้หมดเวลาแล้ว พรุ่งนี้เราจักถามบัณฑิตเหล่านั้น ในเวลามาทำการในหน้าที่. รุ่งขึ้น ในเมื่อบัณฑิตทั้งหลายมานั่งทำการในหน้าที่ของตนแล้ว. เมื่อจะถามปัญหา จึงตรัสคาถานี้ว่า
ความที่สัตว์เหล่าใดเป็นเพื่อนกันในโลกนี้ แม้ไปด้วยกันสัก ๗ ก้าว ไม่เคยมีในกาลไหนๆ. สัตว์ทั้งสองนั้นเป็นศัตรูกัน มาเป็นเพื่อนประพฤติเพื่อคุ้นกันได้ เพราะเหตุอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิสนฺถาย ได้แก่ เชื่อกันและกันแล้วพยายาม.
ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสอย่างนี้อีกว่า
ถ้าเวลากินอาหารเช้าแล้ววันนี้ ท่านทั้งหลายไม่สามารถกล่าวแก้ปัญหานี้ของเรา. เราจักขับท่านทั้งปวงจากแว่นแคว้น เพราะเราไม่ต้องการพวกคนเขลา.

เสนกะนั่งอยู่ต้นอาสนะ มโหสถบัณฑิตนั่งอยู่ที่สุดอาสนะ. พระมหาสัตว์พิจารณาปัญหานั้น ยังไม่เห็นเนื้อความ. จึงคิดว่า พระราชาองค์นี้มีพระชวนะเฉื่อยช้า ไม่สามารถจะทรงจับคิดปัญหานี้. พระองค์คงจักทอดพระเนตรเห็นอะไรแน่. วันหนึ่ง เมื่อเราได้โอกาสจักนำปัญหานี้ออกแสดง อาจารย์เสนกะจักยังพระราชาให้งดสักวันหนึ่งในวันนี้ ด้วยอุบายอย่างหนึ่งจะได้หรือ. ชนทั้งสามนอกนี้ แลไม่เห็นอะไรๆ เหมือนเข้าห้องมืด ฉะนั้น. เสนกะแลดูพระโพธิสัตว์ ด้วยมนสิการว่า ความเป็นไปของมโหสถจะเป็นอย่างไรหนอ. ฝ่ายมโหสถก็แลดูเสนกะ เสนกะรู้ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ ด้วยอาการที่พระโพธิสัตว์แลดู. จึงคิดว่า ปัญหานั้นยังไม่ปรากฏแก่มโหสถ. เพราะเหตุนั้น มโหสถจึงปรารถนาโอกาสวันหนึ่ง เราจักยังมโนรถของมโหสถให้เต็ม. จึงสรวลขึ้นด้วยวิสาสะกับพระราชา. ทูลว่า พระองค์จักขับข้าพระบาทเหล่านี้ ผู้ไม่สามารถกล่าวแก้ปัญหาจากแคว้นจริงๆ หรือ พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสตอบว่า จริงๆ ซิบัณฑิต. เสนกะจึงทูลว่า พระองค์ทรงกำหนดปัญหานี้ว่า ปัญหามีเงื่อนเดียวหรือ. ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหานี้ในวันนี้. ขอได้ทรงงดหน่อยหนึ่ง ปัญหานี้มีเงื่อน. ข้าพระองค์ทั้งหลายจักกล่าวแก้ ในท่ามกลางประชุมชน. จะต้องนั่งคิดในที่หนึ่ง ภายหลังจักทูลแก้แด่พระองค์. ขอได้โปรดพระราชทานโอกาสแก่พวกข้าพระองค์. เสนกะกล่าวดังนี้แลดูมโหสถ. แล้วกล่าว ๒ คาถานี้ว่า
ข้าแต่พระจอมประชากร ในเมื่อสมาคมแห่งหมู่ชนอึกทึก ในเมื่อชุมนุมแห่งชนโกลาหล. ข้าพระองค์ทั้งหลายมีใจฟุ้งซ่าน มีจิตไม่แน่วอยู่ที่เดียว. จึงไม่สามารถจะพยากรณ์ปัญหานั้น.
นักปราชญ์ทั้งหลายมีจิตมีอารมณ์เดียว คนๆหนึ่งอยู่ในที่ลับ คิดเนื้อความทั้งหลาย พิจารณาอยู่ในสถานที่เงียบ ภายหลังจักกราบทูลแก้เนื้อความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมสิตฺวาน ความว่า นักปราชญ์เหล่านี้มีจิตมีอารมณ์เดียว ตั้งอยู่ในกายวิเวกและจิตวิเวกพิจารณาปัญหานี้แล้ว จักกล่าวเนื้อความนั้นแด่พระองค์.
พระราชาทรงสดับคำของเสนกะก็ดีพระหฤทัย ตรัสคุกคามดังนี้ว่า ดีแล้ว ท่านทั้งหลายจงคิด เมื่อแก้ไม่ได้จักให้ขับเสีย. บัณฑิตทั้ง ๔ ลงจากพระราชนิเวศน์. เสนกะจึงกล่าวกะบัณฑิตนอกนี้ว่า พระราชาตรัสถามปัญหาสุขุม. เมื่อพวกเราแก้ไม่ได้ ภัยใหญ่จักเกิดขึ้น. เหตุนั้น ท่านทั้งหลายบริโภค สบายแล้วจงพิจารณาปัญหานั้นโดยชอบ. ต่างคนไปเรือนของตนๆ. ฝ่ายมโหสถลุกไปสู่สำนักพระราชเทวีอุทุมพร ทูลถามว่า ข้าแต่พระเทวีเจ้า วันนี้หรือวานนี้ พระราชาประทับอยู่ในที่ไหนนาน. พระนางอุทุมพรรับสั่งว่า เมื่อวานนี้. พระราชาเสด็จไปมา ทอดพระเนตรที่พระแกล ณ ภายในพื้นยาว. แต่นั้น พระโพธิสัตว์จึงคิดว่า พระราชาจักได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุอะไรๆ โดยข้างนี้. จึงไปในที่นั้นแลดูภายนอก ได้เห็นกิริยาแห่งแพะและสุนัข. ก็ทำความเข้าใจว่า พระราชาทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งสองนี้ จึงทรงประพันธ์ปัญหา. จับเค้าได้ฉะนี้ แล้วก็กลับไปเคหสถาน.
ฝ่ายบัณฑิตทั้งสามคิดแล้ว ไม่เห็นอะไรจึงไปหาเสนกะ. เสนกะเห็นบัณฑิตทั้งสามนั้น จึงถามว่า ท่านเห็นปัญหาแล้วหรือ. ครั้นได้รับตอบว่ายังไม่เห็น. จึงกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น พระราชาจักขับท่านทั้งหลายจากแว่นแคว้น ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไร. ครั้นบัณฑิตทั้งสามย้อนถามว่า ก็ท่านเห็นหรือ. ก็ตอบว่า แม้เราก็ยังไม่เห็น. ครั้นบัณฑิตทั้งสามกล่าวว่า เมื่ออาจารย์ไม่เห็น ข้าพเจ้าทั้งหลายจะเห็นอะไร. ก็เมื่อวานนี้ เราทั้งหลายบันลือสีหนาทในราชสำนักว่า จักคิดแก้ แล้วมาบ้าน. บัดนี้ พระราชาจักกริ้วพวกเราผู้แก้ไม่ได้ พวกเราจักทำอย่างไร. จึงกล่าวว่า ปัญหานี้อันเราทั้งหลายไม่อาจเห็น. มโหสถจักคิดได้ตั้งหลายร้อยนัย. เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงมาไปสำนักมโหสถด้วยกันกับเรา. บัณฑิตทั้งสี่ไปสู่ประตูเคหสถานแห่งมโหสถ. ให้แจ้งความที่ตนมาแล้วเข้าไปสู่เรือน ปราศรัยกันแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. แล้วถามมโหสถว่า บัณฑิต ท่านคิดปัญหาได้แล้วหรือ. พระโพธิสัตว์ตอบว่า ในเมื่อข้าพเจ้าคิดไม่ได้ คนอื่นใครจักคิดได้. เออ ปัญหานั้นข้าพเจ้าคิดได้แล้ว. ครั้นเมื่อบัณฑิตทั้งสี่กล่าวว่า ถ้ากระนั้น ท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าบ้าง. มโหสถจึงดำริว่า ถ้าเราจักไม่บอกแก่บัณฑิตทั้งสี่นี้ พระราชาจักกริ้วบัณฑิตทั้งสี่ ขับเสียจากแคว้น. พระราชทานรัตนะ ๗ แก่เรา. คนเขลาเหล่านี้อย่าได้ฉิบหายเสียเลย. เราจักบอกแก่พวกนี้ ดำริฉะนี้ แล้วให้บัณฑิตทั้งสี่นั่ง ณ อาสน์ต่ำ. แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงพยากรณ์อย่างนี้ ในกาล เมื่อพระราชาตรัสถาม. แล้วให้บัณฑิตทั้งสี่ เรียนบาลีประพันธ์เป็นคาถา ๔ คาถา. แล้วส่งให้กลับไป. ในวันที่ ๒ บัณฑิตเหล่านั้นไปสู่ราชุปัฏฐาน นั่ง ณ อาสน์ที่ลาดไว้. พระราชาตรัสถามเสนกะว่า ท่านรู้ปัญหาแล้วหรือ. เสนกะจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์ไม่รู้ คนอื่นใครเล่าจักรู้. ครั้นรับสั่งให้กล่าว จึงกล่าวคาถา โดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
เนื้อแพะเป็นที่รักที่เจริญใจแห่งบุตรอมาตย์ และพระราชโอรส. ชนเหล่านั้นไม่บริโภคเนื้อสุนัข. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุคฺคปุตฺตราชปุตฺติยานํ ความว่า แห่งบุตรอมาตย์ทั้งหลายด้วย แห่งพระราชโอรสทั้งหลายด้วย.
แม้กล่าวคาถาแล้ว เสนกะก็หารู้เนื้อความไม่. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงทราบความ เพราะปรากฏแก่พระองค์. เพราะฉะนั้น จึงตรัสถามปุกกุสะต่อไป ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า เสนกะรู้แล้ว. ฝ่ายปุกกุสะจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ใช่บัณฑิตหรือ. แล้วกล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
ชนทั้งหลายใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาดหลังม้าเป็นเหตุแห่งความสุข. ไม่ใช่หนังสุนัขเป็นเครื่องลาดหลังม้า. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.

เนื้อความไม่ปรากฏแม้แก่ปุกกุสะ.
ฝ่ายพระราชาเข้าพระหฤทัยว่า ปุกกุสะนี้รู้เนื้อความ เพราะปรากฏแก่พระองค์ จึงตรัสถามกามินทะต่อไป. กามินทะจึงกล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
แพะมีเขาอันโค้งแท้จริง แต่เขาทั้งหลายแห่งสุนัขไม่มีเลย แพะกินหญ้า สุนัขกินเนื้อ. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.

เนื้อความไม่ปรากฏแม้แก่กามินทะ.
พระราชาเข้าพระหฤทัยว่า แม้กามินทะนี้ก็รู้เนื้อความแล้ว. จึงตรัสถามเทวินทะต่อไป. เทวินทะก็กล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
แพะกินหญ้า กินใบไม้ สุนัขไม่กินหญ้า ไม่กินใบไม้. สุนัขจับกระต่ายหรือแมวกิน. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติณมาสิ ปลาสมาสิ ความว่า กินหญ้าด้วย กินใบไม้ด้วย. บทว่า โน ปลาสํ ความว่า ไม่เคี้ยวกินแม้ใบไม้.
เนื้อความไม่ปรากฏแม้แก่เทวินทะ.
ลำดับนั้น พระราชาเข้าพระหฤทัยว่า แม้เทวินทะนี้ก็รู้ เพราะปรากฏแก่พระองค์. จึงตรัสถามมโหสถว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ แม้ตัวเจ้ารู้ปัญหานี้หรือ. มโหสถโพธิสัตว์ทูลสนองว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม ยกข้าพระองค์เสีย คนอื่นใครจะรู้ปัญหานี้. ครั้นตรัสให้กล่าว จึงกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงฟัง เมื่อจะประกาศความที่กิจนั้นปรากฏแก่ตน จึงกล่าว ๒ คาถานี้ว่า
แพะมีเท้ากึ่ง ๘ แห่งเท้า๔ (มี ๔ เท้า) มีกีบ ๘. มีกายไม่ปรากฏ สุนัขนี้นำหญ้ามาเพื่อแพะนี้ แพะนี้นำเนื้อมาเพื่อสุนัขนั้น.
พระชนินทรสมมติเทพผู้ประเสริฐกว่าชาววิเทหรัฐประทับอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ ได้ทอดพระเนตรเห็น การนำอาหารมาแลกกันกินโดยประจักษ์ และได้ทอดพระเนตร เห็นมิตรธรรมแห่งสุนัขและแพะเอง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฐฑฺฒปาโท ท่านกล่าวหมายเอา เท้า ๔ แห่งแพะ ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในพยัญชนะ. บทว่า เมณฺโฑ ได้แก่ แพะ. บทว่า อฏฺฐนโข นี้ท่านกล่าว ตามที่เท้าแพะมีกีบเท้าละ ๒ กีบ. บทว่า อทิสฺสมานกาโย ความว่า ไม่ปรากฏกายในเวลานำเนื้อมา. บทว่า ฉาทิยํ ความว่า เครื่องมุงเรือน คือหญ้า. บทว่า อยํ อิมสฺส ความว่า สุนัขนำหญ้ามาเพื่อแพะ. บทว่า วีติหารํ ได้แก่ นำมาแลกกัน. บทว่า อญฺโญญฺญโภชนานํ ความว่า แลกกันกิน ด้วยว่า แพะนำของกินมาเพื่อสุนัข แม้สุนัขนั้นก็แลกกับแพะนั้น. สุนัขนำมาเพื่อแพะ แม้แพะก็แลกกัน. บทว่า อทฺทกฺขิ ความว่า ได้ทอดพระเนตรเห็น สัตว์ทั้งสองนั้นแลกเปลี่ยนกันกินด้วยพระเนตร์ คือ ประจักษ์แก่พระองค์. บทว่า โภภุกฺกสฺส ได้แก่ สุนัขหอน. บทว่า ปุณฺณมุขสฺส ได้แก่ แพะ อธิบายว่า พระราชาทอดพระเนตร เห็นมิตรธรรมของสัตว์ทั้งสองนี้ ด้วยพระองค์เอง.
พระราชา เมื่อไม่ทรงทราบความที่ อาจารย์เหล่านั้นรู้ปัญหาเพราะอาศัยพระโพธิสัตว์. ทรงสำคัญว่า บัณฑิตทั้ง ๕ รู้ด้วยปัญญาของตน. ก็ทรงโสมนัส ตรัสคาถานี้ว่า
ลาภของเราไม่น้อยเลยที่มีบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสกุล เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลายแทงตลอด เนื้อความของปัญหาอันลึกละเอียดด้วยเป็นสุภาษิต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิวิชฺฌนฺติ ความว่า กล่าวแก้ปัญหา ด้วยสุภาษิต.
ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เราควรทำอาการยินดีแก่บัณฑิตเหล่านั้นด้วยความยินดี. เมื่อจะทรงทำความยินดีนั้นให้เป็นแจ้ง จึงตรัสคาถาว่า
เรามีความพอใจยิ่ง ด้วยปัญหาที่กล่าวไพเราะ. ให้รถเทียมม้าอัสดรรถหนึ่งๆ และบ้านส่วยอันเจริญบ้านหนึ่งๆ แก่ท่านทั้งปวงผู้เป็นบัณฑิต.

ครั้นตรัสฉะนี้ แล้วได้พระราชทานสิ่งทั้งปวงนั้น.
จบ ปัญหาแพะในทวาทสนิบาต

ฝ่ายพระราชเทวีอุทุมพรทรงทราบความที่บัณฑิตทั้ง ๔ รู้ปัญหาอาศัยมโหสถ จึงทรงดำริว่า พระราชาพระราชทานรางวัลแก่บัณฑิตทั้ง ๕ เป็นเหมือนคนทำถั่วเขียวกับถั่วราชมาษให้ไม่แปลกกัน. จึงเสด็จไปเฝ้าพระราชา. ทูลถามว่า ใครทูลแก้ปัญหาถวาย. พระราชาตรัสตอบว่า บัณฑิตทั้ง ๕. พระราชเทวีทูลว่า บัณฑิตทั้ง ๕ รู้ปัญหาของพระองค์อาศัยใคร. พระราชาตรัสตอบว่า เราไม่รู้. พระนางอุทุมพรจึงกราบทูลว่า บัณฑิตทั้ง ๔ คนเหล่านี้จะรู้อะไร. มโหสถให้เรียนปัญหาด้วยเห็นว่า คนเขลาเหล่านี้ อย่าได้ฉิบหายเสียเลย. ก็พระองค์พระราชทานรางวัลแก่บัณฑิตทั้งปวง เสมอกันนั่นไม่สมควรเลย. ควรจะพระราชทานแก่มโหสถให้เป็นพิเศษ. พระราชาทรงเห็นว่า มโหสถนี้ไม่บอกความที่บัณฑิตทั้ง ๔ รู้ปัญหาอาศัยตน ก็ทรงโสมนัส. มีพระประสงค์จะทรงทำสักการะให้ยิ่งกว่า. จึงทรงคิดว่า ยกไว้เถิด. เราจักถามปัญหาอันหนึ่งกะบุตรของเรา และทำสักการะใหญ่. ในกาลเมื่อ บุตรของเรากล่าวแก้ เมื่อพระราชาทรงคิดปัญหาอันหนึ่ง จึงทรงคิดสิริเมณฑกปัญหา (ปัญหาว่า ปัญญากับทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน). วันหนึ่ง เวลาบัณฑิตทั้ง ๕ มาเฝ้านั่งสบายแล้ว. ตรัสกะเสนกะว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราจักถามปัญหา. เสนกะกราบทูลรับว่า ตรัสถามเถิด พระเจ้าข้า.
พระราชาจึงตรัสคาถาที่หนึ่งใน สิริเมณฑกปัญหา ว่า
แน่ะอาจารย์เสนกะ เราถามเนื้อความนี้กะท่าน บรรดาคน ๒ พวก คือคนสมบูรณ์ด้วยปัญญาแต่เสื่อมจากสิริ และคนมียศแต่ไร้ปัญญา. นักปราชญ์ยกย่องใครว่าประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กเมตฺถ เสยฺโย ความว่า บรรดาคน ๒ พวกนี้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคนไหนว่าประเสริฐ. ได้ยินว่า ปัญหานี้สืบเนื่องมาจากวงศ์ของเสนกะ. ฉะนั้น เสนกะจึงได้กราบทูลเฉลยปัญหานั้นได้ทันทีว่า
ข้าแต่พระจอมประชาราษฏร์ คนฉลาดและคนเขลา คนบริบูรณ์ด้วยศิลปะและหาศิลปะมิได้. แม้มีชาติสูงก็ย่อมเป็นผู้รับใช้ของคนหาชาติมิได้ แต่มียศ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้จึงขอทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนมีสิริแลเป็นคนประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิหีโน ความว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนเป็นใหญ่นั่นแลเป็นคนประเสริฐ.
พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเสนกะนั้นแล้ว ไม่ตรัสถามอาจารย์ อีก ๓ คน. เมื่อจะตรัสถามมโหสถบัณฑิต ผู้ยังใหม่ในหมู่ซึ่งนั่งอยู่ จึงตรัสว่า
ดูก่อนมโหสถผู้มีปัญญาไม่ทราม ผู้เห็นธรรมสิ้นเชิง เราถามเจ้า ในคน ๒ พวกนี้. นักปราชญ์ยกย่องใคร คนพาลผู้มียศ หรือบัณฑิตผู้ไม่มีโภคะ คนไหนว่าประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เกวลธมฺมทสฺสิ แปลว่า ผู้เห็นธรรมทั้งปวง.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาว่า โปรดทรงฟังเถิด พระมหาราชเจ้า. แล้วทูลว่า
คนพาลทำกรรมเป็นบาปก็สำคัญว่า อิสริยะของเราในโลกนี้ประเสริฐ คนพาลเห็นโลกนี้เป็นปกติ ไม่เห็นโลกหน้าเป็นปกติ ก็ได้รับเคราะห์ร้ายในโลกทั้ง ๒. ข้าพระองค์เห็นความเหล่านี้ จึงขอกราบทูลว่า คนมีปัญญาประเสริฐแท้ คนเขลามียศจะประเสริฐอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธเมว ความว่า สำคัญว่า อิสริยะของเรานี้เท่านั้นในโลกนี้ประเสริฐ. บทว่า กลิมคฺคเหสิ ความว่า คนพาลทำกรรมเป็นบาปด้วยความเมาในอิสริยะ เกิดในนรกเป็นต้นในปรโลก มาจากนรกนั้นเกิดเป็นผู้มีโภชนะเป็นทุกข์ในตระกูลต่ำในโลกนี้อีก ชื่อว่าย่อมถือเอาความปราชัยในโลกทั้งสอง ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า เอตมฺปิ ความว่า ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกล่าวว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาเท่านั้น เป็นผู้สูงสุด. ผู้โง่เขลาแม้เป็นใหญ่ ก็ไม่ใช่ผู้สูงสุด.
เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลดังนี้ พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรดูเสนกะ. ตรัสว่า มโหสถสรรเสริญ คนมีปัญญาว่าเป็นผู้สูงสุดมิใช่หรือ. เสนกะทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถยังเด็ก แม้จนวันนี้ ปากของเธอก็ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมมิใช่หรือ เธอจะรู้อะไร. ทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ศิลปะนี้ หรือเผ่าพันธุ์ หรือร่างกาย ย่อมหาได้จัดแจงโภคสมบัติให้ไม่. มหาชนย่อมคบหาโครวินทเศรษฐี ผู้มีเขฬะไหลจากคางทั้งสองข้าง ผู้ถึงความสุข ผู้มีสิริต่ำช้า. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนมีสิริเป็นคนประเสริฐแท้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอฬมูคํ ได้แก่ มีน้ำลายไหลเลอะหน้า.
บทว่า โครวินฺทํ ความว่า ได้ยินว่า โครวินทะนั้นเป็นเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในพระนครนั้นแล มีรูปร่างแปลก ไม่มีบุตร ไม่มีธิดา ไม่รู้ศิลปะอะไรๆ. เมื่อเขาพูด น้ำลายไหล ๒ ข้างลูกคาง. มีสตรีสองคนดั่งเทพอัปสร ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ถือดอกอุบลเขียวที่บานดีแล้ว ยืนอยู่สองข้างคอยรองรับน้ำลายด้วยดอกอุบลเขียว แล้วทิ้งดอกอุบลทางหน้าต่าง. ฝ่ายพวกนักเลงสุรา เมื่อจะเข้าร้านเครื่องดื่ม มีความต้องการดอกอุบลเขียว ก็พากันไปประตูเรือนของเศรษฐีนั้น. แล้วกล่าวว่า ข้าแต่นายโครวินทเศรษฐี. ท่านเศรษฐีได้ยินเสียงนักเลงเหล่านั้น ยืนที่หน้าต่างกล่าวว่า อะไรพ่อ. ขณะนั้น น้ำลายก็ไหลจากปากของท่าน. หญิงสองคนนั้นก็เอาดอกอุบลเขียวรองรับน้ำลาย แล้วโยนทิ้งไปในระหว่างถนน. พวกนักเลงก็เก็บดอกอุบลเหล่านั้นเอาไปล้างน้ำ แล้วประดับตัวเข้าร้านเครื่องดื่ม. เศรษฐีนั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสิริอย่างนี้. เสนกะ เมื่อแสดงเศรษฐีนั้นเป็นตัวอย่าง จึงกล่าวอย่างนี้.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสว่า พ่อมโหสถบัณฑิต เจ้าจะกล่าวแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เสนกะจะรู้อะไร. เห็นแต่ยศเท่านั้น ไม่เห็นไม้ค้อนใหญ่ซึ่งจะตกบนศีรษะ. เปรียบเหมือนกาอยู่ในที่เทข้าวสุก และเปรียบเหมือนสุนัขปรารภจะดื่มนมส้ม. โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. ทูลฉะนี้แล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า
คนมีปัญญาน้อยได้ความสุขแล้วย่อมประมาท อันความทุกข์ถูกต้องแล้วย่อมถึงความหลง. อันสุขหรือทุกข์ที่จรมาถูกต้องแล้ว ย่อมหวั่นไหว. เหมือนปลาดิ้นรนในที่ร้อน. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาแลประเสริฐ คนเขลามียศย่อมไม่ประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลทฺธา สุขํ ความว่า คนเขลาได้อิสริยสุขแล้วย่อมมัวเมา คือประมาท. คนประมาทย่อมทำบาปมาก. บทว่า ทุกฺเขน ความว่า อันความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจถูกต้องแล้ว. บทว่า อาคนฺตุเกน ได้แก่ ที่มิได้เกิดขึ้นภายใน ด้วยว่าแม้ความสุขของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นของจรมาทั้งนั้น มิได้เป็นไปประจำ. บทว่า ฆมฺเม ความว่า เหมือนปลาที่เขาเอาขึ้นจากน้ำนำมาโยนไปในแดด ย่อมดิ้นรน.
พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามเสนกะว่า ท่านอาจารย์จะแก้อย่างไร. เสนกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ มโหสถนี้จะรู้อะไร. มนุษย์ทั้งหลายจงยกไว้ก่อน. วิหกทั้งหลายย่อมคบหาแต่ต้นไม้ที่เกิดในป่า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยผลเท่านั้น. ทูลฉะนี้แล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า
ฝูงนกบินเร่ร่อนมาโดยรอบ สู่ต้นไม้ในป่าอันมีผลดี ฉันใด. ชนเป็นอันมากย่อมคบหาสมาคมบุคคลผู้มั่งคั่งมีโภคทรัพย์ เพราะความต้องการด้วยทรัพย์ ฉันนั้น. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุชฺชโน ความว่า มนุษย์เป็นอันมากประชุมกันเพื่อเหตุแห่งทรัพย์.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสกะมโหสถว่า พ่อจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสนกะท้องโตคนนี้จะรู้อะไร โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. ทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
คนเขลามีกำลังแต่หายังประโยชน์ให้สำเร็จไม่ ได้ทรัพย์มาด้วยทำกิจร้ายแรง. นายนิรยบาลคร่าคนเขลานั้นผู้ไม่ฉลาด ผู้ร้องไห้อยู่ ไปสู่นรกอันทุกข์ยิ่ง. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาแลประเสริฐ คนเขลามียศย่อมไม่ประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาหสํ ความว่า คนเขลาทำการงานที่มีความร้ายแรงด้วยความร้ายแรง เบียดเบียนประชาชนจึงได้ทรัพย์. เมื่อเป็นเช่นนั้น นายนิรยบาลทั้งหลายจึงคร่าคนเขลานั้นผู้ไม่ฉลาด ร้องไห้อยู่นั่นแล. ไปสู่นรกอันมีเวทนามีกำลัง.
เมื่อพระราชาตรัสถามอีกว่า ท่านอาจารย์เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร.
เสนกะจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โปรดฟังเถิด แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
แม่น้ำน้อยใหญ่อันใดอันหนึ่ง ย่อมไหลไปสู่แม่น้ำคงคา. แม่น้ำเหล่านั้นทั้งหมดเทียว ย่อมละชื่อและถิ่นเสีย. แม่น้ำคงคาไหลไปสู่สมุทร ย่อมไม่ปรากฏชื่อ คงได้แต่ชื่อว่ามหาสมุทรเท่านั้น ฉันใด. สัตวโลกมีฤทธิ์ยิ่ง ย่อมไม่ปรากฏเหมือนแม่น้ำคงคาเข้าไปสู่มหาสมุทร ฉันนั้น. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นผู้ต่ำช้า คนมีสิริเป็นผู้ประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นชฺโช ได้แก่ โดยที่สุดแม้เป็นแม่น้ำเล็กๆ ที่ไหลมาแต่ที่ลุ่ม. บทว่า ชหนฺติ ความว่า ย่อมนับว่าแม่น้ำคงคาทั้งนั้น ละชื่อและถิ่นของตนเสีย. บทว่า น ขายเต ความว่า แม่น้ำคงคานั้น เมื่อไหลไปสู่สมุทร ก็ไม่ปรากฏ (ว่าแม่น้ำคงคา) ย่อมได้ชื่อว่ามหาสมุทรทีเดียว. แม้คนมีปัญญามาก ถึงคนอิสระแล้ว ย่อมไม่ปรากฏ คือไม่มีใครรู้จัก ได้เป็นราวกะว่าแม่น้ำคงคาไหลเข้าสู่สมุทร.
พระราชาตรัสอีกว่า พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
ข้าพระเจ้าจะกล่าวแก้ปัญหาที่ท่านอาจารย์กล่าว แม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่. ทะเลนั้นมีกำลังยิ่งเป็นนิตย์ ทะเลใหญ่นั้นแม้มีคลื่นกระทบฝั่ง ก็ไม่ล่วงฝั่งไป ฉันใด. กิจการที่คนเขลาประสงค์ไม่ล่วงคนฉลาดไปได้. คนมีสิริย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้ ฉันนั้น. ในกาลไหนๆ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาแลเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยเมตมกฺขา ความว่า ท่านบอก คือกล่าวปัญหา ฉันใด.
บทว่า อสํขฺยํ แปลว่า ไม่นับ. บทว่า เวลํ นาจฺเจติ ความว่า ทะเลนั้นแม้มีกำลังยิ่งยกคลื่นขึ้นเป็นพันๆ ก็ไม่อาจล่วงฝั่งไปได้. คลื่นทั้งหมดถึงฝั่งแล้วย่อมแตกไปแน่แท้. บทว่า เอวมฺปิ ความว่า กิจการที่คนเขลาประสงค์ ย่อมไม่อาจล่วงคนมีปัญญาไปได้. ถึงคนมีปัญญานั้นแล้วย่อมทำลายไป ฉันนั้นเหมือนกัน.
บทว่า ปญฺญํ นาจฺเจติ ความว่า ธรรมดา คนมีสิริย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้. อธิบายว่า ไม่มีใครเลยที่เกิดความสงสัยในอัตถะและอนัตถะขึ้นแล้ว ผ่านเลยคนมีปัญญาไปแทบเท้าของคนเขลาผู้เป็นอิสระ แต่ย่อมได้การวินิจฉัยแทบเท้าของคนมีปัญญาเท่านั้น.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามเสนกะว่า จะแก้อย่างไร. เสนกะกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
หากว่าคนมียศผู้ไม่มีศีลอยู่ในที่วินิจฉัย กล่าวข้อความแก่ชนเหล่าอื่น. คำของผู้นั้นย่อมเจริญงอกงาม ในท่ามกลางบริษัท. คนมีปัญญายังคนมีสิริต่ำช้า ให้ทำตามถ้อยคำของตน หาได้ไม่. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเป็นคนประเสริฐแท้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสญฺญโต เจปิ ความว่า ก็แม้ถ้าคนมียศเป็นคนไม่สำรวมกายเป็นต้น คือเป็นคนทุศีล. บทว่า สณฺฐานคโต ความว่า คนมียศดำรงอยู่ในที่วินิจฉัย กล่าวข้อความแก่คนเหล่าอื่น. เมื่อเขาซึ่งแวดล้อมไปด้วยบริวารใหญ่ กล่าวมุสาทำให้เป็นเจ้าของบ้าง ให้ไม่เป็นเจ้าของบ้าง. คำของเขานั่นแลย่อมงอกงาม คนมีปัญญาย่อมยังคนมีสิริต่ำช้า ให้ทำตามถ้อยคำไม่ได้. เพราะเหตุนั้น คนมีปัญญาจึงเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริจึงเป็นคนประเสริฐแท้.
เมื่อพระราชาตรัสถามมโหสถอีกว่า พ่อจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. เสนกะคนเขลาจะรู้อะไร ดูอยู่แค่โลกนี้เท่านั้น ไม่ดูไปถึงปรโลก. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
คนเขลามีปัญญาน้อยกล่าวมุสาแก่คนอื่นบ้าง แม้แก่ตนบ้าง. คนเขลานั้นถูกติเตียน ในท่ามกลางที่ประชุม. ภายหลังเขาจะไปทุคติ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.

ลำดับนั้น เสนกะกล่าวคาถานี้ว่า
ถ้าคนมีปัญญาดุจแผ่นดิน ไม่มีที่อยู่ มีทรัพย์น้อย เป็นคนเข็ญใจ กล่าวข้อความ. คำของเขานั้นย่อมไม่งอกงามในท่ามกลางญาติ และสิริย่อมไม่มีแก่คนมีปัญญา. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถมฺปิ เจ ความว่า ถ้ากล่าวแม้เหตุการณ์. บทว่า ญาติมชฺเฌ ได้แก่ ในท่ามกลางบริษัท. ด้วยบทว่า ปญฺญาณวโต นี้ อาจารย์เสนกะแสดงความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ธรรมดาสิริแม้จะมีอยู่ตามปกติ ถึงความเป็นยอดความงามแห่งสิริ ก็ไม่มีแก่ผู้มีปัญญานั่นแล ด้วยว่าผู้มีปัญญานั้นย่อมไม่ปรากฏในสำนักของผู้มีสิรินั้น ประดุจหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น.
เมื่อพระราชาตรัสถามมโหสถอีกว่า พ่อจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า เสนกะจะรู้อะไร ดูอยู่แค่โลกนี้เท่านั้น ไม่ดูไปถึงปรโลก. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
คนมีปัญญาดุจแผ่นดิน ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ เพื่อเหตุของผู้อื่นหรือแม้ของตน. คนผู้นั้นอันมหาชนบูชาแล้ว ในท่ามกลางที่ประชุม ภายหลังเขาจะไปสุคติ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.

ลำดับนั้น เสนกะกล่าวคาถานี้ว่า
ช้าง โค ม้า กุณฑลแก้วมณี และนารีทั้งหลายเกิดในสกุลมั่งคั่ง ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอุปโภคของบุรุษผู้มีอิสระ. สัตว์ผู้ไม่มีอิสระก็เป็นอุปโภคของผู้มีอิสระ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธสฺส ได้แก่ ผู้มีอิสระ. บทว่า อนิทฺธิมนฺโต ความว่า มิใช่แต่นารีเหล่านั้นเท่านั้นที่เป็นอุปโภค ที่แท้สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีอิสระทั้งหมดทีเดียว ย่อมเป็นอุปโภคของผู้มีอิสระนั้น.
ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า เสนกะจะรู้อะไร. เมื่อจะชักเหตุอันหนึ่งมาแสดง จึงกล่าวคาถานี้ว่า
สิริย่อมละเสียซึ่งคนเขลาผู้ไม่จัดการงาน ผู้มีความคิดอย่างคนไม่มีความคิด. ผู้มีปัญญาทรามเหมือนงูละคราบเก่าเสีย ฉะนั้น. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.

เนื้อความของบทว่า สิรี ชหติ ในคาถานั้น พึงทราบตามเจติยชาดก.
ลำดับนั้น ครั้นพระราชาตรัสถามเสนกะว่าจะแก้อย่างไร. เสนกะกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถนี้ยังเป็นเด็กรุ่น จะรู้อะไร. โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. ทูลฉะนี้แล้วคิดว่า เราจักทำมโหสถให้หมดปฏิภาณ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ขอจงทรงพระเจริญ พวกข้าพระองค์เป็นบัณฑิต ๕ คนทั้งหมด เคารพบำรุงพระองค์. พระองค์เป็นอิสระครอบงำข้าพระองค์ทั้งหลาย ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งภูตทั้งหลาย. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.

ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของเสนกะนี้ แล้วทรงดำริว่า เหตุการณ์ที่เสนกะชักมาดีอยู่ บุตรของเราจักสามารถนำ เหตุการณ์อื่นมาทำลายวาทะของเสนกะนี้ได้ หรือหนอ. จึงตรัสว่า พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร. ได้ยินว่า เมื่อเสนกะชักเหตุการณ์นี้มา คนอื่นเว้นพระโพธิสัตว์เสีย ที่ชื่อว่า สามารถทำลายวาทะนั้นไม่มี. เพราะฉะนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะทำลายวาทะแห่งเสนกะนั้น ด้วยกำลังญาณของตน. จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสนกะนี้เป็นคนเขลา จะรู้อะไร. แลดูอยู่เฉพาะยศเท่านั้น ไม่ทราบความวิเศษแห่งปัญญา. โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. กราบทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
คนเขลามียศเป็นดุจทาสของคนฉลาด ในเมื่อกิจต่างๆ เกิดมี. คนฉลาดย่อมจัดกิจอันละเอียดใด คนเขลาย่อมถึงความหลงพร้อมในกิจนั้น. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺเถสุ ได้แก่ เมื่อกิจทั้งหลาย.
บทว่า สํวิเธติ แปลว่า ย่อมจัดแจง.
พระมหาสัตว์แสดงเหตุการณ์แห่งนัยปัญญาด้วยประการฉะนี้ ราวกะผู้วิเศษคุ้ยทรายทองขึ้นแต่เชิงเขาสิเนรุ และราวกะผู้มีฤทธิ์ยังดวงจันทร์เต็มดวงให้ตั้งขึ้นในท้องฟ้า ฉะนั้น.
เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวแสดงอานุภาพแห่งปัญญาอยู่นั่นแล. พระราชาตรัสกะเสนกะว่า เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร ท่านอาจกล่าวให้ยิ่งขึ้นหรือ. เสนกะนั้นยังวิทยาคมที่เรียนมาให้สิ้นไป เป็นผู้หมดปฏิภาณ. เป็นผู้เก้อนั่งซบเซาอยู่ เหมือนข้าวเปลือกที่เขาเก็บไว้ในฉาง. ก็ถ้าเสนกะนั้นพึงนำเหตุการณ์อื่นมาไซร้. มโหสถจะพึงเฉลยอันจัดเป็นชาดกนี้ ให้จบลงด้วยคาถาพันหนึ่ง. พระมหาสัตว์ เมื่อจะพรรณนาปัญญานั่นแลให้ยิ่งขึ้น เหมือนนำห้วงน้ำลึกมา. ในกาลที่เสนกะนั้นหมดปฏิภาณนิ่งอยู่. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ปัญญาเป็นที่สรรเสริญแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญปัญญาว่าประเสริฐแท้จริง. สิริเป็นที่ใคร่ของพวกคนเขลา พวกคนเขลาใคร่ซึ่งสิริ ยินดีในโภคสมบัติ. ก็ความรู้ของเหล่าท่านผู้รู้ อันใครๆ ซึ่งเปรียบด้วยอะไรไม่ได้. คนมีสิริย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาในกาลไหนๆ. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ ได้แก่ สัตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
บทว่า โภครตา มีเนื้อความอันบัณฑิต พึงพรรณนาตามภิงสกชาดกว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะมนุษย์อันธพาลเหล่านั้น ยินดีในโภคสมบัติ ฉะนั้น. เขาเหล่านั้นจึงใคร่สิริ ชื่อว่ายศนี้. บัณฑิตทั้งหลายติเตียน คนพาลทั้งหลายปรารถนา.
บทว่า พุทฺธานํ ได้แก่ ของเหล่าญาณพุทธ์.
บทว่า กทาจิ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาคนมีสิริย่อมไม่ก้าวล่วงคนมีความรู้ ในกาลใดไหนๆ.
พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำนั้น ก็ทรงโสมนัสด้วยปัญหาพยากรณ์แห่งพระมหาสัตว์. เมื่อจะทรงบูชาพระมหาสัตว์ด้วยทรัพย์ ราวกะผู้วิเศษยังฝนลูกเห็บให้ตก จึงตรัสคาถาว่า
ดูก่อนมโหสถผู้เห็นธรรมทั้งปวง เราได้ถามปัญหานั้นใดกะเจ้า. เจ้าได้ประกาศเผยแผ่ปัญหานั้นแก่เรา เรายินดีด้วยการแก้ปัญหาของเจ้า. เราให้โคพันหนึ่ง ทั้งโคอุสุภราช ช้าง รถเทียมม้าอาชาไนย ๑๐ คัน และบ้านส่วย ๑๖ ตำบลแก่เจ้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุสภญฺ จ นาคํ ความว่า เราให้ช้างที่น่าขี่ซึ่งประดับตกแต่งแล้ว ทำโคอุสุภราชให้เป็นใหญ่ของโคพันหนึ่งนั้นด้วยดี.
จบ สิริเมณฑกปัญหา ในวีสตินิบาต

.. อรรถกถา มโหสถชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒][๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]