ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

๗. จันทกุมารชาดก๑- (๕๔๔)
ว่าด้วยจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี
[๙๘๒] พระเจ้าเอกราช ผู้มีกรรมหยาบช้า ประทับอยู่ในกรุงบุปผวดี ท้าวเธอตรัสถามขัณฑหาลปุโรหิต ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ผู้เป็นคนหลงว่า [๙๘๓] ท่านพราหมณ์ ท่านฉลาดในสุจริตธรรมและอาจารวินัย ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา อย่างที่นรชนทำบุญแล้ว จากโลกนี้จะไปสู่สุคติภพเถิด (ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า) [๙๘๔] ข้าแต่สมมติเทพ เหล่านรชนให้ทานยิ่งกว่าทาน ฆ่าคนที่ไม่น่าจะฆ่า ทำบุญแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ได้อย่างนี้ (พระราชาตรัสว่า) [๙๘๕] ก็ทานที่ยิ่งกว่าทานนั้นคืออะไร และคนจำพวกไหนเป็นผู้ไม่น่าจะฆ่าในโลกนี้ ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา เราจักบูชายัญ จักให้ทาน (ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า) [๙๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ ควรบูชายัญด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา พระมเหสี ชาวนิคม โคอุสภราช และม้าอาชาไนย อย่างละ ๔ ควรบูชายัญด้วยของครบอย่างละ ๔ พระเจ้าข้า @เชิงอรรถ : @ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเทวทัตตรัสจันทกุมารชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า @มีพระราชาผู้ทรงทำกรรมหยาบช้า ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๙๘๗] ในพระราชวังมีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่เป็นอันเดียวกัน เพราะได้ยินคำว่า พระกุมาร พระกุมารี และพระมเหสีจะถูกประหาร (พระราชาตรัสว่า) [๙๘๘] ขอพวกท่านจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย คือ จันทกุมาร สุริยกุมาร ภัททเสนกุมาร สูรกุมาร และวามโคตตกุมารเถิดว่า “ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่ในที่เดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ” [๙๘๙] ขอพวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย คือ อุปเสนากุมารี โกกิลากุมารี มุทิตากุมารี และนันทากุมารีเถิดว่า “ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ” [๙๙๐] อนึ่ง พวกเจ้าจงไปทูลพระนางวิชยา พระนางเอราวดี พระนางเกศินี และพระนางสุนันทาผู้เป็นมเหสีของเรา ผู้ซึ่งประกอบด้วยลักษณะอันประเสริฐเถิดว่า “ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ” [๙๙๑] พวกท่านจงไปบอกพวกคหบดี คือ ปุณณมุขคหบดี ภัททิยคหบดี สิงคาลคหบดี และวัฑฒคหบดีเถิดว่า “ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๙๙๒] คหบดีเหล่านั้นมีบุตรและภรรยามาก ต่างก็มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น ได้กราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงไว้จุก๑- แก่ข้าพระองค์ทั้งหมดเถิด อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ทรงประกาศพวกข้าพระองค์เป็นข้าทาสเถิด” (พระราชาตรัสว่า) [๙๙๓] พวกท่านจงรีบนำช้างทั้งหลายของเรามา คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคีรี ช้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ ช้างเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ [๙๙๔] พวกท่านจงรีบไปนำม้าอัสดรของเรามา คือ ม้าเกศี ม้าสุรามุขะ ม้าปุณณกะ ม้าวินตกะ ม้าเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ [๙๙๕] ขอพวกท่านจงรีบไปนำเอาโคอุสภะของเรามา คือ โคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ และโคควัมปติ จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่ เราจักบูชายัญ จักให้ทาน [๙๙๖] พวกท่านจงตระเตรียมยัญทุกอย่างไว้ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ พวกท่านจงบังคับเหล่ากุมารมาว่า จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้เถิด @เชิงอรรถ : @ ไว้จุก หมายถึงทำให้เป็นผู้รับใช้ ทำให้เป็นทาส (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๙๒/๑๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๙๙๗] พวกท่านจงตั้งยัญทุกอย่างไว้ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ พวกเจ้าจงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้ วันนี้แหละเป็นคืนสุดท้าย (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๙๙๘] พระมารดาเสด็จมาจากพระตำหนัก ทรงกันแสงพลางตรัสถามพระเจ้าเอกราชนี้นั้นว่า “ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระโอรสทั้ง ๔ หรือ” (พระราชากราบทูลว่า) [๙๙๙] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้ หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์ (พระราชมารดาตรัสว่า) [๑๐๐๐] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า “สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์” [๑๐๐๑] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ (พระราชากราบทูลว่า) [๑๐๐๒] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า “หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๐๐๓] แม้แต่พระเจ้าวสวัตดีพระราชบิดา ได้ตรัสถามพระราชโอรสของพระองค์นั้นว่า “ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยโอรสทั้ง ๔ หรือ” (พระราชากราบทูลว่า) [๑๐๐๔] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้ หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์ (พระราชบิดาตรัสว่า) [๑๐๐๕] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า “สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก มิใช่ทางไปสู่สวรรค์ [๑๐๐๖] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ (พระราชากราบทูลว่า) [๑๐๐๗] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า “หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์” (พระราชบิดาตรัสว่า) [๑๐๐๘] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง พ่อจงเป็นผู้มีบุตรห้อมล้อม รักษารัฐและชนบทเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(จันทกุมารกราบทูลว่า) [๑๐๐๙] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นข้าทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้ [๑๐๑๐] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้ [๑๐๑๑] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้ [๑๐๑๒] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต (พระราชาตรัสว่า) [๑๐๑๓] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้ จงปล่อยพวกพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า) [๑๐๑๔] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว ให้กระจัดกระจายไปเล่า [๑๐๑๕] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ (จันทกุมารกราบทูลว่า) [๑๐๑๖] ข้าแต่สมมติเทพ เพราะเหตุไร เมื่อก่อนพระองค์จึงรับสั่งให้พวกพราหมณ์ กล่าวคำสวัสดีแก่พวกหม่อมฉัน มาภายหลัง พระองค์จะรับสั่งฆ่าพวกหม่อมฉัน เพื่อต้องการจะบูชายัญโดยหาเหตุมิได้ [๑๐๑๗] ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อน เวลาที่พวกหม่อมฉันยังเป็นเด็กหนุ่ม พระองค์มิได้ทรงฆ่าเองและมิได้ทรงรับสั่งให้ผู้อื่นฆ่า บัดนี้ พวกหม่อมฉันถึงความเจริญวัยเป็นหนุ่มแน่นแล้ว มิได้คิดประทุษร้ายต่อพระองค์เลย เพราะเหตุไร จึงจะถูกฆ่า [๑๐๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตร ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ขึ้นขี่ช้างและม้า ผูกสอดเครื่องรบได้ออกรบแล้วหรือกำลังสู้รบ บุตรทั้งหลายผู้กล้าหาญดังเช่นพวกข้าพระองค์ ย่อมไม่ควรที่จะต้องถูกฆ่าเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๑๙] เมื่อเมืองชายแดน หรือเมื่อพวกโจรในดงกำเริบ ชนทั้งหลายย่อมใช้คนเช่นข้าพระองค์ ข้าแต่พระบิดา แต่พวกข้าพระองค์จะถูกฆ่า ในสถานที่ที่ไม่สมควรโดยหาเหตุมิได้ [๑๐๒๐] ข้าแต่สมมติเทพ แม่นกที่เกื้อกูลเหล่าใดพากันทำรังอยู่ ลูกนกทั้งหลายเป็นที่รักของแม่นกเหล่านั้น ส่วนพระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เพราะเหตุไร [๑๐๒๑] ข้าแต่สมมติเทพ อย่าได้ทรงเชื่อขัณฑหาลปุโรหิต ขัณฑหาลปุโรหิตไม่พึงฆ่าข้าพระองค์ เพราะเขาฆ่าข้าพระองค์ได้แล้ว ก็จะพึงฆ่าพระองค์ในอันดับต่อไป [๑๐๒๒] ข้าแต่มหาราช พระราชาทั้งหลาย ย่อมพระราชทานบ้านอย่างดี นิคมอย่างดี แม้แต่โภคทรัพย์แก่พราหมณ์นั้น อนึ่ง พวกพราหมณ์นั้นแม้ได้ข้าวและน้ำอันเลิศในตระกูล ย่อมบริโภคในตระกูล [๑๐๒๓] ข้าแต่มหาราช พวกพราหมณ์ย่อมปรารถนา เพื่อประทุษร้ายต่อผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นแม้เหล่านั้น เพราะโดยมากพวกพราหมณ์แม้เหล่านี้ เป็นคนอกตัญญู พระเจ้าข้า [๑๐๒๔] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๒๕] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้ [๑๐๒๖] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้ [๑๐๒๗] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ให้เป็นทาส ของขัณฑหาลปุโรหิตตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต (พระราชาตรัสว่า) [๑๐๒๘] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้ จงปล่อยพวกพระกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้เถิด เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ (ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า) [๑๐๒๙] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว ให้กระจัดกระจายไปเล่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๓๐] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ (จันทกุมารกราบทูลว่า) [๑๐๓๑] ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา พราหมณ์จงบูชาก่อนเถิด ขอพระองค์ทรงบูชายัญตามในภายหลัง [๑๐๓๒] ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา ขอขัณฑหาลพราหมณ์ผู้นี้แหละ จงบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายของตนเถิด [๑๐๓๓] ถ้าว่าขัณฑหาลพราหมณ์รู้อยู่อย่างนี้ ทำไมจึงไม่ฆ่าบุตรของตน ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า [๑๐๓๔] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชายัญอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่นรกทุกคน [๑๐๓๕] ก็ถ้าว่าคนผู้ฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้ แม้คนผู้ถูกฆ่านั้นก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้ พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์ และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย [๑๐๓๖] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้ ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า “อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๓๗] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้ ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า “อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย” [๑๐๓๘] เราเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์แก่พระราชา และเป็นผู้เกื้อกูลแก่ชนบททั้งมวล ใครๆ ก็ไม่พึงมีความแค้นเคืองกับเรา ชาวชนบททั้งหลายไม่ช่วยกราบทูลให้พระองค์ได้ทรงทราบเลย [๑๐๓๙] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า “ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์” [๑๐๔๐] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า “ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่หวังของชาวโลกทั้งมวล” [๑๐๔๑] ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลช่างรถ ตระกูลปุกกุสะ หรือในตระกูลพ่อค้า พระราชาก็ไม่พึงรับสั่งให้ฆ่าเราในการบูชายัญวันนี้ (จันทกุมารตรัสกับพระชายาทั้งหลายว่า) [๑๐๔๒] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า “เรามิได้เห็นความผิดเลย” [๑๐๔๓] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า “ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรท่าน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๐๔๔] พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุณย์ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลาย ที่เขานำมาเพื่อบูชายัญ จึงทรงคร่ำครวญว่า ได้ยินว่า พระบิดาของเราทรงปรารถนาสวรรค์ รับสั่งให้ตั้งพิธีบูชายัญขึ้น [๑๐๔๕] พระวสุลราชนัดดากลิ้งเกลือกไปมาต่อพระพักตร์ ของพระราชากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระบาทยังเป็นเด็ก ไม่ถึงความเป็นหนุ่ม ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอย่าฆ่าพระบิดาของข้าพระบาทเลย” (พระราชาตรัสว่า) [๑๐๔๖] วสุละ นั่นพ่อเจ้า เจ้าจงไปพร้อมกับพ่อ เจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ได้ก่อทุกข์ให้แก่เราแท้ จงปล่อยพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ (ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า) [๑๐๔๗] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า “การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว ให้กระจัดกระจายไปเล่า [๑๐๔๘] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ [๑๐๔๙] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช ข้าพระองค์ได้ตระเตรียม จัดแจงยัญด้วยแก้วสารพัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้วจักเสด็จไปสู่สวรรค์ บันเทิงพระหฤทัย พระเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๕๐] หญิงสาว ๗๐๐ คนนี้เป็นภรรยาของจันทกุมาร ต่างสยายผมร้องไห้เดินไปตามทาง [๑๐๕๑] ส่วนหญิงอีกพวกหนึ่งก็ออกไปด้วยความเศร้าโศก เหมือนเหล่าเทวดาในอุทยานนันทวัน ต่างสยายผมร้องไห้ไปตามทาง (หญิง ๗๐๐ พร่ำเพ้อว่า) [๑๐๕๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช [๑๐๕๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระมารดา [๑๐๕๔] จันทกุมารและสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน [๑๐๕๕] จันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๕๖] จันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกนำไป ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระราชชนนี [๑๐๕๗] จันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน [๑๐๕๘] เมื่อก่อน พลช้างตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นคอช้างตัวประเสริฐ วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จดำเนินด้วยพระบาท [๑๐๕๙] เมื่อก่อน พลม้าตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร ผู้เสด็จทรงขึ้นหลังม้าตัวประเสริฐ วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จดำเนินด้วยพระบาท [๑๐๖๐] เมื่อก่อน พลรถตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร ผู้เสด็จขึ้นทรงรถคันประเสริฐ วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จดำเนินด้วยพระบาท [๑๐๖๑] เมื่อก่อน จันทกุมารและสุริยกุมาร ที่ราชบุรุษเชิญเสด็จออกด้วยม้าทั้งหลายที่ตกแต่งเครื่องทอง วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จดำเนินด้วยพระบาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(มหาชนเพ้อว่า) [๑๐๖๒] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะทรงบูชายัญด้วยพระโอรส ๔ พระองค์ [๑๐๖๓] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้นพระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะทรงบูชายัญด้วยพระธิดา ๔ พระองค์ [๑๐๖๔] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์ [๑๐๖๕] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะทรงบูชายัญด้วยคหบดี ๔ คน [๑๐๖๖] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะทรงบูชายัญด้วยช้าง ๔ เชือก [๑๐๖๗] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะทรงบูชายัญด้วยม้า ๔ ตัว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๖๘] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะบูชายัญด้วยโคอุสภราช ๔ ตัว [๑๐๖๙] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จะบูชายัญด้วยสัตว์ทุกจำพวกอย่างละ ๔ [๑๐๗๐] นี่ปราสาทของท่านล้วนด้วยทองคำ ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๑] นี่เรือนยอดของท่านล้วนด้วยทองคำ ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๒] นี่พระอุทยานของท่าน มีดอกไม้บานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๓] นี่ป่าอโศกของท่าน มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๔] นี่ป่ากรรณิการ์ของท่าน มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๕] นี่ป่าแคฝอยของท่าน มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๗๖] นี่สวนมะม่วงของท่าน มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๗] นี่สระโบกขรณีของท่านที่ดารดาษไปด้วย ดอกบัวหลวง ดอกบัวขาว และเรือที่ขจิตด้วยทองคำ งดงามด้วยลวดลายเครือวัลย์ สุดแสนที่น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๘] นี่ช้างแก้วของท่าน เป็นช้างงามีกำลังชื่อเอราวัณ บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๗๙] นี่ม้าแก้วของท่าน เป็นม้าเร็วมีกีบไม่แตก บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๘๐] นี่รถม้าของท่าน เวลาแล่นไปมีเสียงดังก้องไพเราะ เหมือนเสียงนกสาลิกา สวยงามตระการตาด้วยแก้ว ซึ่งเป็นที่ที่พระลูกเจ้าประทับเสด็จไป งดงามเหมือนพวกเทวดาในพระอุทยานนันทวัน บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์ [๑๐๘๑] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จักทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรสทั้ง ๔ พระองค์ ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์ [๑๐๘๒] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จักทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๐๘๓] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จักทรงบูชายัญด้วยพระมเหสีทั้ง ๔ พระองค์ ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์ [๑๐๘๔] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย จักทรงบูชายัญด้วยคหบดีทั้ง ๔ คน ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีร่างกายชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์ [๑๐๘๕] คามนิคมทั้งหลายจะว่างเปล่า ไม่มีคนอยู่ กลายเป็นป่าใหญ่ไปฉันใด บุปผวดีนครก็จักเป็นฉันนั้น ในเมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารถูกบูชายัญ (พระเทวีกราบทูลว่า) [๑๐๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี ถ้าเขาฆ่าจันทกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย [๑๐๘๗] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี ถ้าเขาฆ่าสุริยกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย (พระราชาตรัสว่า) [๑๐๘๘] เพราะเหตุไร สะใภ้ของเราเหล่านี้ คือ นางฆัฏฏิกา นางอุปริกขี นางโบกขรณี และนางภาริกา ต่างก็กล่าวปิยวาจากะกันและกัน ฟ้อนรำอยู่ในสำนักของพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร จึงไม่ทำให้ลูกๆ ของเรารื่นรมย์ได้ หญิงอื่นที่จะเสมอเหมือนกับสะใภ้ ๔ คนนั้นไม่มี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(พระเทวีคร่ำครวญกับลูกสะใภ้ สาปแช่งขัณฑหาลปุโรหิตว่า) [๑๐๘๙] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า แม่ของเจ้าจงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้ [๑๐๙๐] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า แม่ของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้ [๑๐๙๑] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้ [๑๐๙๒] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้ [๑๐๙๓] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูกๆ และสามีเลย [๑๐๙๔] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูกๆ และสามีเลย [๑๐๙๕] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูกๆ และสามีเลย [๑๐๙๖] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูกๆ และสามีเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(จันทกุมารกราบทูลว่า) [๑๐๙๗] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้ [๑๐๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้ [๑๐๙๙] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้ [๑๑๐๐] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๑๐๑] ข้าแต่สมมติเทพ หญิงทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร แม้จะเป็นคนยากจนก็วิงวอนขอบุตรต่อเทพเจ้า หญิงบางพวกละปฏิภาณ๑- แล้วไม่ได้บุตรก็มี [๑๑๐๒] หญิงเหล่านั้นย่อมทำความหวังว่า “ขอบุตรจงเกิดแก่เรา” แต่นั้น ขอหลานๆ จงเกิดอีก ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์ เพื่อต้องการจะทรงบูชายัญโดยเหตุอันไม่สมควร [๑๑๐๓] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย ขออย่าทรงบูชายัญนี้ด้วยบุตรทั้งหลายที่ได้มาโดยยาก [๑๑๐๔] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย ขออย่าได้พรากพวกข้าพระองค์ ผู้เป็นบุตรที่ได้มาโดยยากจากมารดาเลย [๑๑๐๕] ข้าแต่พระมารดา พระมารดาย่อมย่อยยับ เพราะทรงเลี้ยงลูกจันทกุมารด้วยความลำบากมาก ลูกขอกราบพระยุคลบาทของพระมารดา ขอพระราชบิดาจงทรงได้ปรโลกเถิด [๑๑๐๖] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช @เชิงอรรถ : @ ละปฏิภาณ หมายถึงละการแพ้ท้อง คือ ไม่ได้การแพ้ท้อง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๑๐๑/๑๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๑๐๗] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา [๑๑๐๘] เชิญพระมารดาจงสวมกอดลูก แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด ลูกจะจากไป ณ บัดนี้ ทำความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ประชาชน (พระมารดาตรัสกับจันทกุมารว่า) [๑๑๐๙] เชิญเถิด ลูกโคตมี เจ้าจงรัดเมาลีด้วยใบบัว จงประดับดอกไม้อันแซมด้วยกลีบจำปา นี่เป็นปกติของเจ้าที่มีมาเก่าก่อน [๑๑๑๐] เชิญเถิด เจ้าจงไล้ทาเครื่องลูบไล้ คือจันทน์แดงอันเป็นครั้งสุดท้ายของเจ้า เจ้าไล้ทาด้วยจุรณแก่นจันทน์แดงนั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท [๑๑๑๑] เชิญเถิด เจ้าจงนุ่งผ้าของชาวแคว้นกาสีเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียด อ่อนนุ่ม เจ้านุ่งผ้ากาสิกพัสตร์นั้นดีแล้วย่อมงามในราชบริษัท [๑๑๑๒] เชิญเจ้าประดับหัตถาภรณ์ อันเป็นเครื่องประดับทองคำฝังแก้วมุกดาและแก้วมณี เจ้าประดับหัตถาภรณ์นั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท (พระเทวีกราบทูลพระราชาว่า) [๑๑๑๓] พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองรัฐเป็นทายาทของชนบท ผู้เป็นใหญ่เป็นอิสระในโลกนี้ จะไม่ทรงทำความสิเนหาให้เกิดในพระโอรสแน่ละหรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

(พระราชาตรัสว่า) [๑๑๑๔] แม้ลูกก็เป็นที่รักของเรา ตนเองก็เป็นที่รัก เธอและภรรยาทั้งหลายก็เป็นที่รักของเรา แต่เราปรารถนาสวรรค์ เพราะฉะนั้น เราจึงจักฆ่าให้ได้ (พระเทวีกราบทูลว่า) [๑๑๑๕] ข้าแต่สมมติเทพ อันดับแรก ขอพระองค์จงรับสั่งให้ฆ่าหม่อมฉันเถิด ขอทุกข์อย่าได้ทำลายหทัยของหม่อมฉันเลย พระโอรสของพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ ประดับแล้วงดงาม [๑๑๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้า เชิญเถิด ขอพระองค์ได้โปรดฆ่าหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจักอยู่กับจันทกุมารในปรโลก ขอพระองค์ทรงทำบุญให้ไพบูลย์เถิด หม่อมฉันทั้ง ๒ จะท่องเที่ยวไปในปรโลก (พระราชาตรัสว่า) [๑๑๑๗] จันทาผู้มีนัยน์ตาโต เจ้าอย่าชอบใจความตายเลย โคตมีบุตรถูกเราบูชายัญแล้ว ผัว พี่ผัว น้องผัวของเจ้า เป็นอันมากเหล่านั้นจักทำให้รื่นรมย์ใจได้ [๑๑๑๘] เมื่อพระราชาได้ตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางจันทาเทวีทรงตีพระองค์เองด้วยฝ่าพระหัตถ์ พอทีด้วยชีวิตในโลกนี้ เราจักดื่มยาพิษตาย [๑๑๑๙] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้ ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรทั้งหลาย ผู้เกิดแต่พระอุระเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๑๒๐] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้ ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย [๑๑๒๑] บุตรของหม่อมฉันเหล่านี้ประดับพวงดอกไม้ สวมกำไลทองต้นแขน ขอพระราชาทรงบูชายัญ ด้วยบุตรของหม่อมฉันเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอพระองค์ทรงปล่อยบุตรโคตมีเถิด พระเจ้าข้า [๑๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่ ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์เลย [๑๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่ ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวลเลย (จันทกุมารตรัสกับพระนางจันทาเทวีว่า) [๑๑๒๔] เครื่องประดับเป็นอันมากล้วนแต่ของดีๆ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ ที่เราให้แก่เจ้า ในเมื่อเจ้ากล่าวคำดี นี้เป็นของที่เราให้แก่เจ้าเป็นครั้งสุดท้าย (พระนางจันทากราบทูลว่า) [๑๑๒๕] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่บานเคยสวมที่พระศอ ของพระกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว จักตัดที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๑๒๖] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่วิจิตร เคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว จักตัดที่พระศอของพระกุมารแม้เหล่านั้น [๑๑๒๗] ไม่นานหนอ ดาบจักตัดที่พระศอ ของพระราชบุตรทั้งหลาย ส่วนหทัยของเราจะยังไม่แตก ตราบเท่าที่มีเครื่องผูกมารัดเราไว้แน่น [๑๑๒๘] จันทกุมารและสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช [๑๑๒๙] จันทกุมารและสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยแก่พระมารดา [๑๑๓๐] จันทกุมารและสุริยกุมาร ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน [๑๑๓๑] จันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๑๓๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา [๑๑๓๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์ ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน [๑๑๓๔] เมื่อเขาตกแต่งเครื่องบูชายัญครบทุกสิ่งแล้ว เมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารประทับนั่ง เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละประนมพระหัตถ์ เสด็จดำเนินเวียนไปในระหว่างบริษัททั้งปวง ได้ทำสัจกิริยาว่า [๑๑๓๕] ขัณฑหาละผู้มีปัญญาทราม ได้ทำกรรมชั่วด้วยสัจจะอันใด ด้วยสัจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี [๑๑๓๖] อมนุษย์ก็ดี ยักษ์ก็ดี สัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิดก็ดี มีอยู่ในที่นี้ ขอจงทำความขวนขวายช่วยเหลือข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี [๑๑๓๗] เหล่าเทวดาที่มาแล้ว ณ ที่นี้ สรรพสัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิด ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้ไร้ที่พึ่งซึ่งแสวงหาที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลาย ขออย่าให้พวกข้าศึกชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๑๓๘] ท้าวสักกเทวราชทรงสดับเสียงคร่ำครวญ ของพระนางจันทานั้นแล้วทรงกวัดแกว่งค้อนเหล็ก ยังความกลัวให้เกิดแก่พระเจ้าเอกราชนั้นแล้ว ได้ตรัสกับพระราชาดังนี้ว่า [๑๑๓๙] พระราชากาลี ขอท่านจงรู้ไว้ อย่าให้เราต้องทุบเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้เลย ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่ ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์ [๑๑๔๐] พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน คนที่ปรารถนาสวรรค์ต้องฆ่าบุตร ภรรยา เศรษฐี และคหบดีผู้ไม่คิดประทุษร้าย [๑๑๔๑] ขัณฑหาลปุโรหิตและพระราชาได้ฟังพระดำรัส ของท้าวสักกะนั้นแล้ว ได้เห็นรูปอันน่าอัศจรรย์ จึงได้แก้เครื่องจองจำสัตว์ทั้งปวงออก เหมือนแก้เครื่องจองจำสัตว์ผู้ไม่ต้องถูกฆ่าออกฉะนั้น [๑๑๔๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ทุกคนใช้ก้อนดินคนละก้อนทุ่มลง นั่นคือการฆ่าขัณฑหาลปุโรหิต [๑๑๔๓] คนที่ทำกรรมชั่วต้องตกนรกทั้งหมดฉันใด คนที่ทำกรรมชั่วแล้วจากโลกนี้ไป ก็ไม่พึงได้การไปสู่สุคติเลยฉันนั้น [๑๑๔๔] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๗. จันทกุมารชาดก (๕๔๔)

[๑๑๔๕] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร [๑๑๔๖] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกพระจันทกุมาร [๑๑๔๗] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร [๑๑๔๘] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง [๑๑๔๙] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง [๑๑๕๐] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง [๑๑๕๑] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง [๑๑๕๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว ประชาชนเป็นอันมาก ต่างก็รื่นรมย์ยินดี พวกเขาได้ประกาศความยินดีในเวลาที่จันทกุมาร เสด็จเข้าสู่พระนครและได้ประกาศโฆษณาความหลุดพ้น จากเครื่องจองจำของสัตว์ทั้งปวงแล้ว
จันทกุมารชาดกที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๓๓๕-๓๖๒. http://84000.org/tipitaka/atita/m_siri.php?B=28&siri=19              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/atita/v.php?B=28&A=4761&Z=5179                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=775              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=775&items=59              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=1951              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=775&items=59              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=1951                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja544/en/cowell-rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :