ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา เตมิยชาดก
พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี

หน้าต่างที่   ๒ / ๓.

ลำดับนั้น กาลเมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา หมู่อมาตย์และพราหมณ์เป็นต้น คิดกันว่า
พระกุมารเป็นง่อยเปลี้ยก็ตาม เป็นใบ้ก็ตาม เป็นคนหนวกก็ตาม หรือไม่เป็นก็ตาม จงยกไว้. เมื่อวัยเปลี่ยนแปรไป บุคคลชื่อว่าไม่กำหนัดในอารมณ์ที่น่ากำหนัด ย่อมไม่มี. ชื่อว่าไม่ดูในอารมณ์ที่น่าดู ย่อมไม่มี. ชื่อว่าไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่ายินดี ย่อมไม่มี. เมื่อถึงคราวแล้ว ความกำหนัดยินดีนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา เหมือนความแย้มบานของดอกไม้ ฉะนั้น. พวกเราจักให้เหล่านางสนมนักฟ้อนรำบำเรอพระกุมาร ทดลองพระกุมารด้วยนางสนมนักฟ้อนรำเหล่านั้น. ลำดับนั้น พระเจ้ากาสิกราชมีรับสั่งให้เรียกหญิงฟ้อนรำ ทรงรูปอันอุดม สมบูรณ์ด้วยความงามดังเทพอัปสร ตรัสกะหญิงทั้งหลายว่า บรรดาเธอทั้งหลาย หญิงใดสามารถทำให้พระกุมารร่าเริง หรือผูกพันไว้ด้วยอำนาจกิเลสได้ หญิงนั้นจักได้เป็นอัครมเหสีของพระกุมารนั้น. นางนมทั้งหลายสรงสนานพระกุมารด้วยน้ำหอม ตกแต่งพระกุมารราวกะเทพบุตร ให้บรรทมบนพระที่สิริไสยาสน์ที่ตกแต่งไว้ดีแล้ว ในห้องมีสิริเช่นกับเทพวิมาน ทำให้เป็นที่ลุ่มหลงเพราะกลิ่นหอมอย่างเอกภายในห้อง ด้วยพวงของหอม พวงระเบียบดอกไม้ พวกบุปผชาติ และจุรณ์แห่งธูป และเครื่องอบเป็นต้น แล้วหลีกไป. ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นพากันแวดล้อมพระโพธิสัตว์ พยายามให้พระโพธิสัตว์อภิรมย์ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้องบ้าง ด้วยกล่าวคำไพเราะเป็นต้นบ้าง มีประการต่างๆ เพราะความที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยพระปรีชา พระองค์จึงมิได้ทอดพระเนตรดูหญิงเหล่านั้น ทรงอธิษฐานว่า หญิงเหล่านี้อย่าได้ถูกต้องสรีระของเรา แล้วทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ. ครั้งนั้น พระสรีระของพระโพธิสัตว์แข็งกระด้างหญิงเหล่านั้น เมื่อไม่ได้ถูกต้องพระสรีระของพระโพธิสัตว์ คิดว่า พระกุมารนี้มีสรีระแข็งกระด้าง คงไม่ใช่มนุษย์จักเป็นยักษ์ ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ไม่อาจที่จะดำรงตนอยู่ได้ จึงพากันหนีไป แม้ทดลองด้วยหญิงทั้งหลายในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
หมู่อมาตย์ พราหมณ์ พระราชา แม้ทดลองด้วยการทดลองอย่างใหญ่สิบหกครั้ง และด้วยการทดลองอย่างน้อยมากครั้งอย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะกำหนดจับพิรุธของพระโพธิสัตว์นั้นได้. ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามหญิงทั้งหลายว่า แม่มหาจำเริญทั้งหลาย ลูกของเราหัวเราะกับพวกเธอบ้างหรือไม่? หญิงทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับคำของหญิงเหล่านั้นแล้ว ทรงร้อนพระหฤทัย เพราะเหตุนั้น มีรับสั่งให้เรียกพวกพราหมณ์ ผู้ทำนายลักษณะมาตรัสว่า ท่านพราหมณ์ผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพระกุมารประสูติ พวกท่านบอกแก่เราว่า พระกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม อันตรายไม่มีแก่พระกุมารนี้ บัดนี้ พระกุมารนั้นเป็นทั้งง่อยเปลี้ย เป็นทั้งใบ้ทั้งหนวก ถ้อยคำของพวกท่านไม่ทำให้เรายินดีเลย. ลำดับนั้น พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ขึ้นชื่อว่า นิมิต ที่อาจารย์ทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ไม่เห็น ย่อมไม่มี อีกประการหนึ่ง พระกุมารนี้เป็นโอรสที่ราชตระกูลทั้งหลาย ปรารถนาจึงได้มา เมื่อพวกข้าพระองค์กราบทูลว่า เป็นกาลกรรณี ความโทมนัสก็จะพึงมีแด่พระองค์ เพราะเหตุนั้นพวกข้าพระองค์จึงไม่กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ถ้าเมื่อพระกุมารอยู่ในราชมณเฑียรนี้ จะปรากฏอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายแห่งชีวิต อันตรายแห่งเศวตฉัตร อันตรายแห่งพระอัครมเหสี เพราะฉะนั้น ควรที่พระองค์จะชักช้าไม่ได้ โปรดให้จัดรถอวมงคล เทียมม้าอวมงคล ให้พระกุมารบรรทมบนรถนั้น นำออกทางประตูทิศตะวันตก ฝังเสียในป่าช้าผีดิบ. พระราชาได้ทรงสดับคำของ พราหมณ์เหล่านั้น ทรงกลัวภยันตราย จึงโปรดให้ทำอย่างนั้น.
กาลนั้น พระนางจันทาเทวีได้ทรงสดับประพฤติเหตุนั้น จึงรีบเสด็จเข้าเฝ้าพระราชาแต่พระองค์เดียว ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์ได้พระราชทานพรแก่หม่อมฉันไว้ หม่อมฉันรับแล้ว ถวายฝากพระองค์ไว้ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพรนั้น แก่หม่อมฉัน ในบัดนี้. พระราชาตรัสว่า จงรับเอาซิ พระเทวี. พระนางกราบทูลว่า ขอพระองค์ โปรดพระราชทานราชสมบัติแก่ลูกของหม่อมฉันเถิด. ตรัสว่า ให้ไม่ได้. พระเทวีทูลถามว่า เพราะเหตุไร. ตรัสว่า ลูกของเราเป็นกาลกรรณี. ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ถ้าไม่พระราชทานตลอดชีวิต ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติเจ็ดปี. ตรัสว่า ให้ไม่ได้. พระเทวีทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติหกปี พระเจ้าข้าตรัสว่า ให้ไม่ได้. พระเทวีทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติห้าปี พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ให้ไม่ได้ พระเทวี. พระนางจันทาเทวีทูลขอราชสมบัติลดเวลาลงเป็นลำดับ คือ สี่ปี สามปี สองปี ปีเดียว เจ็ดเดือน หกเดือน ห้าเดือน สี่เดือน สามเดือน สองเดือน เดือนเดียว ครึ่งเดือน จนถึงเจ็ดวัน พระราชาจึงพระราชทานอนุญาต. พระนางจึงให้ตกแต่งพระโอรสแล้วอภิเษกว่า ราชสมบัตินี้เป็นของเตมิยกุมาร ให้ป่าวร้องทั่วพระนคร ให้ประดับพระนครทั้งสิ้น ให้พระโอรสประทับบนคอช้าง ให้ยกเศวตฉัตรเบื้องบนพระเศียรพระโอรส ทำประทักษิณพระนคร ให้พระโอรสผู้เสด็จมาบรรทมบนพระยี่ภู่อันมีสิริ ตรัสวิงวอนตลอดคืนและวัน ถึงห้าวันว่า พ่อเตมิยะ แม่ไม่เป็นอันหลับนอนร้องไห้อยู่ ถึงสิบหกปีเพราะพ่อ ดวงตาทั้งสองของแม่ฟกช้ำ หัวใจของแม่เหมือนจะแตกด้วยความโศก แม่รู้ว่า พ่อไม่ใช่ ง่อยเปลี้ย เป็นต้นเลย พ่ออย่าทำให้แม่ หาที่พึ่งมิได้เลย. ครั้นถึงวันที่หก พระราชารับสั่งให้หานายสารภี ชื่อสุนันทะ มาตรัสสั่งว่า พ่อสุนันทสารถี พรุ่งนี้ เจ้าจงเทียมม้าอวมงคลคู่หนึ่ง ที่รถอวมงคลแต่เช้าทีเดียว ให้พระกุมารนอนบนรถนั้น นำออกทางประตูทิศตะวันตก ประกาศว่า คนกาลกรรณี จงขุดหลุมสี่เหลี่ยมที่ป่าช้าผีดิบ ใส่พระกุมารในหลุมนั้นแล้ว เอาสันจอบทุบศีรษะให้ตาย กลบดินข้างบนทำดินให้พูนขึ้น อาบน้ำแล้วกลับมา นายสารถีทูลรับพระราชดำรัสว่า ดีแล้ว.
พระเทวีได้สดับดังนั้น ก็เป็นเหมือนพระหฤทัยแตกทำลาย เสด็จไปสำนักพระโอรส วิงวอนพระกุมารตลอดราตรี ตรัสว่า พ่อเตมิยะ พระเจ้ากาสิกพระราชบิดาของพ่อ มีพระราชดำรัสสั่ง ให้ฝั่งพ่อในป่าช้าผีดิบในวันพรุ่งนี้แต่เช้าทีเดียว พ่อจะตายแต่เช้าพรุ่งนี้นะลูก พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้น ก็มีพระมนัสยินดี ทรงดำริว่า พ่อเตมิยะ ความพยายามที่เจ้าทำมาสิบหกปี จะถึงที่สุดแห่งมโนรถของเจ้า ในวันพรุ่งนี้แล้ว. เมื่อพระมหาสัตว์ทรงดำริอยู่อย่างนี้ ก็เกิดปิติขึ้นในภายในพระกมล ส่วนพระหฤทัยของพระมารดาพระมหาสัตว์ ได้เป็นทุกข์เหมือนจะแตกทำลาย แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมหาสัตว์ ก็ทรงดำริว่า ถ้าเราจักพูด มโนรถของเราก็จักไม่ถึงที่สุด ดังนี้จึงไม่ตรัสกับพระชนนีนั้น. ลำดับนั้น ครั้นราตรีนั้นล่วงไปรุ่งขึ้นเช้า พระเทวีสรงสนานพระมหาสัตว์ ตกแต่งองค์แล้ว ให้ประทับนั่งบนพระเพลาประทับ นั่งสวมกอดพระมหาสัตว์นั้น. ครั้งนั้น นายสุนันทสารถีเทียมรถแต่เช้าทีเดียว เทวดาดลใจให้เทียมม้ามงคล ที่รถมงคล ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์หยุดรถไว้แทบพระราชทวาร ขึ้นยังพระราชนิเวศน์ เข้าสู่ห้องอันเป็นสิริ ถวายบังคมพระเทวี แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ขอพระแม่เจ้าอย่าได้กริ้วข้าพระบาท ข้าพระบาทรับพระราชบัญชามา กราบทูลดังนี้แล้ว เอาหลังมือกันให้พระเทวีผู้นั่งสวมกอดพระโอรสอยู่ หลีกไป อุ้มพระกุมารดุจกำดอกไม้ลงจากปราสาท. กาลนั้น พระนางจันทาเทวีสยายพระเกศา ข้อนพระทรวง ทรงปริเทวนาการดังสนั่นอยู่กับหมู่นางสนมในประสาท.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพระมารดา ทรงกันแสง ก็เป็นเหมือนมีพระหฤทัยแตกทำลายเป็นเจ็ดเสี่ยง ทรงดำริว่า เมื่อเราไม่พูดกับพระชนนี พระชนนีของเราจักมีพระหฤทัยทำลายวายพระชนม์ จึงทรงใคร่จะพูดด้วย แต่ทรงดำริต่อไปว่า ถ้าเราจักพูดกับพระมารดา ความพยายามที่เราทำมาสิบหกปี ก็จักหาประโยชน์มิได้ แต่เมื่อไม่พูด เราจักเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่พระชนกพระชนนี และแก่มหาชน ทรงดำริดังนี้จึงทรงกลั้นโศกาดูรเสียได้ ไม่ตรัสกับพระชนนี.
ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีให้พระมหาสัตว์ขึ้นรถแล้ว แม้คิดว่า เราจักขับรถตรงไปประตูทิศตะวันตก ถูกเทวดาดลใจด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ยังรถให้กลับแล้วขับรถตรงไปประตูทิศตะวันออก ครั้งนั้น ล้อรถกระทบธรณีประตู พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับเสียงนั้น ทรงดำริว่า มโนรถของเราถึงที่สุดแล้ว ได้มีพระมนัสแช่มชื่นเป็นอย่างยิ่ง รถแล่นออกจากพระนครไปถึงสถานที่สามโยชน์ ชัฏป่าในที่ตรงนั้น ปรากฏแก่นายสารถีดุจป่าช้าผีดิบ นายสารถีกำหนดว่า ที่นี้ผาสุก จึงแวะรถจากทางเข้าที่ข้างทาง ลงจากรถเปลื้องเครื่องแต่งองค์ของพระมหาสัตว์ ห่อวางไว้ แล้วถือจอบลงมือขุดหลุมสี่เหลี่ยมในที่ไม่ไกลรถ แต่นั้นพระมหาสัตว์ทรงดำริว่า กาลนี้เป็นกาลพยายามของเรา ก็เราพยายามถึงสิบหกปี ไม่ไหวมือและเท้า กำลังของเรายังมีอยู่ หรือว่าไม่มีหนอ? ดังนี้แล้วลุกขึ้น ลูบมือขวาด้วยมือซ้าย ลูบมือซ้ายด้วยมือขวา นวดพระบาททั้งสองด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง เกิดดวงจิตคิดจะลงจากรถ ขณะนั้นแผ่นดินได้สูงขึ้นจดท้ายรถ ตรงที่ประดิษฐานพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ดุจผิวฝุ่นที่เต็มด้วยลมฟุ้งขึ้น ฉะนั้น.
พระมหาสัตว์เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินไปมาสิ้นเวลาเล็กน้อย ก็ทรงทราบโดยนิยามนี้ว่า เรายังมีกำลังที่จะเดินทางไกลถึงร้อยโยชน์ได้ ในวันเดียว. เมื่อทรงพิจารณาพระกำลังว่า หากนายสารถีประทุษร้ายเรา กำลังของเราที่จะต่อสู้กับนายสารถีมีอยู่ หรือหนอ. จึงทรงจับท้ายรถยกขึ้น ประทับยืนกวัดแกว่งรถนั้น ดุจจับยานเครื่องเล่นของพวกเด็ก ฉะนั้น. เมื่อทรงกำหนดว่า กำลังที่จะต่อสู้กับนายสารถีของพระองค์ยังมีอยู่ จึงมีพระประสงค์จะได้เครื่องประดับองค์. ในขณะนั้นเองพิภพแห่งท้าวสักกเทวราชได้แสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า ความปรารถนาของเตมิยกุมารถึงที่สุดแล้ว. บัดนี้ เธอต้องการเครื่องประดับ เครื่องประดับของมนุษย์เธอจะต้องการทำไม. เราจักให้เตมิยกุมารประดับองค์ด้วยเครื่องประดับทิพย์ จึงตรัสเรียกพระวิสสุกรรมเทวบุตรมา มอบเครื่องประดับทิพย์แล้ว ทรงส่งไปโดยตรัสสั่งว่า ไปเถิด พ่อจงประดับเตมิยกุมารราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ด้วยเครื่องประดับทิพย์. พระวิสสุกรรมเทพบุตร ฟังคำท้าวสักกะ รับเทวโองการแล้วไปมนุษยโลก ไปยังสำนักพระมหาสัตว์ โพกพระเศียรพระมหาสัตว์ด้วยผ้าทิพย์หมื่นรอบ ประดับพระมหาสัตว์ให้เป็นเหมือนท้าวสักกะ ด้วยเครื่องประดับทั้งเป็นของทิพย์ และของมนุษย์ แล้วกลับไปที่อยู่ของตน. พระมหาสัตว์เสด็จไปยังที่ขุดหลุมของนายสารถี ด้วยการเยื้องกรายของท้าวสักกเทวราช ประทับยืนที่ริมหลุม.

เมื่อจะตรัสถามนายสารถีนั้น ได้ตรัสคาถาที่สามว่า
แน่ะนายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไม เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกแก่เราเถิดเพื่อน ท่านจะใช้หลุมทำประโยชน์อะไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาสํ ได้แก่ หลุมสี่เหลี่ยม.

นายสารถีได้ฟังดังนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าขึ้นดู กล่าวคาถาที่สี่ทูลตอบว่า
พระโอรสของพระราชา เป็นใบ้เป็นหนวกเป็นง่อยเปลี้ย เหมือนไม่มีพระมนัส พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ฝังลูกเราเสียในป่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺโข แปลว่า คนง่อยเปลี้ย ก็ด้วยคำว่า มูโค นั่นแหละ ย่อมสำเร็จแม้ความเป็นคนหนวกของเตมิยกุมาร เพราะคนหนวกไม่สามารถกล่าวตอบได้.
บทว่า อเจตโส ความว่า เหมือนไม่มีจิตใจ นายสารถีกล่าวอย่างนี้ เพราะเตมิยกุมารไม่พูดถึง ๑๖ ปี.
บทว่า สมิชฺฌิตฺโถ ความว่า พระราชามีรับสั่งส่งไปแล้ว. บทว่า นิกฺขนํ วเน ความว่า พึงฝังเสียในป่า.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะนายสารถีว่า
ดูก่อนนายสารถี ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนหนวก มิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย มิได้มีอินทรีย์วิกลวิการ ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เชิญท่านดูขาและแขนของข้าพเจ้า และเชิญฟังคำภาษิตของข้าพเจ้า ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พธิโร ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้ เพื่อแสดงว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ถ้าพระราชามีรับสั่งให้ฝังพระโอรสนี้อย่างนั้น แต่เรามิได้เป็นอย่างนั้น.
บทว่า ปิงฺคโล ได้แก่ มีอินทรีย์วิกลวิการ.
บทว่า มญฺเจ ตฺวํ นิกฺขนํ วเน ความว่า ถ้าท่านฝังเรา ผู้เว้นจากความเป็นคนหนวกเป็นต้น เห็นปานนี้เสียในป่า ท่านก็พึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เตมิยกุมารนั้นเห็นนายสารถี แม้ฟังคาถาแรกแล้วก็ไม่แลดูพระองค์เลย ทรงดำริว่า เราจักแสดงแก่นายสารถีนี้ว่า เราไม่หนวก ไม่ใบ้ ไม่ง่อยเปลี้ย ตกแต่งสรีระแล้ว จึงตรัสคาถานี้ว่า อูรู เป็นต้น คาถานั้นมีเนื้อความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ท่านจงดูขาทั้งสองของเรา คือของข้าพเจ้า ซึ่งเช่นกับลำต้นกล้วยทองคำ และแขนทั้งสองของเราคือของข้าพเจ้า ซึ่งมีวรรณะดังใบกล้วยทองคำ และจงฟังคำอันไพเราะของเรา.
แต่นั้น นายสารถีคิดว่า นี่ใครหนอ ตั้งแต่มาก็สรรเสริญแต่ตนเท่านั้น เขาหยุดขุดหลุมเงยหน้าขึ้นดู ได้เป็นรูปสมบัติของพระมหาสัตว์ เมื่อยังไม่รู้จักพระมหาสัตว์ว่า ชายคนนี้เป็นมนุษย์หรือเทวดาหนอ
จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกเทวราชผู้ให้ทานในก่อน ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร?


ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะสำแดงตนให้แจ้งและแสดงธรรม จึงตรัสคาถาว่า
เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ มิใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในก่อน เราที่ท่านจะฆ่าเสียในหลุม เป็นโอรสของพระเจ้ากาสิกราช เราเป็นโอรสของพระราชา ผู้ที่ท่านพึงพระบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ แน่ะนายสารถี ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนลามก พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิหญฺญสิ แปลว่า จักฝัง พระมหาสัตว์ แสดงว่า ท่านขุดหลุม ด้วยหมายว่า จักฝังผู้ใดในที่นี้ เราคือผู้นั้น แม้เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า เราเป็นพระราชโอรส นายสารถีนั้นก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง แต่รู้ได้ด้วยมธุรกถาของพระมหาสัตว์นั้น จึงได้ยืนฟังธรรมอยู่.
บทว่า มิตฺตทุพฺโภ ได้แก่ คนฆ่ามิตร คือ คนเบียดเบียนมิตรทั้งหลาย.
บทว่า รุกฺขสฺส ความว่า บุคคลหักราก ลำต้น ผล ใบ หรือหน่อของต้นไม้ที่มีร่มเงาอันตนได้ใช้สอยอยู่ ย่อมเป็นผู้ฆ่ามิตร คือเบียดเบียนมิตร.
บทว่า ปาปโก ได้แก่เป็นคนลามก ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่ฆ่ามนุษย์.
ด้วยบทว่า ฉายูปโค พระมหาสัตว์ตรัสว่า แน่ะนายสารถี ท่านอาศัยพระราชาเลี้ยงชีพอยู่ เหมือนคนเข้าไปสู่ร่มเงาของต้นไม้ เพื่อต้องการจะใช้สอยฉะนั้น

เมื่อพระโพธิสัตว์ แม้ตรัสถึงอย่างนี้ นายสารถีก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราจักทำให้นายสารถีนั้นเชื่อ ทรงทำป่าชัฏให้บันลือลั่นด้วยเสียงสาธุการของเหล่าเทวดา และด้วยคำโฆษณาของพระองค์.
เมื่อจะตรัสคาถาบูชามิตร ๑๐ คาถา จึงตรัสว่า
๑.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร ชนเป็นอันมากอาศัยบุคคลผู้นั้นเลี้ยงชีพ บุคคลผู้นั้นจากเรือนของตนไปที่ไหนๆ ย่อมมีภักษาหารมากมาย.

๒.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันหมู่ชนในที่นั้นๆ ทั้งหมดบูชา.

๓.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โจรทั้งหลายไม่ข่มเหงบุคคลผู้นั้น กษัตริย์ก็มิได้ดูหมิ่นบุคคลผู้นั้น บุคคลผู้นั้นย่อมข้ามพ้นหมู่อมิตรทั้งปวง.

๔.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นจะมาสู่เรือนของตนด้วย มิได้โกรธเคืองใครๆ มาได้ความยินดีปรีดาในสภาที่ประชุม เป็นผู้สูงสุดของหมู่ญาติ.

๕.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นสักการะคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตน เคารพคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่น เคารพตน ย่อมเป็นผู้ได้รับความยกย่องและเกียรติคุณ.

๖.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหลามิตร บุคคลผู้นั้นบูชาผู้อื่น ก็ย่อมได้บูชาตอบ ไหว้ผู้อื่น ก็ย่อมได้ไหว้ตอบ และย่อมถึงยศและเกียรติ.

๗.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดุจกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดา มีสิริประจำตัว.

๘.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้นย่อมเกิด พืชที่หว่านไว้ในนาย่อมงอกงาม บุคคลผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของพืชที่หว่านไว้.

๙.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นตกเหว ตกภูเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งอาศัยไม่เป็นอันตราย.

๑๐.

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรมีรากและย่านงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มได้ ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุตพฺภกฺโข ได้แก่ ได้ภิกษามาง่าย. บทว่า สกํฆรา ได้แก่ จากเรือนของตน อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้แหละ.
บทว่า น ทุพฺภติ แปลว่า ไม่ประทุษร้าย.
บทว่า สพฺพตฺถ ปูชิโต โหติ นี้พึงพรรณนาด้วยเรื่องพระสีวลี.
บทว่า นาสฺสโจรา ปสหนฺติ ความว่า พวกโจรไม่อาจทำการข่มขี่ บทนี้พึงแสดงด้วยเรื่องสังกิจจสามเณร.
บทว่า นาติมญฺเญติ ขตฺติโย นี้พึงแสดงด้วยเรื่องโชติกเศรษฐี.
บทว่า ตรติ ได้แก่ ย่อมก้าวล่วง.
บทว่า สฆรํ เอติ ความว่า ผู้ประทุษร้ายมิตร แม้มาเรือนของตน ก็มีจิตหงุดหงิดโกรธมา แต่ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนี้ ย่อมไม่โกรธมาเรือนของตน.
บทว่า ปฏินนฺทิโต ความว่า ย่อมกล่าวคุณกถาของ ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรในสถานที่ประชุมของคนเป็นอันมาก ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมเป็นผู้ชื่นชมเบิกบานด้วยเหตุนั้น.
บทว่า สกฺกตฺวา สกฺกโต โหติ ความว่า สักการะผู้อื่นแล้ว แม้ตนเองก็เป็นผู้อันผู้อื่นทั้งหลายสักการะ.
บทว่า ครุ โหติ สคารโว ความว่า มีความเคารพในผู้อื่นทั้งหลาย แม้ตนเองก็เป็นผู้อันผู้อื่นทั้งหลายเคารพ.
บทว่า วณฺณกิตฺติภโต โหติ ความว่า ได้รับยกย่องและสรรเสริญ คือยกคุณความดีและเสียงสรรเสริญเที่ยวป่าวประกาศ.
บทว่า ปูชโก ความว่า เป็นผู้บูชามิตรทั้งหลาย แม้ตนเองก็ย่อมได้การบูชา.
บทว่า วนฺทโก ความว่า ผู้ไหว้กัลยาณมิตรทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมได้ไหว้ตอบในภพใหม่.
บทว่า ยโสกิตฺตึ ความว่า ย่อมถึงอิสริยยศและบริวารยศ และเสียงสรรเสริญคุณความดี พึงกล่าวเรื่องของจิตตคฤหบดี ด้วยคาถานี้.
บทว่า ปชฺชลติ ความว่า ย่อมรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศ และบริวาร ยศ ในบทว่า สิริยา อชฺชหิโต โหติ นี้ควรกล่าวเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี.
บทว่า อสฺนาติ แปลว่า ย่อมบริโภค.
บทว่า ปติฎฐํ ลภติ พึงแสดงด้วยจุลปทุมชาดก.
บทว่า วิรุฬฺหมูลสนฺตานํ แปลว่า มีรากและย่านเจริญ.
ในบทว่า อมิตฺตา นปฺปสหนฺติ นี้พึงกล่าวเรื่องโจรเข้าเรือนของมารดาพระโสณเถระในเรือนตระกูล.

สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น แม้พระมหาสัตว์ทรงแสดงธรรม ด้วยคาถามีประมาณเท่านี้ ก็ยังจำพระองค์ไม่ได้ หยุดขุดหลุมด้วยคิดว่า คนนี้ใครหนอแล้วลุกขึ้นเดินไปใกล้รถ ไม่เห็นพระมหาสัตว์และห่อเครื่องประทับทั้งสองอย่าง จึงกลับมาแลดูพระองค์ ก็จำพระองค์ได้ จึงหมอบลงแทบพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ประคองอัญชลีทูลวิงวอน กล่าวคาถานี้ว่า
ขอพระองค์เสด็จมาเถิด ข้าพระบาทจักนำพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสกลับสู่มณเฑียรของพระองค์ ขอพระองค์จงครองราชสมบัติ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระองค์จักทรงทำอะไรในป่า.


ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสกะนายสารถีว่า
แน่ะนายสารถี เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอธรรม พร้อมด้วยญาติและทรัพย์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลํ เป็นคำปฏิเสธ.

นายสารถีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระราชบุตร พระองค์เสด็จกลับจากที่นี้ จะทำให้ข้าพระองค์ได้รางวัลเครื่องยินดี. เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว พระชนกและพระชนนี จะพระราชทานรางวัลเครื่องยินดีแก่ข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์เหล่านั้นจะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์ . ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพราบ แม้เหล่านั้นจะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว ชาวชนบท ชาวนิคม ผู้มีธัญญาหารมาก จะประชุมกันให้เครื่องบรรณาการแก่ข้าพระองค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุณฺณปตฺตํ ได้แก่ รางวัลเครื่องยินดี คือ ของให้ที่น่ายินดี.
บทว่า ทชฺชุํ ความว่า พึงให้รางวัล เครื่องยินดีที่ทำให้ความมุ่งหมายของข้าพระองค์บริบูรณ์ ดุจหลั่งฝน คือ รัตนะเจ็ดประการ ฉะนั้น. นายสารถีคิดว่า อย่างไรเสีย พระกุมารนี้ก็คงเสด็จกลับเพื่ออนุเคราะห์เรา จึงได้กล่าวคำนี้.
บทว่า เวสิยา แปลว่า พ่อค้า. บทว่า อุปยานานิ แปลว่า เครื่องบรรณาการ.

พระมหาสัตว์ทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสว่า
พระชนกและพระชนนี สละเราแล้ว. ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคมและกุมารทั้งปวง ก็สละเราแล้ว. เราไม่มีเหย้าเรือนของตน พระชนนีทรงอนุญาตเราแล้ว พระชนกก็ทรงสละเราจริงๆแล้ว เราจะบวชอยู่ในป่าคนเดียว ไม่ปรารถนากามคุณทั้งหลาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตุ มาตุ จ แปลว่า อันพระชนกและพระชนนี.
บทว่า จตฺโต แปลว่า สละขาดแล้ว แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า มตฺยา ความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก เราชื่อว่าอันพระชนนีผู้รับพรกำหนดให้ครองราชสมบัติ ๗ วัน ทรงอนุญาตแล้ว.
บทว่า สญฺจตฺโต แปลว่า สละแล้วด้วยดี. บทว่า ปพฺพชิโต ความว่า ออกเพื่อต้องการบวชอยู่ในป่า.

เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสคุณธรรมของพระองค์อยู่อย่างนี้ พระปีติได้เกิดขึ้นแล้ว แต่นั้นเมื่อทรงเปล่งพระอุทาน ด้วยกำลังพระปีติ จึงตรัสว่า
ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ไหนเล่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผลาสาว ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้ เพื่อแสดงว่า ผลแห่งความมุ่งหมายของเราผู้ไม่รีบร้อน สิบหกปีจึงสำเร็จ. บทว่า วิปกฺกพฺรหฺมจริโยสฺมิ แปลว่า มีความปรารถนาถึงที่สุดแล้ว. บทว่า สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ ความว่า ประเภทคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่พึงทำ ย่อมสำเร็จโดยชอบ คือโดยอุบาย โดยการณ์.

นายสารถีกราบทูลว่า
พระองค์มีพระดำรัสไพเราะ และมีพระวาจาสละสลวยอย่างนี้ เหตุไฉนจึงไม่ตรัสในสำนักแห่งพระชนกและพระชนนี ในกาลนั้นเล่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วคฺคุกโถ แปลว่า มีพระดำรัสไพเราะ คือ มีพระดำรัสอ่อนหวาน.

แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า
เราเป็นง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีเครื่องติดต่อก็หาไม่ เราเป็นหนวก เพราะไม่มีช่องหูก็หาไม่ เราเป็นใบ้ เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าเข้าใจว่า เราเป็นใบ้.
เราระลึกชาติปางก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้ เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นยี่สิบปี ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี เรากลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น ขอชนทั้งหลายอย่าพึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พูดในสำนักของพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น.
พระชนกทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลา แล้วตรัสสั่งข้อความว่า จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงจองจำโจรคนหนึ่ง จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วเอาน้ำแสบราดแผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว ตรัสสั่งเจ้าหน้าที่นั้นอย่างนี้ เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระชนกตรัสนั้น จึงกลัวการเสวยราชสมบัติ เรามิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย ก็ให้คนเข้าใจว่า ง่อยเปลี้ย แกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่ในปัสสาวะ และอุจจาระของตน
ชีวิตนั้นเป็นของลำบาก เป็นของน้อย ทั้งประกอบด้วยทุกข์ ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง เพราะไม่ได้ปัญญา เพราะไม่เห็นธรรม. ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน. เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ไหนเล่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสนฺธิตา แปลว่า เพราะไม่มีที่ต่อ. บทว่า อโสตตา แปลว่า เพราะไม่มีโสต. บทว่า อชิวฺหตา ความว่า เรานั้นมิได้เป็นใบ้ เพราะไม่มีลิ้น สำหรับเปลี่ยนไปมาของคำพูด. บทว่า ยตฺถ ความว่า ได้เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสีนั่นแลในชาติใด.
บทว่า ปาปตฺถํ ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสถึงความชั่วว่าพระองค์ได้ตกมาแล้ว.
บทว่า รชฺเชภิเสจยุํ แปลว่า พึงอภิเษกในราชสมบัติ.
บทว่า นิสีทิตฺวา ความว่า ให้นั่งแล้ว.
บทว่า อตฺถานุสาสติ ความว่า ตรัสสั่งข้อความผิด.
บทว่า ขาราปตจฺฉกํ ความว่า จงเอาหอกแทงแล้วราดน้ำแสบที่แผล.
บทว่า อุพฺเพถ แปลว่า จงยกขึ้น คือจงเสียบ.
บทว่า อิจฺจสฺส อนุสาสติ ความว่า ตรัสสั่งข้อความแก่มหาชนนั้นอย่างนี้.
บทว่า ตายาหํ ความว่า เราได้ฟังพระวาจาเหล่านั้น.
บทว่า ปกฺขสมฺมโต ความว่า ได้เป็นผู้อันชนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นง่อยเปลี้ย คือ เป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย.
บทว่า อจฺฉาหํ ความว่า อยู่แล้ว คือเราอยู่แล้ว. บทว่า สํปริปลุโต ความว่า เป็นผู้เกลือกกลิ้ง คือจมลงแล้ว. บทว่า กสิรํ แปลว่า เป็นทุกข์.
บทว่า ปริตฺตํ แปลว่า น้อย คำนี้มีอธิบายว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเป็นทุกข์ ก็จะพึงตั้งอยู่ คือเป็นไปนานมาก ถ้านิดหน่อยก็จะพึงเป็น คือเป็นไปสบาย แต่ชีวิตนี้ ลำบากก็ตาม นิดหน่อยก็ตาม น้อยก็ตาม ย่อมประกอบ คือเข้าไปทรงไว้พร้อมด้วยทุกข์ในวัฎฎะทั้งสิ้นทีเดียว คือถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาสย่ำยี.
บทว่า โกมํ ตัดบทเป็น โก อิมํ. บทว่า เวรํ ได้แก่ เวรห้าอย่างมีปาณาติบาต เป็นต้น. บทว่า เกนจิ ได้แก่ ด้วยเหตุไรๆ. บทว่า กยิราถ แปลว่า พึงกระทำ บทว่า ปญฺญาย ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา. บทว่า ธมฺมสฺส ความว่า เพราะไม่เห็นโสดาปัตติมรรค.

พระมหาสัตว์ได้ตรัสอุทานคาถาซ้ำอีก เพื่อประกาศความประสงค์ ไม่เสด็จกลับไปพระนคร เป็นมั่นคง.
สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น คิดว่า พระกุมารนี้ทิ้งสิริราชสมบัติเห็นปานนี้ เหมือนทิ้งซากศพ ไม่ทำลายความตั้งใจมั่นของพระองค์ เข้าป่าด้วยหวังว่า จักผนวช เราจะต้องการอะไรด้วยชีวิตอันไม่สมประกอบนี้ แม้เราก็จักบวชกับด้วยพระกุมารนั้น คิดดังนี้แล้ว
จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระราชบุตร แม้ข้าพระองค์ก็จักบวชในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสเรียกให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ชอบบวช.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวนฺติเก แปลว่า ในสำนักของท่าน. บทว่า อวฺหยสฺสุ ความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสเรียกข้าพระองค์ว่า เจ้าจงมาบวชเถิด.

แม้นายสารถีทูลวิงวอนอย่างนี้ พระมหาสัตว์ทรงพระดำริว่า หากเราให้นายสารถีบวช ในบัดนี้ทีเดียว พระชนกพระชนนีของเราก็จักไม่เสด็จมาในที่นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ความเสื่อมจักมีแก่พระชนกและพระชนนีทั้งสอง ม้า รถ และเครื่องประดับเหล่านี้ก็จักพินาศ แม้ความครหาก็จักเกิดขึ้นแก่เราว่า นายสารถีนั้นถูกพระราชกุมาร ผู้เป็นยักษ์กินเสียแล้ว ทรงพิจารณาเพื่อจะเปลื้องความครหาของพระองค์ และพิจารณาถึงความเจริญแห่งพระชนกและพระชนนี
เมื่อทรงแสดงม้ารถและเครื่องประดับ ทำให้เป็นหนี้ของนายสารถีนั้น จึงตรัสคาถาว่า
แน่ะนายสารถี ท่านจงไปมอบคืนรถ แล้วเป็นผู้ไม่มีหนี้เถิด เพราะผู้ไม่มีหนี้จึงบวชได้ การบวชนั้น ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งสรรเสริญแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตํ ได้แก่ การกระทำการบรรพชานั้น. บทว่า อิสีภิ วณฺณิตํ ความว่า ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว.

นายสารถีได้ฟังดังนั้นคิดว่า เมื่อเราไปสู่พระนคร ถ้าพระกุมารนี้จะพึงเสด็จไปที่อื่น พระราชบิดาได้ทรงสดับข่าวนี้ แล้วเสด็จมาตรัสว่า จงแสดงลูกของเรา มิได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารนี้ จะพึงลงราชทัณฑ์แก่เรา เพราะฉะนั้น เราจะกล่าวคุณของตนแก่พระกุมารนี้ จักถือเอาคำปฏิญญาเพื่อไม่เสด็จไปที่อื่น คิดดังนี้แล้ว
จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ข้าพระองค์ได้ทำตามพระดำรัส ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระองค์ควรจะทรงทำตามคำที่ข้าพระองค์ทูลวิงวอน ขอพระองค์จงประทับรออยู่ ณ ที่นี้ จนกว่าข้าพระองค์จะนำพระราชาเสด็จมา อย่างไรเสีย พระราชบิดาของพระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้ว คงทรงพระปีติโสมนัสเป็นแน่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ความว่า ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระดำรัสใดที่พระองค์ตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้กระทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว พระองค์อันข้าพระองค์วิงวอนแล้ว ควรจะกระทำตามคำนั้นเท่านั้น.

แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า
แน่ะนายสารถี เราจะกระทำตามคำของท่าน ที่ท่านกล่าวกะเรา แม้ตัวเราก็อยากเห็นพระชนกของเราเสด็จมาในที่นี้ จงกลับไปเถิดเพื่อนรัก ท่านจงทูลแก่พระญาติทั้งหลายด้วยก็เป็นการดี ท่านเป็นผู้ที่เราสั่งแล้ว จงกราบทูลถวายบังคมพระชนกพระชนนีของเรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโรมิ เต ตํ ความว่า เรากระทำตามคำนั้นของท่าน.
บทว่า เอหิ สมฺม นิวตฺตสฺสุ ความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ท่านจงไปในที่นั้น จงรีบกลับไปจากที่นี้ทีเดียว. บทว่า วุตฺโต วชฺชาสิ ความว่า ท่านเป็นผู้ที่เรากล่าวสั่งแล้ว พึงกราบทูลถวายบังคมของเราว่า เตมิยกุมารพระโอรสของพระองค์ ถวายบังคมพระบาทยุคลของพระองค์.

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว พระมหาสัตว์ได้น้อมพระองค์ดุจลำต้นกล้วยทองคำ ผินพระพักตร์ไปทางกรุงพาราณสี ถวายบังคมพระชนกและพระชนนี ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วได้ประทานข่าวสาส์นแก่นายสารถี.
นายสารถีรับข่าวสาส์นแล้ว ทำประทักษิณพระกุมาร ถวายบังคมแทบพระยุคลบาทของพระกุมาร ขึ้นรถแล้วขับตรงไปยังกรุงพาราณสี.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า
นายสารถีจับพระบาททั้งสองของพระกุมาร และกระทำประทักษิณพระกุมารแล้ว ขึ้นรถเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส เป็นต้น ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายสารถีนั้นจับที่พระบาททั้งสองของพระกุมารนั้น กระทำประทักษิณแล้ว ขึ้นรถเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง.

ในขณะนั้น พระนางจันทาเทวีเผยพระแกลคอยแล ดูการมาของนายสารถี ด้วยใคร่จะทรงทราบว่า ความเป็นไปของลูกเราเป็นอย่างไรหนอ พอทอดพระเนตรเห็น นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ก็เป็นประหนึ่งพระหฤทัยจะแตกทำลายไป ทรงคร่ำครวญแล้ว.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า
พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า มีแต่นายสารถีมาคนเดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไป ด้วยพระอัสสุชลทรงกันแสง ทอดพระเนตรดูนายสารถีนั้น ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า นายสารถีนี้ฝังโอรสของเราเสียแล้ว โอรสของเรานายสารถีฝังเสียในแผ่นดิน ถมแผ่นดินแล้วเป็นแน่ ปัจจามิตรทั้งหลายจะยินดี ศัตรูทั้งหลายจะอิ่มใจเป็นแน่ เพราะเห็นนายสารถีมาแล้ว เพราะฝังโอรสของเราแล้ว.
พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไป ด้วยพระอัสสุชลทรงกันแสง ตรัสสอบถามนายสารถีนั้นว่า โอรสของเราเป็นใบ้หรือ เป็นง่อยหรือ ตรัสอะไรบ้างหรือ ในเวลาที่ถูกท่านฝังในแผ่นดิน จงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด นายสารถี โอรสของเราเป็นใบ้เป็นง่อย เขากระดิกมือเท้าอย่างไรบ้างไหม ในเมื่อถูกท่านฝังในแผ่นดิน เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา.


บรรดาบทเหล่านั้น มาตา ได้แก่ พระชนนีของเตมิยกุมารโพธิสัตว์. บทว่า ปฐพฺยา ภูมิวฑฺฒโน ความว่า ลูกของเรานั้น ถูกฝังในแผ่นดินถมพื้นดินเป็นแน่.
บทว่า โรทนฺตี นํ ปริปุจฺฉติ ความว่า พระนางจันทาเทวีตรัสสอบถาม นายสารถีผู้หยุดรถไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ขึ้นปราสาทถวายบังคมพระนางแล้วยืน ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง.
บทว่า กินฺนุ ความว่า ลูกของเรานั้นเป็นใบ้และเป็นง่อยเปลี้ยจริงหรือ. บทว่า ตทา ความว่า ในเวลาที่ท่านฝังเขาในหลุมแล้วเอาสันจอบทุบศีรษะ.
บทว่า นิหญฺญมาโน ภูมิยา ความว่า เมื่อถูกท่านฝังในพื้นดิน เขาพูดอย่างไรบ้าง. บทว่า ตํ เม อกฺขาหิ ความว่า ท่านจงบอกเรื่องทั้งหมดนั้น อย่าให้คลาดเคลื่อน. บทว่า วิวฏฺฎยิ ความว่า ลูกของเราเขาไหวมือและเท้า พร่ำกล่าวกะท่านว่า หลีกไปสารถี ท่านอย่าฆ่าเรา ดังนี้บ้างหรือไม่.

ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีกราบทูลพระนางว่า

.. อรรถกถา เตมิยชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑][๒] [๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]