พิมพ์หน้านี้ | ส่งหน้านี้ให้เพื่อน |
 


84000.org
 
       
 

84000.org::...

ภิกษุณี

ความหมาย
ภิกษุณี คือ หญิงที่ได้อุปสมบทแล้ว, พระผู้หญิงในพระพุทธศาสนา
ความเป็นมา
ภิกษุณี เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๕ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ โดยมีพระมหาปชาบดีโคตรมี
พระมาตุจฉา ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระภิกษุณีรูปแรก ดังเรื่องปรากฏ
ในภิกษุณีขันธกะและอรรถกถา สรุปได้ความว่า
หลังจากพระเจ้าสุทโธทนะ ปรินิพพานแล้ว วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่
นิโครธาราม ในเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตรมี เสด็จเข้าไปเฝ้า และทูลขออนุญาต
ให้สตรีสละเรือนออกบวชในพระธรรมวินัย แต่การณ์นั้นมิใช่ง่าย พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียถึง
๓ ครั้ง
ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับที่กูฎาคารศาลาในป่ามหาวัน
พระนางมหาปชาบดีโคตรมี ไม่ละความพยายาม ถึงกับปลงผม นุ่งห่มผ้ากาสาวะเอง ออกเดิน
ทางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะจำนวนมาก (อรรถกถาว่า ๕๐๐ นาง) ไปยังเมืองเวสาลีและได้มายืน
กันแสงอยู่ที่ซุ่มประตูนอกกูฏาคารศาลาพระบาทบวม พระวรกายเปรอะเปื้อนธุลี
พระอานนท์มาพบเข้า สอบถามทราบความแล้ว รับช่วยไปกราบทูลขออนุญาตให้ แต่เมื่อ
พระอานนท์กราบทูลต่อพระพุทธเจ้าก็ถูกพระองค์ตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง
ในที่สุด พระอานนท์เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยกราบทูลถามว่า “สตรีออกบวชในพระธรรม
วินัยแล้วจะสามารถบรรลุโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตผลได้หรือไม่” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าได้
พระอานนท์จึงอ้างเหตุผลนั้น พร้อมทั้งการที่พระนางมหาปชาบดีโคตรมีเป็นมาตุจฉาและเป็น
พระมารดาเลี้ยง มีอุปการะมากต่อพระองค์ แล้วขอให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกบวช
พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่า พระนางจะต้องรับปฏิบัติตาม “ครุธรรม ๘
ประการ” พระนางยอมรับตามพุทธานุญาตที่ให้ถือว่าการรับคุณธรรมนั้นเป็นการอุปสมบทของ
พระนาง ส่วนเจ้าหญิงศากยะ ที่ตามมาทั้งหมดพระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์อุปสมบท
ให้
ในคราวนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า การให้สตรีบวชและเป็นเหตุให้
พรหมจรรย์ คือ พระศาสนาหรือสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้ยั่งยืนจะมีอายุสั้นเข้าเปรียบเหมือนตระกูลที่
มีบุรุษน้อยมีสตรีมากถูกผู้ร้ายทำลายได้ง่าย หรือเหมือนนาข้าวที่มีหนอนขยอกลง หรือเหมือนไร่
อ้อยที่มีเพลี้ยลง ย่อมอยู่ได้ไม่ยืนนานพระองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ กำกับไว้ก็เพื่อเป็น
หลักคุ้มกันพระศาสนาเหมือนสร้างคันกั้นสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลล้นออกไป
(พระศาสนาจักอยู่ได้ยั่งยืนเช่นเดิม) และได้ทรงแสดงเหตุผลที่ไม่ให้ภิกษุไว้ภิกษุณีให้ภิกษุณีไว้
ภิกษุได้ฝ่ายเดียว เพราะนักบวชในลัทธิศาสนาอื่นทั้งหลาย ไม่มีใครไหว้สตรีกันเลย กล่าวโดย
สรุปว่า หากถือเหตุผลทางด้านสภาพสังคมศาสนาแล้ว จะไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ด้วย
เหตุผลในด้านความสามารถโดยธรรมชาติ จึงทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้
เมื่อภิกษุณีสงฆ์ เกิดขึ้นแล้ว สตรีที่จะบวชต่อมาต้องเป็น สิกขมานา รักษาศีล ๖ ( คือ ๖
ข้อแรกในศีล ๑๐) ไม่ให้ขาดเลยตลอด ๒ ปีก่อน จึงขออุปสมบทได้ และต้องรับการอุปสมบท
โดยสงฆ์สองฝ่าย คือ บวชโดยภิกษุณีสงฆ์แล้ว ต้องบวชโดยภิกษุสงฆ์ เจริญแพร่หลายในชมพู
ทวีปอยู่ช้านาน เป็นแห่งให้การศึกษาแหล่งใหญ่แก่สตรีทั้งหลาย
ภิกษุณีสงฆ์ประดิษฐานในลังกาทวีป ในรัชการของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ โดยพระ
สังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางจากชมพูทวีปมาประกอบ
อุปสมบทกรรมแก่นางอนุฬาเทวี ชายาของพระเจ้ามหานาค อนุชาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ
พร้อมด้วยสตรีอื่นอีก ๑,๐๐๐ คน
ภิกษุณีสงฆ์เจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปยาวนานไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ปี แต่ในที่สุดได้สูญ
สิ้นไปด้วยเหตุใด สากลใดไม่ปรากฏชัด ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เคยมีการ
ประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์

84000.org...::

สารบัญหลักหมวดภิกษุณี
| 01 | 02 | 03 | 04 | 05 | 06 | 07 | 08 | 09 | 10 | 11 | 12 | 13 |

 
     

 

| หน้าแรก | ส่งเมลให้webmaster | เว็บบอร์ด |