ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

๒. สีหนาทวรรค
หมวดว่าด้วยการบันลือสีหนาท
๑. จูฬสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรเล็ก
สมณะ ๔ จำพวก
[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ๑- ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง เธอทั้งหลายจงบันลือ สีหนาท๒- โดยชอบอย่างนี้แล [๑๔๐] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก(เจ้าลัทธิอื่น)ในโลกนี้ จะพึง กล่าวอย่างนี้ว่า ‘อะไรเล่าเป็นความมั่นใจของพวกท่าน อะไรเป็นพลังใจของพวกท่าน @เชิงอรรถ : @ สมณะที่ ๑ หมายถึงพระโสดาบันผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ @สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า สมณะที่ ๒ หมายถึงพระสกทาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ @มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง กลับมาสู่โลกมนุษย์คราวเดียวแล้วจะตรัสรู้ได้ สมณะที่ ๓ หมายถึงพระ- @อนาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ เกิดในภูมิชั้นสุทธาวาสแล้ว จะนิพพานในภูมินั้น สมณะ @ที่ ๔ หมายถึงพระอรหันต์ ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วย @ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๓-๓๒๔) @ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการประกาศอย่างอาจหาญของภิกษุผู้กล่าวว่า “สมณะเหล่านี้มีในธรรมวินัย @นี้เท่านั้น” ชื่อว่าการบันลือที่ประเสริฐคือการบันลือสีหนาทที่ไม่มีความเกรงกลัว ไม่ติดขัด เพราะเจ้าลัทธิ @อื่นไม่สามารถคัดค้านได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๓๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

พวกท่านพิจารณาเห็นอย่างไรในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัย นี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้ ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มีธรรม ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเรา ทั้งหลายพิจารณาเห็น(ว่ามี)ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ใน ธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ใน ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก สมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ความเลื่อมใสในศาสดา ๒. ความเลื่อมใสในธรรม ๓. ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ๔. ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นที่รักเป็นที่พอใจ ของเราทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น ทรงเป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเราทั้งหลายพิจารณาเห็น (ว่ามี)ในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’ [๑๔๑] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดเป็น ศาสดาของพวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในศาสดานั้น อะไรเป็นธรรมของ พวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในธรรมนั้น ข้อใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวก เราก็เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลนั้น แม้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรม ร่วมกัน ก็เป็นที่รักเป็นที่พอใจของพวกเรา ในข้อนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีความ มุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างพวกท่านกับพวกเรา’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๓๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้ ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย จุดมุ่งหมาย๑- มีอย่างเดียว หรือมีหลายอย่าง’ พวกอัญเดียรถีย์ ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีหลายอย่าง’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีราคะ (ความกำหนัด) หรือผู้ปราศจากราคะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากราคะ มิใช่สำหรับผู้มีราคะ’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโทสะ (ความคิดประทุษร้าย) หรือผู้ปราศจากโทสะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจาก โทสะ มิใช่สำหรับผู้มีโทสะ’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโมหะ (ความหลง) หรือผู้ปราศจากโมหะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูก ต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากโมหะ มิใช่สำหรับผู้มีโมหะ’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีตัณหา (ความทะยานอยาก) หรือผู้ปราศจากตัณหา’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ ปราศจากตัณหา มิใช่สำหรับผู้มีตัณหา’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มี อุปาทาน(ความยึดมั่น) หรือผู้ปราศจากอุปาทาน’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อ จะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ ปราศจากอุปาทาน มิใช่สำหรับผู้มีอุปาทาน’ @เชิงอรรถ : @ จุดมุ่งหมาย ในที่นี้หมายถึงจุดหมายของความเลื่อมใส ซึ่งแต่ละลัทธิต่างก็มีจุดหมายที่แตกต่างกันไป @และมีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น เช่น พวกพราหมณ์ก็มีพรหมโลกเป็นจุดมุ่งหมาย พวกดาบสก็มี @อาภัสสรพรหมเป็นจุดมุ่งหมาย แต่ในพุทธศาสนานี้มีจุดมุ่งหมายเดียว คืออรหัตตผล (ม.มู.อ. ๑/๑๔๐/๓๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๓๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง หรือผู้ไม่รู้แจ้ง’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง มิใช่สำหรับผู้ไม่รู้แจ้ง’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ ยินดียินร้าย หรือผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย มิใช่สำหรับผู้ยินดียินร้าย’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจ ในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า หรือผู้พอใจ ในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า’ พวก อัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้น เป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอัน ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า มิใช่สำหรับผู้พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรม อันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า’
ทิฏฐิ ๒
[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ ประการนี้ คือ (๑) ภวทิฏฐิ๑- (๒) วิภวทิฏฐิ๒- สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดภวทิฏฐิ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินร้ายต่อวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า เป็นผู้ยินร้ายต่อภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง @เชิงอรรถ : @ ภวทิฏฐิ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐) @ วิภวทิฏฐิ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๓๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ มีตัณหา มีอุปาทาน เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง เป็นผู้ยินดียินร้าย พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขาไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ไม่พ้น จากทุกข์’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจาก ตัณหา ไม่มีอุปาทาน เป็นผู้รู้แจ้ง เป็นผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เป็นผู้พอใจในธรรมอัน ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขา พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พ้นจากทุกข์’
อุปาทาน ๔
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้ อุปาทาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ) ๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร) ๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง๑- แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้ @เชิงอรรถ : @ ปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง หมายถึงปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหมดกล่าวความรอบรู้ คือความ @ข้ามพ้นอุปาทานทั้งสิ้น’ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๓/๓๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๓๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

ฐานะ ๓ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติ ความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวก เขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้ กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์ เหล่านั้นไม่รู้ฐานะ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญา ลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่าง โดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่ บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้ ฐานะ ๑ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใดในธรรม ความ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใดในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้น ทั้งหมดเราไม่กล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ผิดแล้ว ประกาศไว้ไม่ ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมา- สัมพุทธเจ้ามิได้ประกาศไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๓๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญญาวาทะ ว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง จึงบัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน๑- ความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ความรอบรู้สีลัพพตุ- ปาทาน และความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใด ในธรรม ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใด ในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้นทั้งหมดเรากล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ถูกต้องแล้ว ประกาศไว้ถูกต้องแล้ว เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว
หลักปฏิจจสมุปบาทเริ่มต้นด้วยอุปาทาน
[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไร เป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด อุปาทาน ๔ ประการนี้ มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด ตัณหาเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร เป็นแดนเกิด ตัณหา มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนา เป็นแดนเกิด เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เวทนา มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะ เป็นแดนเกิด @เชิงอรรถ : @ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน หมายถึงทรงบัญญัติความรอบรู้การละ การล่วงพ้นกามุปาทานด้วย @อรหัตตมรรค บัญญัติความรอบรู้อุปาทาน ๓ นอกนี้ด้วยโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๑๔๔/๓๓๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๓๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑. จูฬสีหนาทสูตร

ผัสสะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร เป็นแดนเกิด ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็น กำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด สฬายตนะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สฬายตนะ มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด นามรูปนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด นามรูป มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด วิญญาณนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด วิญญาณ มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด สังขารนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สังขาร มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น เธอไม่ ยึดมั่นกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน เพราะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาจึงเกิดขึ้น เมื่อไม่ยึดมั่น เธอก็ไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง เธอก็ ปรินิพพานเฉพาะตนนั่นแล เธอรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑- ทำ กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒- ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๓-” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬสีหนาทสูตรที่ ๑ จบ
๒. มหาสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรใหญ่
สุนักขัตตะกล่าวตู่พระพุทธเจ้า
[๑๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกภายนอก พระนคร เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะลาสิกขา จากพระธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน เธอได้กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า “สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๔- วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ มนุษย์๕- สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึกที่ไตร่ตรองด้วยการ ค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น” ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ท่านได้สดับคำของโอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะผู้ @เชิงอรรถ : @๑-๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้ @ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญา(ปัญญาชั้นโลกุตตระที่ถึงความเป็นใหญ่) @อันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุด สามารถกำจัดกิเลสได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๖/๓๔๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐) @ ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๖/๓๔๒, องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๕/๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๓๓-๑๔๑. http://84000.org/tipitaka/_mcu/m_siri.php?B=12&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=12&A=2151&Z=2295                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=153              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=153&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=8170              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=153&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=8170                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i153-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i153-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.011.ntbb.html https://suttacentral.net/mn11/en/sujato https://suttacentral.net/mn11/en/bodhi https://suttacentral.net/mn11/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :