ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
โกธนาสูตร
[๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ เป็นความมุ่งหมายของ คนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือ ชายผู้มีความโกรธ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้เป็นข้า ศึกกันในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้มีผิว พรรณทรามเถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดี ให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีผิวพรรณงาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธ ครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ ตาม แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการ ของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนที่เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้พึงนอนเป็นทุกข์เถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคน ผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันอยู่สบาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้า ขนสัตว์ ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้า ดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม แต่ถูกความโกรธ ครอบงำแล้ว ย่อมนอนเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ เป็นความ มุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมา ถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนเป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีความเจริญเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ คนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีความเจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่า เราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ ถือเอาแล้ว เป็นข้าศึกแก่กันและกัน ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ เป็นความมุ่ง หมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึง หญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีโภคะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็น ข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีโภคะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมได้ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาทั้งหลายย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของ คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามียศเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึก กันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมียศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความ โกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาท ก็เสื่อมจากยศนั้น ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้อย่ามีมิตรเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึก กันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีมิตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความ โกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้เขาจะมีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ญาติสา- *โลหิตเหล่านั้น ก็เว้นเขาเสียห่างไกล ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๖ เป็น ความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้ เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้อ นั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันไปสุคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๗ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึก กัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความ โกรธ ฯ คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็น ประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ ทำ ปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้ มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตร และสหาย ย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่ รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมี ในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือน ถูกไฟไหม้ คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือน ไฟแสดงควันก่อน ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อม โกรธ ในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่ มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความ สว่างแม้แต่น้อยเลย กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้ เกิดความเดือดร้อน เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลาย จงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดา ของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่ มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้ จริง อยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็น ที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเอง ได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษ บ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้น เมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธ ตามที่กล่าวมานี้ เป็นบ่วงของ มัจจุราช มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตน คือมีปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฐิ พึงตัดความโกรธนั้น ขาดได้ บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึง ศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจาก ความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน ฯ
จบสูตรที่ ๑๑
จบอัพยากตวรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัพยากตสูตร ๒. ปุริสคติสูตร ๓. ติสสสูตร ๔. สีหสูตร ๕. รักขิตสูตร ๖. กิมมิลสูตร ๗. สัตตธรรมสูตร ๘. โมคคัลลาน- *สูตร ๙. ปุญญวิปากสูตร ๑๐. ภริยาสูตร ๑๑. โกธนาสูตร
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๒๐๓๖-๒๑๓๘ หน้าที่ ๘๘-๙๓. https://84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=23&A=2036&Z=2138&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/_mcu/m_siri.php?B=23&siri=61              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=61              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [61] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=23&item=61&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4386              The Pali Tipitaka in Roman :- [61] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=23&item=61&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4386              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i051-e.php#sutta11 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an07/an07.060.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an07/an07.060.nymo.html https://suttacentral.net/an7.64/en/sujato https://suttacentral.net/an7.64/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :