พิมพ์หน้านี้ | ส่งหน้านี้ให้เพื่อน |
 


84000.org
 
       
 

84000.org::...

25-พระอุปเสนเถระ
เอตทัคคะในทางผู้นำซึ่งความเลื่อมใส

พระอุปเสนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อวังคันตะ มารดาชื่อนางสารี ในหมู่บ้านตำบล
นาลันทา ซึ่งบิดาของท่านเป็นนายบ้านหรือหัวหน้าหมู่บ้านนั้น อันตั้งอยู่ในแคว้นมคธ ท่านเป็น
น้องชายอีกคนหนึ่งของพระสารีบุตรเถระ ในบรรดาพี่น้อย ๗ คน คือ ๑. พระสารีบุตร ๒. พระ
จุนทะ ๓. พระอุปเสนะ ๔. พระเรวัตะ ๕. นางจาลา ๖. นางอุปจาลา ๗. นางสีสุปจาลา (บาง
แห่งกล่าวว่าท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ของตระกูล) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้รับการศึกษา จบวิชาไตรเพท
หรือพระเวททั้ง ๓ ตามลัทธินิยมของพราหมณ์ และถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนา
พราหมณ์ คัมภีร์พระเวททั้ง ๓ นั้น ได้แก่:-
๑) ฤคเวท (อิรุพเพท) เป็นบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งปวง
๒) ยชุรเวท (ยชุพเพท) ประกอบด้วยมนต์ อันเป็นบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
๓) สามเวท ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดหรือร้อง เป็นทำนองในพิธีบูชายัญ

ต่อมาภายหลังได้เพิ่มอถรรพเวท (อถัพเพท) หรือ อาถรรพเวท อันว่าด้วยคาถาอาคม
ต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์ เป็นมนต์สำหรับใช้ในการปลุกเสกวัตถุมงคลต่าง ๆ เมื่อเพิ่มคัมภีร์นี้เข้ามา
ก็นับเป็นคัมภีร์ที่ ๔ ตามหลักลัทธิของศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่า ผู้ใดจบพระเวทเหล่านี้แล้วก็จะ
เรียกผู้นั้นว่า (ถึงที่สุดแห่งเวท และวิชาพระเวทนี้ก็ถือกันอีกว่า “เป็นวิชาที่ทำบุคคลให้เป็น
พราหมณ์”
อุปเสนะ เมื่อพระสารีบุตรเถระผู้เป็นพี่ชายออกบวชแล้ว ตนเองก็มีจิตน้อมไปในการ
บวชอยู่ด้วย วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสยิ่ง
ขึ้น จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ประทานให้ตามประสงค์ ท่านดำรงเพศ
ภิกษุปฏิบัติศาสนกิจตามหน้าที่

  • แค่ ๑ พรรษา ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์
    เมื่อท่านบวชได้เพียง ๑ พรรษา และยังเป็นปุถุชนมิได้บรรลุมรรคผลใด ๆ ท่านเกิดมี
    ความคิดขึ้นว่า “เราจะช่วยกระทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากไปด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์” ดัง
    นี้แล้ว ก็ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ บวชกุลบุตรผู้หนึ่งไว้ในสำนักของตน และจำพรรษาอยู่ด้วยกัน
    เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้พาสัทธิวิหาริกศิษย์ของท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วย
    หวังว่าจะได้รับคำยกย่องชมเชยจากพระองค์ แต่ครั้นพระพุทธองค์ตรัสถามก็ได้ทรงทราบว่า
    ท่านตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตร ทั้ง ๆ ที่ตนเพิ่งบวชได้เพียงพรรษาเดียว อีกทั้งยังเป็น
    ปุถุชน จึงทรงประณามตำหนิท่านอย่างรุนแรงด้วยพระดำรัสว่า
    “ดูก่อนโมฆบุรุษ ทำไมเธอจึงเป็นคนมักมากอย่างนี้ ตัวเธอเองก็ยังต้องอาศัยผู้อื่นสั่ง
    สอนอยู่ แต่นี่ทำไมเธอจึงทำตัวสั่งสอนผู้อื่นเสียเอง” และพระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนเธออีกเป็น
    อันมาก
    ท่านอุปเสนะ รู้สึกสลดใจที่ถูกพระบรมศาสดาตำหนิอย่างนั้น จึงคิดว่า “เราถูกพระ
    พุทธองค์ทรงตำหนิ เพราะเรื่องสัทธิวิหาริก ดังนั้น เราจะอาศัยสัทธิวิหาริกนี่แหละยังพระบรม
    ศาสดาให้ตรัสสรรเสริญเราให้ได้”
    จากนั้นท่านได้กราบทูลลาพระผู้มีพระภาคพาสัทธิวิหาริกกลับสู่ที่พัก ตั้งใจบำเพ็ญเพียร
    เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หมดกิเลสาสวะ เป็น
    พระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้สมาทานธุดงค์วัตร
    ประพฤติปฏิบัติในธุดงค์คุณครบทั้ง ๑๓ ข้อดังนี้:-
    “ธุดงควัตร” หมายถึง ข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส ๑๓ ข้อ ได้แก่:-
    ๑. ปังสุกุลิกธุดงค์ ถือการใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
    ๒. เตจีวริกธุดงค์ ถือการใช้ผ้าไตรจีรเป็นวัตร
    ๓. ปิณฑปาติกธุดงค์ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
    ๔. สปทานจาริกธุดงค์ ถือการเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตร
    ๕. เอกสานิกธุดงค์ ถือการนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
    ๖. ปัตตปิณฑปาติกธุดงค์ ถือการฉันเพราะในบาตรเป็นวัตร
    ๗. ขลุปัจฉาภัตติกธุดงค์ ถือห้ามภัตที่นำมาถวายในภายหลังเป็นวัตร
    ๘. อรัญญิกธุดงค์ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
    ๙. รุกขมูลิกธุดงค์ ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
    ๑๐. อัพโภกาสิกธุดงค์ ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร
    ๑๑. โสสานิกธุดงค์ ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร
    ๑๒. ยถาสันถติกธุดงค์ ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไรเป็นวัตร
    ๑๓. เนสัชชิกธุดงค์ ถือการนั่งเป็นวัตร (ไม่นอน)

    ธุดงควัตร เหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ก็ด้วยมีพุทธประสงค์ เพื่อเป็นเครื่องขัด
    เกลากิเลสเครื่องเศร้าหมองที่หมักดองอยู่ในจิตเป็นเหตุให้คิดหมกมุ่นแต่ในเรื่องกามคุณ เป็นคน
    ใจแคบมักมากเป็นแก่ตัว เมื่อปฏิบัติในธุดงควัตรแล้วกิเลสก็จะเบาบางลงเป็นคนมักน้อยสันโดษ
    ไม่มักมากด้วยลาภสักการะ ไม่เห็นแก่ความสุขอันเกิดจากกามคุณทั้งหลาย และธุดงควัตรเหล่านี้
    ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติทุกข้อ ผู้ใดมีความสามารถความพอใจที่จะปฏิบัติในข้อใด ก็สมาทาน
    เฉพาะข้อนั้น หรือมากกว่าหนึ่งข้อก็สุดแต่ความสมัครใจ เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ปฏิบัติ

  • เป็นต้นบัญญัติเรื่องตั้งพระอุปัชฌาย์
    พระพุทธองค์ ทรงอาศัยกรณีของพระอุปเสนะที่ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ ขณะที่บวชได้เพียง
    พรรษาเดียวเป็นเหตุ ทรงบัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะเป็นอุปัชฌาย์ได้จะต้องมีพรรษา
    ตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไปว่า:-
    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษา ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐ ขึ้นไป ให้
    อุปสมบทแก่กุลบุตรได้ ภิกษุมีพรรษาหย่อนกว่า ๑๐ พรรษาไม่ควรให้อุปสมบทแก่กุลบุตร ภิกษุ
    ใดฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฎ”

  • ความปรารถนาบรรลุผล
    ต่อมาเมื่อท่านมีพรรษาครบ ๑๐ พรรษา ตามพระบรมพุทธอนุญาตแล้วได้เป็นอุปัชฌาย์
    บวชให้กุลบุตรมากึง ๕๐๐ รูป ทั้งนี้ก็เพราะท่านเป็นบุตรของตระกูลใหญ่เป็นที่เครารพนับถือ
    ของคนทั่วไปอยู่แล้ว และเพราะท่านมีความสามารถแสดงธรรมเป็นที่นำมาซึ่งการปฏิบัติ
    ธุดงควัตร ๑๓ ข้อนั้น สุดแต่รูปใดจะมีศรัทธามีความสามารถ และมีความถนัดในข้อใด สมาทาน
    ได้มากน้อยเพียงใด ก็สุดแต่จะศรัทธา
    สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตะวันมหาวิหาร ท่านพระอุปเสนะได้พา
    สัทธิวิหาริกของท่าน ๕๐๐ รูป เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วพระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถาร และ
    ตรัสถามสัทธิวิหาริกของท่านว่า:-
    “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุใดพวกเธอจึงสมาทานธุดงค์กันทั่วทุกรูป ?”
    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลายสมาทานธุดงควัตร ก็ด้วยความเคารพและ
    ศรัทธาในพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าข้า”
    พระพุทธองค์ ประทานอนุโมทนาว่า “สาธุ สาธุ อุปเสน แปลว่า ดูก่อนอุปเสนะ ดีละ
    ดีละ”
    ความหวังความตั้งใจของพระอุปเสนะ บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่ตั้งใจไว้แต่ต้น ท่านได้
    รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง
    ผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสของหมู่ชนทุกชั้น
    ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้ว
    ก็ดับขันธปรินิพพาน

84000.org...::

สารบัญหลักหมวดภิกษุ
| 01 | 02 | 03 | 04 | 05 | 06 | 07 | 08 | 09 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
| 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 |
 
     

 

| หน้าแรก | ส่งเมลให้webmaster | เว็บบอร์ด |